อำนาจของรส (วาตมิคชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระจูฬปิณฑิกปาติกติสสเถระ ผู้ติดในรสตกอยู่ในอำนาจนางวัณณทาสี ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี มีชายเฝ้าสวนหลวงของพระเจ้าพรหมทัตคนหนึ่งชื่อว่า สัญชัย ในสวนหลวงนั้นจะมีเนื้อสมันตัวหนึ่งแวะแอบมากินหญ้าอยู่เป็นประจำ เมื่อมันเจอนายสัญชัยก็จะวิ่งหนีเข้าป่าไป แต่เขาไม่เคยทำให้มันตกใจกลัวเลยสักครั้งเดียว จึงทำให้มันแวะเข้ามาในสวนหลวงนั้นบ่อย ๆ ในเวลาเช้าตรู่ทุกวัน นายสัญชัยจะนำผลไม้ชนิดต่างๆ ไปถวายพระราชาเป็นประจำ
วันหนึ่ง พระราชา ตรัสถามเขาว่า " เธอได้เห็นความอัศจรรย์อะไร ในสวนหลวงบ้างไหม ? "
เขาจึงกราบทูลไปว่า " ไม่พบสิ่งใดเลย พระเจ้าค่ะ มีเพียงเนื้อสมันตัวหนึ่ง แวะเวียนมาแทะหญ้าในสวนหลวง พระเจ้าค่ะ "
พระราชาตรัสถามว่า " เธอสามารถจับมันได้ไหม ? "
เขากราบทูลว่า " ถ้าได้น้ำผึ้ง ข้าพระองค์ สามารถนำมันมาในพระราชนิเวศน์นี้ได้ พระเจ้าค่ะ "
พระราชา จึงรับสั่งให้มอบน้ำผึ้งแก่เขา เขานำน้ำผึ้งไปทาที่หญ้าตรงที่เนื้อสมันเคยมาเที่ยวกิน วันต่อมา เจ้าเนื้อสมันพอได้กินหญ้าเจือน้ำผึ้ง ก็ติดในรสชาติ จึงมาในที่นั้นทุกวัน เขาปรากฏตัวให้มันเห็นเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย ในสองสามวันแรกมันจะวิ่งหนีไป พอวันต่อๆมา มันเห็นเขาบ่อยๆ ก็เกิดความคุ้นเคย ถึงกับกินหญ้าที่อยู่ในมือของเขา เมื่อเขารู้ว่ามันคุ้นเคยแล้ว วันหนึ่ง จึงให้เอาเสื่อล้อมถนนไปจนถึงพระราชนิเวศน์ แล้วปักกิ่งไม้ไว้ตามเสื่อนั้น สะพายน้ำเต้าบรรจุน้ำผึ้ง โปรยหญ้าทาน้ำผึ้ง เดินนำหน้าเนื้อสมันเข้าไปในพระราชนิเวศน์ เมื่อมันเข้าไปภายในพระราชนิเวศน์แล้ว ผู้คนจึงปิดประตูเมือง เนื้อสมันนั้นเห็นผู้คนจำนวนมาก ก็ตัวสั่นกลัวความตายวิ่งไปวิ่งมาในพระลานหลวงนั้น
พระราชา เสด็จลงจากปราสาททอดพระเนตรเห็นเนื้อนั้นตัวสั่นอยู่ จึงตรัสว่า " ธรรมดา เนื้อย่อมไม่ไปยังที่มีคนเห็นตลอด ๗ วัน และจะไม่ไปยังที่ถูกคุกคามตลอดชีวิต แต่เจ้าเนื้อสมันป่าตัวนี้ ติดในรสน้ำผึ้ง จึงได้มาสู่สถานที่มีผู้คนมากเช่นนี้ ท่านทั้งหลาย ชื่อว่า สภาวะที่เลวกว่าความอยากในรส ไม่มีในโลก "
แล้วตรัสพระคาถาว่า
" ได้ยินว่า สภาวะอย่างอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลาย ย่อมไม่มี รสเป็นสภาวะที่เลว
แม้กว่าถิ่นที่อยู่ แม้กว่าความสนิทสนม นายสัญชัยผู้เฝ้าสวน นำเนื้อสมัน
ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทึบมาสู่อำนาจของตนได้ เพราะรสทั้งหลาย "
เมื่อตรัสแล้วจึงรับสั่งให้ปล่อยเนื้อสมันตัวนั้นเข้าป่าไปตามเดิม
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อย่าติดในรสชาติ เพราะไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าความอยากในรส
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม