บอกหน่อยครับเกี่ยวกับการนั่งสมาธิกับความง่วงและความคิดฟุ้งซ่าน

     

คือผมอยากทราบว่าเวลานั่งสมาธิพอนั่งไปได้ซักพักก็จะเริ่มง่วงแล้วก็หลับไปแบบไม่รู้ตัวเลย แต่พอซักแปบนึงเราก็รู้ตัวว่า นี่ฉันหลับไปแล้วนี่ แต่ไม่รุว่าตอนไหนเหมือนกันนะครับ แล้วบางทีไม่หลับก็จะคิดไปเรื่อยๆมากมาย จนสักพักพอควรผมก็รู้สึกตัวขึ้นมาว่า นี่ฉันคิดไปแล้วนะเนี่ย แล้วก็กลับมานั่งต่ออย่างเดิม แล้วมันก็จะเป้ฯอย่างเนี้ยอ่ะครับ คือ ง่วงหลับ รู้สึกตัว แล้วก็หลับ แล้วก็รู้สึก ไม่ก็คิดๆๆ แล้วก็รู้สึกตัว แล้วก็ไปคิดต่อ แล้วก็รู้สึกตัว อย่างเนี้ยสลับกันไปอ่ะครับ ผมอยากรู้ว่าเราจะทำให้ความง่วงเหล่านี้ กับการคิดๆๆ อย่างนี้หายไปได้อย่างไร แล้วนานมั้ยครับกว่านิวรณ์เหล่านี้จะหายไป แล้วผมควรจะนั่งกี่นาทีดี เพราะผมก็ไม่ได้ฝึกนั่งตลอดครับคือนั่งติดๆกันแปบนึง แล้วก็ทิ้งช่วงไปนานพอควร อีกอย่างก็คืออยากทราบด้วยครับว่าถ้าจะได้ฌานนั้นต้องฝึกกี่วันอย่างเร็วสุด หรืออย่างปานกลาง ใครรู้ก็ช่วยแนะนำด้วยนะครับ ขอบคุณครับ




ลุกขึ้นเดินจงกรมซิครับ





" ความรู้เรื่องสมาธิ "



สมาธินั้นมี 2 อย่าง

1.มิจฉาสมาธิ คือสภาวะของจิตปุถุชน ที่ยังพัวพันอยู่ในกามหรือยังประกอบอยู่ด้วยอกุศลธรรม
2.สัมมาสมาธิ คือสภาวะที่จิตนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย


1.มิจฉาสมาธิ ไม่ได้หมายถึงสมาธิที่ไม่ดีเสมอไป เป็นสมาธิที่ดีก็มีเช่นสมาธิในการเขียนหนังสือตัวบรรจง สมาธิในการขับรถ สมาธิในการทำงานของปุถุชน สมาธิในการร้องเพลง สมาธิในการอ่านหนังสือ

สมาธิเหล่านี้เป็นสมาธิที่ดีของปุถุชน มีประโยชน์ต่อปุถุชน แต่จิตนั้นยังประกอบด้วยกามยังประกอบด้วยอกุศลธรรมคือราคะ โทสะ โมหะ จึงจัดเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์



2.สัมมาสมาธิ คือสภาวะที่จิตนั้นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่ฌานสมาบัติ 8 และมัคค 4 ผล 4

สัมมามสมาธินั้นมี 2 อย่าง

2.1.สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุ เรียกว่ากุศล
สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุ ก็แบ่งเป็น 2 อย่าง
2.1.1.สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุที่เป็นโลกียะ
ได้แก่รูปาวจรกุศลจิต ในจตุถฌาน หรือปัญจมฌาน
และอรูปาวจรกุศลจิต ในอรูปฌาน 4
แม้รูปฌาน และอรูปฌานจะได้ชื่อว่าโลกียะก็จริงอยู่ แต่คุณสมบัติของจิตเหล่านั้นเป็นจิตที่สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

2.1.2.สัมมาสมาธิที่เป็นเหตุที่เป็นโลกุตตระ
ได้แก่ โสดาปัตติมัคค สกทาคามีมัคค อนาคามีมัคค และอรหัตตมัคค
อริยมัคคทั้ง 4 นี้ เป็นสภาวะธรรมที่จิตประกอบด้วยองค์ฌานเดียวกันแต่ปัญญาเครื่องทำลายกิเลสต่างกัน

โสดาปัตติมัคค ประกอบด้วยปฐมฌานและปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลพตปรามาส

สกทาคามีมัคค ประกอบด้วยปฐมฌานและปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส และความสามารถในการ ทำกามราคะและพยาบาทให้บางเบา

อนาคามีมัคค ประกอบด้วยปฐมฌานและปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส กามราคะและ ปฏิฆะ ได้หมดสิ้น

อรหัตตมัคค ประกอบด้วยปฐมฌานและปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้หมดสิ้น

สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ 8 ในฌาน 1 - 4 คือสัมมาสมาธิที่เป็นเหตุ และเป็นโลกุตตระฌาน โลกุตตระกุศล


การบรรลุธรรมโดยไม่เอาฌาน ไม่เอาเหตุ ไม่ทำจิตให้สงัดจากกาม จิตไม่สงัดจากอกุศลธรรม ไม่ปฏิบัติไปตามแนวทางแห่งมรรคมีองค์ 8 ให้ครบถ้วน แล้วกล่าวว่าตนบรรลุธรรมย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะองค์ธรรมคือปัญญาต้องเกิดร่วมเกิดพร้อมกับสัมมาสมาธิคือฌานเท่านั้น

ปัญญาวิมุติก็ต้องมีฌานเป็นบาทฐาน



2.2.สัมมาสมาธิที่เป็นผล เรียกว่ากุศลวิบาก
สัมมาสมาธิที่เป็นผล ก็แบ่งเป็น 2 อย่าง

2.2.1.สัมมาสมาธิที่เป็นผลที่เป็นโลกียะ
ได้แก่ผลจากการบรรลุจตุตตถฌาน หรือปัญจมฌาน ในรูปฌาน เรียกว่า รูปาวจรกุศลวิบาก
และผลจากการบรรลุอรูปฌาน 4 เรียกว่า อรูปาวจรกุศลวิบาก


2.2.2.สัมมาสมาธิที่เป็นผลที่เป็นโลกุตตระ

ได้แก่ โสดาปัตติผล สกทาคามีผล อนาคามีผล และอรหัตตผล
อริยผลทั้ง 4 นี้ เป็นสภาวะธรรมที่จิตประกอบด้วยองค์ฌาน ต่างกันแต่ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เหมือนกัน

โสดาปัตติผล ประกอบด้วยปฐมฌานหรือ ทุติยฌานหรือ ตติยฌานหรือ จตุตถฌานหรือ (ฌาน 1 - 5 )ในปัญจมฌาน ฌานใดฌานหนึ่งก็ได้เป็นบาท แต่มีปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลพตปรามาสได้เหมือนกัน

สกทาคามีผล ประกอบด้วยปฐมฌานหรือ ทุติยฌานหรือ ตติยฌานหรือ จตุตถฌานหรือ (ฌาน 1 - 5 )ในปัญจมฌาน ฌานใดฌานหนึ่งก็ได้เป็นบาท แต่มีปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลพตปรามาสและความสามารถในการ ทำกามราคะและพยาบาทให้บางเบาได้เหมือนกัน

อนาคามีผล ประกอบด้วยปฐมฌานหรือ ทุติยฌานหรือ ตติยฌานหรือ จตุตถฌานหรือ (ฌาน 1 - 5 )ในปัญจมฌาน ฌานใดฌานหนึ่งก็ได้เป็นบาท แต่มีปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลพตปรามาส กามราคะและ ปฏิฆะ ได้หมดสิ้นได้เหมือนกัน

อรหัตตผล ประกอบด้วยปฐมฌานหรือ ทุติยฌานหรือ ตติยฌานหรือ จตุตถฌานหรือ (ฌาน 1 - 5 )ในปัญจมฌาน ฌานใดฌานหนึ่งก็ได้เป็นบาท แต่มีปัญญาในการละสักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้หมดสิ้นได้เหมือนกัน



คนที่บรรลุธรรมก็คือคนที่จิตสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมคือราคะ โทสะ โมหะ
จิตที่สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมคือราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียกว่าจิตนั้นเป็นสัมมาสมาธิและเป็นฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

การเจริญวิปัสสนาให้ได้ปัญญาญาณต่าง ๆ จึงต้องใช้สัมมาสมาธิคือฌานเป็นเหตุหรือเป็นบาท
เพราะปัญญาญาณย่อมเกิดในจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น
ถ้าไม่เป็นฌานไม่เป็นสัมมาสมาธิญาณปัญญาทางธรรมย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้.



มีหลาย ๆ คนที่ปฏิบัติธรรมผิดแนวทางสืบ ๆ กันมา โดยไม่ได้เรียนปริยัติควบคู่กันไปด้วย

1.เชื่อผิดเข้าใจผิดคิดว่าสมาธิไม่ใช่ฌาน ฌานไม่ใช่สมาธิ
แต่ความจริงสมาธิคือชื่อเรียก รวม ๆ ของฌาน ฌานเป็นความละเอียดอ่อนที่แตกต่างกันของสมาธิ
เหมือนกับคำว่า ป.1 ป.2 เป็นชื่อของความต่างของเด็ก นักเรียนเป็นชื่อรวมของเด็กที่ได้รับการศึกษา

2.เชื่อผิดเข้าใจผิดคิดว่าสมาธิ ไม่ใช่คุณภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไป ตามหลักไตรลักษณ์
แต่เข้าผิดคิดว่าสมาธิ คือสภาวะธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องมีการเข้าการออก

ความจริงคือ สมาธิคือคุณภาพจิตที่สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นจิตที่เป็นกุศลหรือกุศลวิบาก

การออกจากสมาธิ ก็คือการเปลี่ยนคุณภาพจิตที่เป็นกุศลให้กลับมาสู่จิตที่เลวคือพัวพันในกามหรือพัวพันในอกุศลธรรม ซึ่งสอนขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
จงละบาปอกุศลทั้งปวง
จงยังกุศลให้ถึงพร้อม
จงทำจิตใจให้ผ่องแผ้วจากกิเลส

เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ได้ฌานแล้ว เป็นกุศลแล้วต้องรักษาเอาอย่าให้เสื่อมเพราะกุศลจิตนั้นเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่จะต้องรักษาเอาไว้

3.ต้องการบรรลุธรรมโดยไม่ปฏิบัตติไปในแนวทางแห่งมรรคมีองค์ 8
เช่น ไม่เอาฌานในสัมมาสมาธิ ไม่ทำจิตให้ตั้งในกุศล ไม่ทำจิตให้สงัดจากกาม และอกุศลธรรม
แต่คิดค้นวิธีปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาตามความเชื่อความเห็นของตน ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า


ปฏิบัติไปด้วยศึกษาพระไตรปิฎกไปด้วยควบคู่กันไปก็ไม่เสียเวลามามายอะไรหรอกครับ
แล้วท่านจะได้รู้จักเหตุที่ถูกต้อง และผลที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร


เจริญในธรรมครับ.

แก่นไม้ [DT02103] [ 6 ก.ย. 2550 เวลา 09:14 น. ] [ 21 ]



เป็นกำลังใจในการปฏิบัติครับ อาจจะเป็นเพราะการตกภวังค์จิต เพราะถ้าหลับคงยาวนานกว่าจะรู้สึกตัว ทำได้ขนาดนี้เจอกับสภาวะแบบนี้ก็ดีมากที่สุด กว่าคนที่ไม่ทำอะไรเลย เป็นบุญแม้ตกภวังค์ก็จะได้ความบริสุทธิ์จากกุศลกรรมบท 10 ที่ไม่ทำผิดพลาด ทำเถอะ เป็นกำลังใจให้ จิตใจเราเหมือนต้นไม้ค่อย ๆ ทนุถนอม ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ดีแล้วครับทำต่อ แล้วการเจริญเติบโตเป็นหน้าที่ของจิตใจเราควบคุมไม่ได้หน้าที่เรา คือ ทำตามหน้าที่ ทำต่อไป ดีแล้วครับ


สมาธิเป็นจิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่เฉพาะในอารมณ์อันเดียว มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่นรู้ตัวอยู่ จิตหยาบก็รู้ว่าหยาบ จิตละเอียดก็รู้ว่าละเอียด รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นแก่จิต จิตก็ไม่หวั่นไหวไปตามธรรมารมณ์นั้นๆ สามารถแยกได้ว่าอันนั้นเป็นธรรมารมณ์ อันนั้นเป็นจิต อันนั้นเป็นนิมิตร หรือถ้าเราดูธรรมารมณ์นั้นก็ดูได้ เมื่อต้องการปล่อยก็ปล่อยได้ สมาธิเป็นของเฉพาะส่วนตัว คนอื่นจะมาเกี่ยวข้องไม่ได้ เว้นแต่จะแนะนำวิธีหรือให้อุบายกันเท่านั้น ซึ่งอุปสรรคของสมาธิส่วนหนึ่งเกิดจากกิเลสที่เรียกว่า นิวรณ์ 5 เป็นการก่อกวนจิต มิให้เกิดสมาธิ ดิฉันก็ยกหนังสือพระสติปัฏฐานสูตรตำราพระกัมมัฏฐานจากพระโอฐพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอธิบายความพระสติปัฏฐานสูตร แปลจาก
คัมภีร์ปปัญจสูทนี ดังนี้

คำว่า "สนฺตํ- มีอยู่" ในพระสูตรนั้น อธิบายว่า มีอยู่ด้วยการก่อกวนเนืองๆ คำว่า "อสนฺตํ" อธิบายว่า ไม่มี เพราะไม่ก่อกวน หรือเพราะละเสียได้แล้ว คำว่า "ยถา จ- และ...ดเหตุใด" อธิบายว่า การบังเกิดขึ้นของกามฉันทะ มีได้ด้วยเหตุใด คำว่า "ตญฺจ ปชานาติ-ก็กำหนดรู้เหตุนั้นด้วย" อธิบายว่า พึงเข้าใจเนื้อความในทุกๆ บท โดยนัยนี้ว่า "ก็กำหนดรู้เหตุนั้นด้วย" ดังนี้

๑. กามฉันทะ
การบังเกิดขึ้นของกามฉันทะ (ความพอใจในกามคุณ) มีด้วย อโยนิโสมนสิการ ในสุภนิมิตต์ ทั้งหลายนั้น ทั้งความงามก็เป็นสุภนิมิตต์ทั้งอารมณ์ที่งามก็เป็นสุภนิมิตต์ (ทั้ง ๒อย่างนี้) เรียกว่า สุภนิมิตต์ การทำในใจโดยอุบายไม่ควร การทำในใจนอกแนวทาง การทำในใจในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป้นของเที่ยงก็ดี ในทุกข์ว่าเป็นสุขก็ดี ในอนัตตาว่าเป็นอัตตาก็ดี ในสิ่งที่ไม่งามว่างามก็ดี เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ โยคาวจรผู้ทำอโยนิโสมนสิการนั้นเป็นไปมากในสุภนิมิตต์นั้น กามฉันทะก็บังเกิดขึ้น
แต่การละ (กามฉันทะ) ย่อมมีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิตต์ทั้งความไม่งาม ทั้งอารมณ์ที่ไม่งามเรียกว่า อสุภนิมิตต์ การทำในใจโดยอุบาย การทำในใจตามแนวทาง การทำในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง การทำในใจในทุกข์ว่าเป็นทุกข์ การทำในใจในอนัตตาว่าอนัตตา การทำในใจในสิ่งไม่งามว่าไม่งาม เรียกว่า โยนิโสมนสิการ เมื่อโยคาวจรทำโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากในอสุภนิมิตต์นั้น ก็ละกามฉันทะเสียได้
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ เป็นไปเพื่อละกามฉันทะ คือเล่าเรียนอสุภนิมิตต์ ๑ การประกอบเนืองๆ ในการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน๑ การควบคุมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ ความรู้ประมาณในการบริโภค๑ คบกัลาณมิตร๑ การสนทนาปราศัยในเรื่องสัปาปายะ ๑
การที่กามฉันทะซึ่งตนละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนั้น จะไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไป ต้องละด้วยอรหัตตมรรค ดังนี้

๒. พยาบาท
ส่วนว่า การบังเกิดขึ้นของพยาบาท (ความคิดร้าย) ย่อมมีได้ด้วย อโยนิโสมนสิการ ในปฏิฆนิมิตต์ ในเรื่องปฏิฆนิมิตต์นั้น ถึงตัวความขัดเคืองเอง ก็เป็นปฏิฆนิมิตต์ ถึงอารมณ์แห่งความขัดเคือง ก็เป็นปฏิฆนิมิตต์ อโยนิโสมนสิการในปฏิฆะทุกอย่างมีลักษณะเดียวกัน เมื่อโยคาวจรทำอโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากในนิมิตต์นั้น พยาบาทก็บังเกิดขึ้น
การละเยาบาทนั้น ย่อมมีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในเมตตาเจโตวิมุติ เมื่อพูดว่า "เจโตวิมุติ" มีได้เฉพาะอัปปนาเท่านั้น ส่วนโยนิโสมนสิการ ก็มีลักษณะเช่นกล่าวแล้วนั้นแล เมื่อโยคาวจรทำโยนิโสมนสิการนั้นให้เป็นไปมากในเมตตาเจโตวิมุตตินั้น ก็ละพยาบาทได้
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ เป็นไปเพื่อละพยาบาท คือการเรียนรู้เมตตานิมิตต์๑ การประกอบเนืองๆ ในการเจริญเมตตากัมมัฏฐาน๑ การพิจารณาถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน๑ ความเป็นผู้มากด้วยการพิจารณาทบทวน๑ คบกัลยาณมิตร๑ การสนทนาปราศํยในเรื่องเป็นสัปปายะ๑
การที่พยาบาทซึ่งละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านั้น จะไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยอนาคามิมรรค ดังนี้

๓. ถีนะและมิทธะ
การบังเกิดขึ้นของถีนมิทธ (ความท้อแท้และความง่วงเหงาเชื่อมซึม) ย่อมมีได้ด้วยอโยนิโสมนสิการในอรติ(ความไม่พอใจ) ความเบื่อหน่าย เรียกว่า อรติ ความเกียจคร้านทางการ เรียกว่า ตันทิ(ความคร้าน) การบิดเบือนกาย (ที่เรียกเป็นสามัญว่า บิดขี้เกียจ เช่น ในเวลาตื่นนอน) เรียกว่า วิชัมภิกา (การบิดกาย) การเมาอาหารและความกระวนกระวายด้วยอาหาร เรียกวี่ ภัตตสัมมทะ (การเมาข้าวสุก) อาการหดหู่ของจิต เรียกว่า ความหดหู่ใจ
แต่การละถีนมิทธนั้น ก็มีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธาตุทั้งหลายมีอารัพภธาตุเป็นต้น ความเดียรเริ่มแรก เรียกว่า อารัพภธาตุ ความเพียรมีกำลังยิ่งกว่าอารัพภธาตุนั้น เพราะก้าวออกไป่จากความเกียจคร้านแล้ว เรียกว่า นิกกมธาตุ ความเพียรมีกำลังยิ่งกว่านิกกมธาตุนั้นไปอีก เพราะก้าวไปสู่ฐานะเบื้องหน้าๆ เรียกว่า ปรักกมธาตุ เมื่อโยคาวจรทำโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากในความเพียร ๓ ประเภทนี้ ก็ละถีนมิทธะได้
อีกประการหนึ่งธรรม ๖ ประการ เป็นไปเพื่อละถีนมิทธะ คือการคอยจับนิมิตรในการบริโภคเกินควร ๑ การสับเปลี่ยนอิริยาบถ ๑ มนสิการด้วยความหมายรู้ในแสงสว่าง๑ อยู่กลางแจ้ง ๑ คบกัลยาณมิตร๑ สนทนาปราศํยในเรื่องเป็นสัปปายะ๑
ถีนะมิทธะที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการเหล่านี้ จะไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไป
ด้วยอรหัตตมรรค ดังนี้

๔. อุทธัจจะและกุกกุจจะ

อุธัทจจะ(ความฟุ้งซ่าน) กุกกุจจะ (ความรำคาญใจ) จะเกิดขึ้นได้ด้วยอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบของใจ อาการไม่สงบ เรียกว่า อวูปสมะ (ความไม่สงบใจ) เมื่อว่าโดยเนื้อความแล้ว ความไม่สงบใจ นั้นก็คืออุทธัจจะและกุกกุจจะนั่นเอง เมื่อโยคาวจรทำอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปมากในความไม่สงบใจนั้น อุทธัจจะและกุกกุจจะก็จะเกิดขึ้น
แต่การละอุทธัจจะและกุกกุจจะนั้น ก็มีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในความสงบใจ กล่าวคือสมาธิ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความสงบใจมีอยู่ การทำโยนิโสมนสิการให้มากในความสงบใจนั้น ข้อนี้เป็นอาหาร เพื่อไม่บังเกิดขึ้นของอุทธัจจะและกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อละอุทธั่จจะและกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว"
อีกประการหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ๖ ประการ เป็นไปเพื่อละอุทธัจจะแลกุกกุจจะ คือ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก๑ การไล่เลียงสอบถาม๑ ความเป็นผู้รู้ช่ำชองในพระวินัย๑ คบหาผู้ใหญ่๑ คบหากัลยาณมิตร๑ สนทนาปราศํยในเรื่องเป็นสัปปายะ๑
อุทธัจจะที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ จะไม่บังเกิดขึ้นต่อไปอีก ด้วยอรหัตตมรรค ส่วนกุกกุจจะที่ละได้แล้วจะไม่บังเกิดขึ้นต่อไปอีก ด้วยอนาคามิมรรค

๕. วิจิกิจฉา
การบังเกิดขึ้นของวิจิกิจฉา (ความสงสัย) มีได้ด้วยอโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย ธรรมทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย ชื่อว่าเป็น วิจิกิจฉาแท้ เพราะเป็นเหตุแห่งความสงสัยเนืองๆ เมื่อโยคาวจรนั้นทำอโยนิโสมนสิการให้เป็นไปเนืองๆ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยทั้งหลายนั้น วิจิกิจฉาก็บังเกิดขึ้น
แต่ว่า แม้การละวิจิกิจฉานั้น จะมีได้ด้วยโยนิโสมนสิการในธรรมทั้งหลาย มีธรรมเป็นที่กุศลเป็นต้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศลมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและไม่มีโทษ มีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่ควรเสพและไม่ควรเสพมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่ทรามและประณีต มีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว มีอยู่ การทำอโยนิโสมนสิการให้มากในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ข้อนี้เป็นอาหารเพื่อความบังเกิดขึ้นของวิ่จิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อมีมากขึ้น เพื่อแพร่หลายยิ่งขึ้น ของวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว" ดังนี้
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ เป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา คือ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก๑ ความไล่เลียงสอบถาม๑ ความเป็นผู้รู้ช่ำชองในพระวินัย๑ ความน้อมใจเชื่ออยู่เนืองๆ ๑ คบกัลยาณมิตร๑ สนทนาปราศํยในเรื่องเป็นสัปปายะ ๑
วิจิกิจฉาที่ละได้แล้วด้วยธรรม ๖ ประการนี้ จะไม่บังเกิดต่อไปอีก ด้วยโสดาปัตติมรรค


 3,906 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย