การแผ่เมตตาทำอย่างไร

 asd    

" เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วต้องแผ่เมตตาทุกครั้ง"

กระผมไหว้พระสวดมนต์ทุกคืนไม่เคยขาดหากไม่จำเป็น ไม่เคยได้แผ่เมตตาเลยสักครั้ง เมื่ออ่านหนังสือเจอบอกว่า "เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วต้องแผ่เมตตาทุกครั้ง" กระผมจึงอยากแผ่เมตตาบ้างไม่ทราบว่าการแผ่เมตตาดังกล่าวทำอย่างไรครับ และการแผ่เมตตาที่ว่านั้นเป็นการแผ่เมตตาไปให้ใครครับ ท่านผู้รู้กรุณาได้ช่วยแนะนำให้กระผมด้วย ขอขอบพระคุณครับ





เข้าสู่จตุตถฌานแล้วน้อมใจแผ่เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขาไปยังสัตว์โลกทั้งหลายในทุก ๆ ทิศ
อย่างนี้เรียกว่าการแผ่เมตตา หรือการเจริญเมตตา หรือการเจริญพรหมวิหาร 4 เจ้าค่ะ

การเจริญเมตตา หรือการเจริญพรหมวิหาร 4 ที่ยังไม่มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เรียกว่าการเจริญพรหมวิหาร 4 เป็นโลกียะ
การเจริญเมตตา หรือการเจริญพรหมวิหาร 4 ที่ประกอบด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสสังโยช์ เรียกว่าการเจริญพรหมวิหาร 4 เป็นโลกุตตระเจ้าค่ะ


เจริญในธรรมเจ้าค่ะ



ในแง่ของเจตนา แผ่เมตตานั้น คือทำความสุขให้เกิดในจิตตนเองก่อน จะด้วยวิธีการทำสมาธิ หรือไปทำบุญที่ไหนก็ตาม แล้วให้กระแสสุขแผ่ออกกว้างๆ ไม่จำกัดเฉพาะในตัวเรา เหมือนคนมีเงินมากแล้วใจบุญอยากแจกจ่ายให้คนอื่นได้มั่งมีตามตน ขณะที่มีความสุข มีความปลื้มปีติมากๆ จะสังเกตว่าใจเรากว้างขวาง เขาถึงเรียกว่า "คนใจกว้าง" ด้วยมูลความจริงทางจิตเช่นนี้

ในแง่ของผลลัพธ์ การแผ่เมตตาจะทำให้จิตเยือกเย็นสบายเป็นปกติ ระงับความพยาบาทได้ดี เหมาะกับผู้มีโทสะเป็นเจ้าเรือน เมื่อจะพิจารณาโทสะในจิตแบบจิตตานุปัสสนา ก็จะเห็นว่าคลื่นโทสะไม่ใหญ่เกินกำลังสติรู้ชัด พูดง่ายๆว่ามีตัวหนุนสติอยู่ก่อนคือเมตตาเป็นฐาน

การแผ่เมตตานั้นมีผลกับผู้รับจริง เหมือนสาดน้ำเย็นไป แม้คนไม่รู้ตัวก็เย็นด้วย แต่กระแสเมตตาของแต่ละคนจะต่างกัน ถ้ามาจากพวกโทสจริต แม้กระแสเมตตาก็ร้อนหรืออุ่น แต่ถ้ามาจากคนที่เข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง จะให้กระแสปลอดโปร่งโล่งสบาย ชุ่มฉ่ำกายใจเป็นอันมาก

บทคาถาว่าด้วยการแผ่เมตตา


คาถาแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพพะยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

http://www.84000.org/pray/matta.shtml


แผ่เมตตาให้ผู้อื่นนั้นพอเข้าใจ
มีท่านผู้รู้ได้แนะนำว่าให้แผ่เมตตาให้ตัวเองด้วย

แล้วแผ่เมตตาให้ตัวเอง..อย่างไร? และเพื่ออะไรคะ?


แผ่เมตตาให้ผู้อื่นนั้นพอเข้าใจ มีท่านผู้รู้ได้แนะนำว่าให้แผ่เมตตาให้ตัวเองด้วย

เรื่องการแผ่เมตตานั้น หากจะสงเคราะห์เข้าในทำนองเดียวกับการเจริญเมตตาภาวนานั้นก็น่าจะไปกันได้ ท่านได้แสดงเรื่องการเจริญ เมตตา ไว้ว่า อารมณ์ของเมตตาต้องเป็น ปิยมนาสัตวบัญญัติ คือ สัตว์ที่เป็นที่รักที่ชื่นชมและพอใจเป็นอารมณ์ จึงจะเรียกว่า เมตตา

สมควรแผ่เมตตาให้ตนเองก่อนอยู่เสมอๆ ความไม่อยากตาย ต้องการสุข เกลียดทุกข์ อยากอายุยืนที่มีอยู่ประจำใจตนเองนั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นพิเศษ แล้วจะนึกเปรียบเทียบไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เหมือนตนทุกประการ
ด้วยเหตุนี้แหละ จะทำให้เมตตาเกิดขึ้นได้จริงๆก่อน แล้วตั้งมั่นขึ้น แล้วจึงค่อยๆแผ่เมตตาไปให้คนอื่นๆและสัตว์อื่นๆทีหลัง
จึงควรเริ่มต้นที่เมตตาตนเองก่อน ฉะนั้น ผู้ที่รักตนย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น..

การแผ่เมตตาให้แก่ตนแล้ว ก็พึงลำดับการแผ่เมตตาไปยังบุคคลต่อไปนี้
1. บุคคลอันเป็นที่รัก
2. บุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง
3. บุคคลที่ไม่รัก ไม่ชัง
4. บุคคลที่เป็นศัตรูกัน

คาถาแผ่เมตตาตนเอง
อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พันจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด



เมตตา ก็เป็นกุศลที่มีหลายระดับตามกำลังปัญญา

กุศลจิตที่หวังดีก็เป็นเมตตา แต่เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วก็ดับไป ไม่มีกำลัง

แต่กุศลจิตที่เป็นเมตตาที่อบรมบ่อยๆ จนตั้งมั่นอย่างมากถึงระดับอัปนาสมาธิ(ณาณ) จะมีกำลังจนสามารถแผ่ไปได้กับสัตว์ทุกหมู่เหล่า เพราะมีกำลังมาก

แต่กุศลจิตเมตตาเพียงเล็กน้อย แม้ยังแผ่ไม่ได้เพราะไม่มีกำลัง ถึงกระนั้นก็ยังให้ผลให้อานิสงค์มากมายอย่างอัศจรรย์ทีเดียว








พรหมวิหารนิเทส (พรรณาพรหมวิหาร ๔)

บุคคลที่ควรแผ่เมตตาให้เป็นอันดับแรก
บุคคลที่ควรแผ่เมตตาให้ก่อนคือ ตนเอง ผู้บำเพ็ญเพียรพึงแผ่เมตตาให้ตนว่า ขอเราจงมีความสุขเถิด ขอเราจงปราศจากทุกข์เถิดดังนี้เป็นต้น การที่ท่านสอนให้แผ่เมตตาให้ตนก่อนก็เพื่อจะได้ถือตนเป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

“มองดูไปทั่วทิศแล้ว พิจารณาไม่เห็นใครอื่นอันจะเป็นที่รักยิ่งไปกว่าตน คนอื่น สัตว์อื่นก็ย่อมรักตนเองมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น”

เมื่อทำตนให้เป็นพยานดังนี้แล้ว การที่จะแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นก็จะสะดวกขึ้นมาก จริงอยู่ การแผ่เมตตาให้ตนเอง แม้จะแผ่อยู่สัก ๑๐๐ ปี ก็ไม่ทำให้จิตถึงอัปปนา (ความแน่วแน่) ได้ แต่ที่ท่านสอนให้เจริญเมตตาในตนก่อนก็เพื่อให้ทำตนเป็นพยานเท่านั้น ต่อจากนั้นก็แผ่ไปถึงคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่รัก หรือคนมีเวรต่อกัน แต่ทางที่ดีควรแผ่ไปยังคนที่มีอุปการคุณก่อน เช่น มารดา บิดา อุปัชฌาย์อาจารย์ ต่อจากนั้นก็แผ่ไปยังคนที่รัก คนเฉยๆ และคนที่มีเวรต่อกัน

การแผ่เมตตาไปยังคนมีเวรต่อกันมีอุปสรรคมาก เพราะยากที่จะทำใจให้ละมุนละไมได้ ความเคียดแค้นชิงชังมักจะเกิดขึ้นก่อนเสมอ ดังนั้น เมื่อประสบอุปสรรคอย่างนี้พึงคำนึงถึง พระพุทโธวาทที่พระพุทธเจ้าเคยทรงประทานไว้ เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามหาโจรโหดเหี้ยมจะพึงเลื่อยเธอออกเป็น ๒ ท่อน ถ้าเธอยังมีจิตคิดประทุษร้ายในโจรนั้นอยู่ ก็ชื่อว่ามิได้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา”

อนึ่ง การที่เราโกรธผู้อื่น หาทำให้เขามีความเดือดร้อนอย่างใดไม่ แต่เรากำลังทำร้ายและทำลายตัวเอง ความโกรธแค้นย่อมทำลายจิตใจของผู้โกรธนั่นเอง ทำไมเล่าเราจึงทำลายตัวเอง โดยยอมให้ความโกรธครอบงำ

ถ้าพิจารณาแบบนี้แล้ว ความโกรธ เกลียด ยังไม่ระงับไป ท่านสอนให้พิจารณาถึง

กัมมัสสกตา คือความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง ใครทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับมรดกแห่งกรรมนั้น

เขาโกรธเรา ทำร้ายเราก็เป็นกรรมของเขาเอง ถ้าเราโกรธเขาทำร้ายเขาก็ชื่อว่า เราก่อกรรมให้แก่ตัวเราเอง

(ถ้าความโกรธยังไม่ระงับ ให้ระลึกถึงถึงจริยาของพระศาสดา และระลึกถึงความสัมพันธ์กันระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ – สามารถหารายละเอียดได้ในพระไตรปิฏก)

ควรนึกถึงอานิสงส์เมตตา
ลำดับนั้น พึงระลึกถึงอานิสงส์เมตตาตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ๑๑ ประการคือ

๑. ผู้มีเมตตาย่อมหลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์
๖. เทวดาคุ้มครองรักษา
๗. ไฟ ศัสตรา หรือยาพิษทำร้ายมิได้
๘. จิตเป็นสมาธิได้เร็ว
๙. สีหน้าเปล่งปลั่ง ผ่องใส
๑๐. เมื่อจะทำกาลกิริยา ย่อมไม่หลงตาย
๑๑. หากยังมิได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง (อริยผล) ย่อมเข้าถึงพรหมโลก

การแยกธาตุ
ถ้าใจยังไม่สงบระงับ พึงแยกธาตุ คือพิจารณาบุคคลที่ตนโกรธเกลียดว่า เราโกรธอะไรเขา โกรธผม หรือขน หรือเล็บ, ฟัน, หนัง ธรรมดาบุคคลนั้นประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราโกรธธาตุดินของเขา หรือธาตุน้ำ ธาตุลม หรือ ธาตุไฟ โดยแท้จิรงแล้ว บุคคลและสัตว์ไม่มี มีแต่เพียงธาตุเท่านั้น เราจะโกรธธาตุทำไมเล่า

การให้ของ
ถ้าผู้บำเพ็ญเพียรระลึกอยู่อย่างนี้ ความโกรธแค้นยังไม่หายไป จิตใจไม่อาจสงบลงได้ ต่อแต่นั้นพึงกระทำโดยอุบายอันฉลาด คือให้ของแก่เขา หรือรับของจากเขาท่านกล่าวว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ ความโกรธของเราก็จะหายไป หรือความโกรธของเขาแม้จะติดแน่นมาหลายชาติก็จะระงับลง

การขยายเขตของเมตตา
เมื่อใจสงบลง เห็นคนที่มีเวรต่อกันเหมือนมิตรรักของตนแล้ว ผู้บำเพ็ญเพียรควรแผ่เมตตาให้กว้างออกไปๆ จนไม่มีขอบเขต พึงมีเมตตาเสมอกัน ทั้งในตนเอง คนที่รัก คนเฉยๆ และในคนที่เคยชัง ถ้าหากมีโจรมาขอตนๆ หนึ่งใน ๔ คน เพื่อเอาเลือดในลำคอบวงสรวงเทพเจ้าก็ไม่ควรเลือกใครๆ ให้ ควรให้โจรเลือกเอาเอง ดังนี้ชื่อว่าเมตตาของเธอมีเสมอกันในบุคคลทั้งปวง มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเสมอด้วยตนเอง

ต่อจากนั้นพึงแผ่เมตตาไปยังทิศทั้งปวงไม่มีขอบเขตจิตของเธอก็จะถึงซึ่ง อัปปนา คือ ฌาน

การแผ่เมตตา ๒ วิธี
๑. แผ่โดยเจาะจง เรียกว่า โอธิสสผรณา
๒. แผ่โดยไม่เจาจง เรียกว่า อโนธสสผรณา

ตัวอย่างการแผ่เจาะจง เช่น ออกชื่อคน หรือ จำกัดเพศ เช่น ขอหญิงทั้งปวงจงมีความสุข ขอชายทั้งปวงจงมีความสุข ฯลฯ

แผ่โดยไม่เจาะจง เช่น ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข ขอมนุษย์ทั้งปวงจงมีความสุข ฯลฯ


สิ่งที่พรหมวิหารฆ่าและสิ่งควรระวัง
เมตตาพรหมวิหาร มีคุณสมบัติในการฆ่าพยาบาท สิ่งควรระวังคือความรักความเสน่หา เพราะเมตตาใกล้กับความรักเหลือเกิน

คำของพระสารีบุตร
พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า

“อาวุโส! เมตตาเจโตวิมุติเป็นเครื่องสลัดทำลายพยาบาท กรุณาเจโตวิมุติเป็นเครื่องสลัดทำลายวิหิงสา มุทิตาเจโตวิมุติเป็นเครื่องทำลายอรติความไม่ยินดีไม่พอใจ อุเบกขาเจโตวิมุติเป็นเครื่องทำลายราคะ”

ข้าศึกใกล้และไกลของพรหมวิหาร
ท่านกล่าวว่า ข้าศึกใกล้ของ เมตตา คือ ราคะ


พรหมวิหารนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัปปมัญญา แปลว่า ไม่มีประมาณ คือ แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยไม่มีขอบเขต การแผ่เมตตาเป็นต้นนั้น ที่แรกๆ ท่านให้แผ่เมตตาในวงแคบๆ ก่อน เช่น พระภิกษุก็แผ่ไปในอาวาสหนึ่ง แล้วค่อยขยายอาณาเขตให้กว้างออกไปๆ เป็น ๒ อาวาส ๓-๔-๕-๖ .. จนถึงทั่วจักรวาล

เบื้องต้นของพรหมวิหาร คือ ความพอใจที่จะทำท่ามกลาง คือ การข่มนิวรณ์ได้ ส่วนที่สุด คือ อัปปนา หมายถึงการเข้าฌานซึ่งพรหมวิหารเป็นอารมณ์

จากหนังสือ "สาระสำคัญแห่งวิสุทธิมรรค" โดย วศิน อินทสระ

๚๛


การแผ่เมตตาให้ผู้อื่น กับการแผ่เมตตาให้ตนเองนั้น ทำอย่างไร ?

การให้ทาน ผู้ให้ทานต้องมีวัตถุทานเสียก่อนจึงจะให้ทานได้ เมตตาก็เหมือนกัน ต้องมีในตนเสียก่อนจึงจะแผ่ (ให้) เมตตาได้

เมตตาเกิดที่ใจ สร้างที่ใจ ไม่ใช่เกิดได้ด้วยการท่องจำ สาธยายมนต์ เมตตานั้นเกิดจากการคิด การพิจารณา การใช้ปัญญา ใคร่ครวญ ถึงเหตุถึงผล เช่น :-

โชคดีแท้ที่ตนเองเกิดมาเป็นมนุษย์ มีอาการครบสามสิบสอง มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ได้ พบพระพุทธศาสนา ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยนับเป็นโชคลาภอันประเสริฐ ผิดกับอีกหลายพันล้านคน เมื่อคิดได้ดั่งนี้ ก็ควรนำเอา กาย วาจา ใจ นี้ไปทำในสิ่งที่ดี ละชั่ว เพื่อให้ตนเองสวัสดี ทำบ่อย ๆ คิด พิจารณาบ่อย ๆ ใคร่ครวญให้มาก ไม่นานก็ใจก็เห็นตามเหตุตามผล ใจก็สงบ ใจก็เย็น นี่แหละคือใจที่มีเมตตา เมื่อทำได้ดั่งนี้ ก็เรียกว่าการแผ่เมตตาให้ตน การสร้างเมตตาในตน

เมื่อตนมีเมตตาแล้วการแผ่เมตตาให้ผู้อื่น สัตว์อื่นก็ง่าย พียงแค่คิดไปอีกแบบ คิดไปอีกอย่าง เช่น :-

คนอื่น สัตว์อื่น เกิดมาก็เพราะกรรมจึงไม่เหมือนกัน ในสภาพแวดล้อมที่ดี เลว ต่างกัน เกลียดทุกข์ รักสุขเหมือนกัน ทำไมจึงต้องรังแกกัน เบียดเบียนกัน ให้ร้ายป้ายสีกัน เหยียบย่ำทำลายกัน เราอยากเป็นคนดี อยากร่ำรวย อยากมีชื่อเสียง เขาก็เหมือนกันรักอย่างเดียวกัน ตกอยู่ในวังวนของวัฏสงสาร อยากพ้นทุกข์ พบสุขเหมือนกัน แต่ทำไม่ได้ ต้องเห็นใจกัน ต้องเมตตากัน เพราะกรรมบังคับไว้ อยู่ในกฎแห่งกรรมอันเดียวกัน นี่แหละคือ การแผ่เมตตาให้ผู้อื่น สัตว์อื่น

การแผ่เมตตานั้น ผู้ให้ได้ก่อน เย็นก่อนเสมอ ผู้อยู่ใกล้ก็เย็น เมตตานั้นปกป้องภัยอันตรายได้มากมาย

เจริญธรรม




วันหนึ่งสามารถแผ่เมตตาได้กี่ครั้งก็ได้ ไม่จำเป็นว่าสวดมนต์เท่านั้น เมื่อเราเดินจงกรม หรือนั่งวิปัสสากรรมฐานเสร็จแล้ว ก็สามารถแผ่เมตตาได้ทุกครั้ง จากการที่ได้ไปปฏิบัติธรรมา ใช้หลักเดินจงกรม 20 นาที ยืน 20 นาที และนั่งสมาธิ 20 นาที ครบ 1 ชั่วโมงพอดี ออกจากสมาธิก็แผ่เมตตาได้เลย หากเรามีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมที่วัดแล้ว ในหนึ่งวัน พอเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงต่าง ๆ ก็สามารถปฏิบัติแบบข้างต้นได้ทุกครั้งเจ้าค่ะ...เป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่งเจ้าค่ะ...เจริญในธรรม


ธรรมะจากหลวงพ่อ เรื่องที่ 493
http://dhammathai.org/store/talk/index.php
******************************************
การมีเมตตาที่ถูกต้อง

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ

"มีเมตตาต่อเขาผู้เป็นทุกข์นั้นดีนัก แต่อย่าลืมเมตตาตน
ตนเองปล่อยให้ใจตัวเองเป็นทุกข์ เพราะเมตตาเขา
ไม่มีอำนาจใดจะไปสู้กับอำนาจธรรมของใครได้
เมื่อเชื่อในเรื่องอำนาจกรรมเช่นนี้ ใจที่มีเมตตาก็จะเป็นการมีเมตตาอย่างถูกต้อง อย่างมีปัญญา
ไม่พาใจตนเองไปสู่ความเร่าร้อนด้วยความเมตตาที่ไม่ถูกต้อง"

ที่มา : หนังสือ "ธรรมะพระอริยสงฆ์" สำนักพิมพ์คอมม่า
ppornpet [DT01342] [ วันอังคาร ที่ 2 ธันวาคม 2551 เวลา 11:40 น. ]


 4,313 

  แสดงความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย