หลักธรรมนำสุขในยุค 2000
โดย : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

เรื่องที่ ๒๒ : ความสุขอันประเสริฐ


"...พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์สามารถหาความสุขที่ประณีตกว่าการบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ความสุขแบบนั้น ท่านเรียกว่า เป็นความสุขที่ประณีตขึ้น ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือเป็นอิสระ มนุษย์มีความสุขได้ โดยลำพังตัวเองในใจ และไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก ซึ่งหมายความว่า แม้วัตถุภายนอกนั้นไม่มีอยู่ เราก็มีความสุขได้ ข้อสำคัญก็คือ มันเป็นความสุขพื้นฐาน ที่จะทำให้การแสวงหา หรือการเสพความสุขภายนอก เป็นไปอย่างพอดี อยู่ในขอบเขตที่สมดุล ทำให้มีความสุขแท้จริง และไม่เบียดเบียนกันในทางสังคม

ถ้าคนมีความสุขประเภทนี้ เป็นรากฐานอยู่ภายในตนเองแล้ว การหาความสุขทางวัตถุ มาบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะมีขอบเขต ท่านเรียกว่า รู้จักประมาณ ถ้าเรามีความสุขข้างในแล้ว ความสุขที่ได้ข้างนอก ก็เป็นความสุขที่เติมเข้ามา เป็นของแถม หรือกำไรพิเศษ และอิ่มอยู่เสมอ แต่ถ้าเราไม่มีความสุขในจิตใจ มีใจเร่าร้อน กระวนกระวาย หรือมีความเบื่อ มีความเครียด มีปัญหาอยู่ภายในใจของตนเองแล้ว พอหาวัตถุมาบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะต้องมีปัญหาต่อไปอีก คือ

๑. ไม่สามารถมีความสุขได้เต็มที่

๒. เมื่อทำโดยมีปมปัญหาในใจ ก็ทำอย่างไม่พอดี ทั้งทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และตัวเองก็ไม่ได้

ความสุขจากภายนอกเต็มที่ด้วย และประการสำคัญก็คือ พอทำอะไรออกมา เพื่อหาความสุขเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดการปะทะ กระทบซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นปัญหาสังคมขยายบานปลายออกไป..."




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย