หลักธรรมนำสุขในยุค 2000
โดย : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

เรื่องที่ ๑๒ : ถึงกายป่วย ใจต้องไม่ป่วย


"...จะทำอย่างไร เมื่อร่างกายเจ็บป่วย แล้วจิตใจจะไม่แปรปรวนไปตาม พระพุทธองค์เคยตรัสสอนว่า ให้ทำในใจ ตั้งใจไว้ว่า "ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย"

การตั้งใจอย่างนี้ เรียกว่า มีสติ ทำให้จิตใจไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความแปรปรวนในทางร่างกายนั้น เมื่อมีสติอยู่ ก็รักษาใจไว้ได้ การรักษาใจนั้น เป็นเรื่องสำคัญในยามเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ กายเป็นหน้าที่ของแพทย์ แพทย์ก็รักษาไป เราก็ปล่อยให้แพทย์ทำหน้าที่รักษากาย แต่ใจนั้นเป็น ของเราเอง เราจะต้องรักษาใจของตนเอง เพราะฉะนั้นก็แบ่งหน้าที่กัน ตอนนี้ก็เท่ากับปลงใจบอกว่า "เอาล่ะ ร่างกายของเรามันป่วยไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของหมอ เป็นเรื่องของนายแพทย์ นายแพทย์ก็รักษาไป เราได้แต่ร่วมมือ ไม่ต้องเร่าร้อนกังวล เราจะรักษาแต่ใจของเราไว้"

รักษาใจไว้ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างที่พระองค์ตรัสไว้ ซึ่งได้ยกมาอ้างเมื่อกี้ ให้ตั้งใจว่า "ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย" ถ้ายึดไว้อย่างนี้ สติอยู่ ก็ทำให้จิตใจนั้นไม่พลอยหงุดหงิด ไม่พลอยออดแอด ไม่พลอยแปรปรวนไปตามอาการทางร่างกาย..."




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย