ประวัติสมเด็จพระสังฆราช

ประวัติสมเด็จพระสังฆราช
สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่าย เถรวาทในประเทศไทย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปรินายก ๒ องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้ มีสุพรรณบัตรจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกองค์

จึงเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปรินายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ที่พระพนรัตน์แต่เดิม ทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกองค์ เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครอง ทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทในเมืองนั้น ดังปรากฎเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์

พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า คามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่า อรัญวาสี ภิกษุ แต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่า สมเด็จพระราชาคณะ

แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ของไทย เริ่มจัดวางหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการพัฒนาเพิ่มเติมใน สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยมาตามลำดับ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัดโดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้

สกลสังฆปรินายก ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช
มหาสังฆนายก ได้แก่เจ้าคณะใหญ่
สังฆนายก ได้แก่เจ้าคณะรอง
มหาสังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะมณฑล
สังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
สังฆวาห ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู


ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามพระบรม ราชวงค์ผู้ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงเศวตฉัตร ๕ ชั้น พระราชวงค์ชั้นรองลงมา เท่าที่ปรากฎ มีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตร ๕ ชั้น

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ ๔ รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูล ให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป

ประวัติสมเด็จพระสังฆราชไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
องค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
วัดระฆังโฆสิตาราม
องค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
องค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
องค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เดิมอยู่วัดราชสิทธาราม
องค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เดิมอยู่วัดสระเกศ
องค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)
องค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
องค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
วัดบวรนิเวศวิหาร
องค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ป.ธ.๙)
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
องค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ป.ธ.๕)
วัดบวรนิเวศวิหาร
องค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ( หม่อมเจ้าภุชงค์ ป.ธ. ๕ )
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
องค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ป.ธ. ๕)
วัดสุทัศนเทพวราราม
องค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น ป.ธ. ๗)
วัดบวรนิเวศวิหาร
องค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด ป.ธ. ๙)
วัดเบญจมบพิตร
องค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ป.ธ. ๙)
วัดสระเกศ
องค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน ป.ธ. ๙)
วัดมกุฏกษัตริยาราม
องค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ป.ธ. ๖)
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
องค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ ป.ธ. ๔)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
องค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ ป.ธ. ๙)
วัดบวรนิเวศวิหาร
องค์ที่ ๒๐ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร ป.ธ.๖)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม






• ยิ่งอยู่ไปในโลก ความสุขจะต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อวัตถุน้อยลง

• สํวาเสน สีลํ เวทิตพฺพํ ศีลพึงรู้ได้เพราะอยู่ร่วมกัน

• ขายที่ดิน รวม 41 ไร่ แบ่งขาย 9 แปลง ติดถนนทางหลวงชนบท 2035 ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน

• วิธีให้เพื่อการครองใจ - พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์

• ถ้าคนไทยรู้จักอยาก เมืองไทยก็แทบไม่มีปัญหาอะไรให้ต้องแก้ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย