สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

 

พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔

ณ พระแท่นบรรทม หรือเตียงปรินิพพานนั้นเอง พระพุทธองค์ได้ทรงปรารถเรื่องรา่วต่างๆ หลายเรื่องกับพระอานนท์พุทธอุปัฎฐากรวมทั้งเรื่อง สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบล จากในมหาปรินิพพานสูตร พอสรุปได้ดังนี้
ครั้งนั้นพระอานนท์เถรเจ้าได้กราบทูลพระองค์ว่า ในกาลก่อนภิกษุทั้งหลายที่ได้แยกย้ายกันไปจำพรรษาอยู่ตามชนบทในทิศต่างๆ เมื่อสิ้นไตรมาศครบ ๓ เดือนตามวินัยนิยมหรืออกพรรษาแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ย่อมจะเดินทางมาเฝ้าพระองค์เป็นอาจิณวัตร ก็เพื่อจะได้เห็นจะได้เข้าใกล้ จะได้อุปัฎฐากพระองค์ อันจะทำให้เกิดความเจริญทางจิต ก็มาบัดนี้เมื่อกาลแห่งการล่วงไปแห่งพระองค์แล้ว ก็แล้วข้าพระองค์ทั้งหลายก็จะไม่ได้เห็น จะไม่ได้นั่งใกล้ จะไม่ได้สากัจฉา(สนทนาธรรม) เหมือนกับสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอีกต่อไป

เมื่อพระอานนท์กราบทูลดังนี้แล้ว พระตถาคตเจ้าได้ทรงแสดงสถานที่ ๔ ตำบลว่าเป็นสิ่งที่ควรจะดู ควรจะได้เห็น ควรจะเกิดสังเวช (ความสลดใจกระตุ้นเตือนจิตใจให้คิดกระทำแต่สิ่งดีงาม) แก่กุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา คือ
  ๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้วคือ ประสูติจากพระครรภ์มารดา ตำบลหนึ่งคืออุทยานลุมพินี
  ๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตำบลหนึ่งคือ ควงไม้โพธิ์ พุทธคยา
  ๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไป หรือแสดงปฐมเทศนาตำบลหนึ่ง คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียก สารนาถ)
  ๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุตำบลหนึ่ง คือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ปัจจุบันเรียก กาเซีย) ให้เกิดความสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา

อนึ่ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธามายังสถานที่ ๔ ตำบลนี้ ด้วยมีความเชื่อว่า พระตถาคตเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไปแล้ว ณ สถานที่นี้ และพระตถาคตเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทเสสนิพพานธาตุแล้ว ณ สถานที่นี้

ดูก่อนอานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใด เจติยจาริกของพระตถาคตเจ้าทั้ง ๔ ตำบลนี้แล้ว จักเป็นคนเลื่อมใส เมื่อกระทำกาลกิริยา(ตาย)ลง ชนทั้งหลายเหล่านั้น จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความ ๔ ตำบลว่าเป็นที่ควรเห็น ควรดู ควรให้เกิดสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธาด้วยประการฉะนี้แล

นี้เองเป็นที่มาของสังเวชนียสถาน ๔ แห่งในดินแดนพุทธภูมิ ที่ชาวพุทธทั้งหลายสมควรอย่างยิ่งที่จะไปนมัสการ กราบไหว้สักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ - สถานที่ประสูติ
... เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชปักไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังทราบว่าตรงจุดนี้ เป็นที่ที่พระบรมศาสดาออกจากพระครรภ์ของพระมารดา
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ คือสถานที่ประสูติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย และสถานที่ประสูตินี้ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาลประมาณ ๓๒ กิโลเมตร ปัจจุบันสังเวชนียสถานแห่งนี้ ภาษาทางราชการเรียกว่า "ลุมมินเด" แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังเรียกว่า "ลุมพินี"
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ - สถานที่ตรัสรู้
... วิหารตรัสรู้ ที่ยังหลงเหลืออยู่สมบูรณ์ที่สุด
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ คือสถานที่ตรัสรู้นี้ แต่เดิมทีเดียวในสมัยพุทธกาลนั้น คือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยา แคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้นี้เรียก ตำบลพุทธคยา ขึ้นอยู่กับจังหวัดคยา (ห่างจากจังหวัดคยา ๑๒ กิโลเมตร) รัฐพิหาร มีเมืองหลวงชื่อ ปัฎนะ หรือ ปัฎนา (หรือชื่อเดิมว่า ปาฎลีบุตร)
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ - สถานที่แสดงปฐมเทศนา
... ธัมเมกขสถูป สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถให้พระอรหันต์ ๖๐ รูป ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ คือ สถานที่แสดงปฐมเทศนา หรือสถานที่พระตถาคตเจ้าทรงยังพระอนุตรธัมจักให้เป็นไป สถานที่นี้อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกสารนาถ ห่างจากเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ - สถานที่ดับขันธปรินิพพาน
... สถูปและวิหารปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ คือ สถานที่ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุาทิเสสนิพพานธาตุดับไม่มีส่วนเหลือ คือทั้งกิเลส ทั้งเบญจขันธ์ดับหมด ตามปกติพระอรหันต์ทั่วไปๆไปจะนิพพาน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกนั้นเป็นการดับกิเลส ส่วนเบญจขันธ์ยังอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่จิตเข้าสู่แดนพระนิพพานเท่านั้น เป็นจิตที่สะอาด ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์แล้ว ดังเช่นพระพุทธเจ้า นิพพานครั้งแรกนี้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ส่วนนิพพานครั้งที่ ๒ ก็คือ อนุปาทิเสสนิพาน ดังได้กล่าวแล้วนั้นเอง
สถานที่นิพพานที่พุทธประวัติระบุว่า สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ปัจจุบันมีสถูปและวิหารเป็นสัญลักษณ์ เป็นอุทยานที่ได้รับการรักษาจากทางการอินเดียเป็นอย่างดี มีต้นสาละและไม้อื่นปลูกอยู่ทั่วไป ให้ความร่มรื่นพอสมควร
สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย