หลักธรรมนำสุขในยุค 2000
โดย : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

เรื่องที่ ๒๐ : สร้างสุขจากการให้ ทำใจเป็นอิสระ


"...คนเรานั้น ตามปกติ เมื่อเริ่มแรก ก็จะมีความสุขจากการได้ก่อน เราได้ของ สร้างสิ่งของขึ้นมาได้ หรือใครให้ ได้มาเป็นของตัว เราก็มีความสุข ต่อมาจิตใจเจริญขึ้น เราจะรู้จักความสุขจากการให้ แต่การให้ จะทำให้เกิดความสุขได้ ก็ต้องมีความพร้อมใจที่จะให้ จิตใจที่พร้อมจะให้ คือจิตใจอย่างไร ?... ก็คือจิตใจที่มีความรัก มีความปรารถนาดี หรือมีเมตตา พ่อแม่รักลูกมีเมตตาต่อลูก จึงมีจิตใจที่พร้อม ที่จะให้ลูก เมื่อให้ลูก พ่อแม่ก็มีความสุขในการให้ ทั้งๆที่ของนั้นถูกสละออกไป แทนที่จะเสียดาย ก็ไม่เสียดาย แทนที่จะทุกข์ ก็ไม่ทุกข์ กลับมีความสุขขึ้นมาแทน แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมในใจ ไม่มีเมตตา ก็จะมีความเสียดายของ เวลาให้ก็ฝืนใจ แล้วก็มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น จะทุกข์หรือสุข ก็อยู่ที่ใจของเราเอง

คนที่ฝึกฝน พัฒนาจิตใจขึ้นมาแล้ว ก็สามารถให้ได้ โดยมีความสุข เพราะเมื่อแผ่เมตตากรุณาให้ กว้างขวางออกไป ทำใจของตนให้ประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อคนอื่นเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ก็จะทำให้การให้ กลายเป็นความสุขมากขึ้น บ่อยขึ้น ยิ่งมีเมตตากรุณากว้างขวางออกไปเท่าใด ก็ยิ่งมีความสุขจากการให้ได้มากเท่านั้น ยิ่งรักเพื่อน มนุษย์ ยิ่งรักคนอื่นได้มากเท่าใด ก็ยิ่งได้ความสุขจากการให้ และการไม่ต้องเอามากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่ง เข้าถึงพระพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ให้ความสุขก็ได้ความสุข"

ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ทำใจเป็น ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่ง ที่ทำให้สำเร็จหน้าที่ของจาคะ อย่างในกรณีนี้ เมตตากรุณาก็เป็นธรรมสำคัญ ที่ช่วยหนุนจาคะให้เกิดขึ้น ดังนั้น จึงจะต้องฝึกตนว่าทำอย่างไร เราจะมีความพร้อมที่จะให้ ที่จะสละ มีความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลาย การมีจาคะ จึงเป็นเครื่องสำรวจจิตใจของตนเองอย่างหนึ่งว่า เจริญในธรรมแค่ไหน ดูว่าเวลานี้เรา มีจาคะ มีความสละ มีความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งหลายเพิ่มขึ้นไหม สามารถอยู่ได้ โดยมีความสุข ด้วยใจของตนเอง โดยไม่ต้องได้ ไม่ต้องเอาแค่ไหน มีความสุขจากการให้ หรือการสละได้แค่ไหน ตลอดกระทั่งว่า สามารถอยู่เป็นสุขได้หรือไม่ แค่ไหน เมื่อไม่ได้ หรือแม้แต่ต้องสูญเสียอะไรไป บางคนมีความพึ่งพาสิ่งภายนอกมาก ถ้าไม่มีสิ่งภายนอกแล้ว ก็หาความสุขไม่ได้ พอพัฒนาจิตใจขึ้นไปแล้ว ก็มีความสุข แม้ด้วยใจของตนเอง ลำพังใจของตนเอง เราอยู่กับใจของตัวเองได้ มีความสุขได้ อันนี้ก็จะเป็นการพึ่งตนเองได้

ถ้าเราไม่สามารถมีความสุข ด้วยใจของตัวเอง เราก็ต้องพึ่งสิ่งภายนอก ความสุขของเราก็ฝากไว้กับสิ่งภายนอก สิ่งข้างนอกเป็นอย่างไร เราก็เป็นไปตามนั้น จิตใจของเเราก็แปรปรวนไปตาม ท่านเรียกว่า มีความสุข -- ความทุกข์ ขึ้นกับปัจจัยภายนอก แต่เมื่อมีจาคะมากขึ้น จิตใจคลายความยึดติดผูกพัน มีความเข้าใจในสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริงแล้ว ก็อยู่กับใจของตัวเองได้ มีความสุขด้วยใจของตัวเอง เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก เป็นไทแก่ตัว ท่านเรียกว่า พึ่งตัวเองได้อย่างแท้จริง..."




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย