กราบเรียนถามว่า ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นที่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศลที่ญาติๆทำบุญอุทิศไปหามีอะไรบ้าง และที่ไม่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศลที่ญาติทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้มีอะไรบ้าง
(ท้ายๆคำถามที่ว่ามีอะไรบ้างนั้น กระผมถามไม่เป็นครับว่าจะใช้คำถามนี้ว่าอย่างไร เพราะหากจะถามว่าจะมีใครบ้างก็กลัวถามไม่ถูกเพราะตายไปแล้ว หากคำถามท้ายๆที่ว่ามีอะไรนั้นผิดช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ)
ในส่วนของบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วนั้นถ้าญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทำบุญอุทิศไปให้ก็ได้รับหมดครับส่วนการทำบุญมี3อย่างหลักๆครับคือ ทาน(การให้) ศิล(การรักษาศิล)ภาวนา(การทำสามธิวิปัสนา)ซึ่งการภาวนานั้นได้บุญมากที่สุดครับและสามารถที่จะอุทิศให้กับทุกคนทั้งที่มีชีวิตอยู่และที่ตายไปแล้วครับและนอกจากนั้นยังอุทิศให้กับคนที่ฆ่าตัวตายได้อีกด้วยซึ่งต่างจาก ทาน และศิล
ขอความกระจ่างของคำถามก่อนครับ เพื่อให้กัลยาณมิตรทั้งหลายเข้าใจ
และตอบได้ตรงคำถาม
ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นที่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศลที่ญาติๆทำบุญอุทิศไปหามีอะไรบ้าง
คุณ asdต้องการถามว่าอะไรครับในข้อต่อไปนี้
1. ประเภทของสัตว์หลังจากตายแล้วเกิดเป็นอะไร? เช่น เป็นพรหม มาร เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย หรือสัตว์นรก (ถามถึงประเภทของสัตว์)
2. กุศลชนิดใดบ้างที่อุทิศให้ผู้อื่นและเขารับได้ใหม (ถามถึงประเภทของกุศล)
3. ของที่ใช้ในการทำบุญเช่นข้าว น้ำของหอม ยาฯลฯ
๔. ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ
ว่าด้วยการทำบุญอุทิศให้เปรต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
[๘๙] บุคคลผู้ไม่ตะหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือปรารภถึงบุรพเปตชน
เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก ผู้มียศ คือ
ท้าวธตรัฐ ๑ ท้าววิรุฬหก ๑ ท้าววิรูปักษ์ ๑ ท้าวกุเวร ๑ ให้เป็นอารมณ์
และพึงให้ทาน ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อันบุคคลได้บูชาแล้ว และทายกก็ไม่
ไร้ผล ความร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้อย่างอื่น ไม่ควรทำ
เลย เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับ
ไปแล้ว ญาติทั้งหลายคงตั้งอยู่ตามธรรมดาของตนๆ อันทักษิณาทานนี้
ที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ให้แล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุรพเปต-
ชนโดยทันที สิ้นกาลนาน.
จบ ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุที่ ๔.
เมื่อเราไม่อาจรู้ได้ว่า บุรพชน หรือผู้ล่วงลับนั้น ไปเกิดในภพภูมิใด
การทำบุญอุทิศส่วนกุศล ไปให้ จะถึงหรือไม่นั้น ก็ไม่ไร้ผล
เพราะถ้าหาก บุรพชนนั้น เกิดอยู่ในเปตภพ ทักษิณาทาน ย่อมสำเร็จแก่บุรพเปตชนโดยทันที
ถ้าหากเกิดในภพอื่น เช่นเทวดาชั้นต่างๆ เพราะกุศลที่เคยทำไว้ส่งผลก่อน แต่หากกุศลนั้นสิ้นลง เป็นอันต้องจุติจาก ภพนั้นมาสู่เปตภูมิ ทักษิณาทานนั้นก็ให้ผลรออยู่ด้วยเจตนาทานนั้น
และการให้ทานด้วยความไม่ตระหนี่ แม้แต่ ทายกเอง ก็ไม่ไร้ผลเช่นกัน
เจริญธรรม
เมื่อจิตใจของกระผมยังวนเวียนอยู่แค่การเกิด แก่ เจ็บ และตายอยู่อย่างนี้ ในเมื่อคนที่รักต้องจากไปและด้วยความรักความอาลับที่กระผมต้องยอมรับว่ายังตัดยังไม่ขาด กระผมต้องการถามในข้อที่ 3 ครับ ที่ว่าของใช้ต่างๆ อาหารการกิน ที่ทำบุญอุทิศไปให้นั้นจะได้รับหรือไม่อย่างไรครับ กราบขอบพระคุณที่เมตตาครับ
asd
ถ้าผู้เป็นที่รักที่อาลัย ปฏิสนธิในเปตภูมิ ทักษิณาทานนี้
ที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ให้แล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปต-
ชนโดยทันที .
(ไทยธรรม ทั้งหลาย ล้วนแต่อุทิศได้หมด แต่อย่าลืม แสดงเจตนาเจาะจงเฉพาะว่าจะอุทิศแก่ผู้ใด)
เจริญธรรม
แนวทางของการอุทิศบุญและรับส่วนบุญมาจากหลาย ๆ ปัจจัยคร่าว ๆ นะคะ
1. ภพภูมิของผู้รับบุญ ส่วนใหญ่ผู้ที่รับการอุทิศบุญของเราได้มักจะเป็นผู้ที่ไปจุติในภพภูมิที่ใกล้ๆ กับภพภูมิมนุษย์ เช่นเปรตบางประเภท เทวดาบางประเภทเท่านั้น หากเป็นเทวดาชั้นสูง ๆ การจุติของเทพเหล่านั้นที่ชั้นสูงมากๆ จะมีของใช้ต่าง ๆ ที่เป็นทิพย์อยู่แล้ว การอุทิศบุญของเราจึงหยาบกว่า เขาเหล่านั้นจึงไม่ได้นำไปใช้ ส่วนเปรตบางประเภทที่อาจไม่ได้รับ ยังไม่ได้มีจิตที่เป็นกุศลเพียงพอที่จะรับการอุทิศบุญของเรา ส่วนนรกก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกข์มากจนรับอะไรไม่ได้เลย
2. ประเภทของบุญ หากเป็นประเภททานทั่ว ๆ ไป ก็จะรับได้ง่ายกว่าสำหรับผู้ที่จุติภพภูมิไม่สูงนัก ส่วนบุญประเภทศีล ภาวนาผู้ที่จุติในภพภูมิสูง ๆ จะได้รับเต็ม ๆ กว่า
อย่างไรก็ตาม บุญทั้งหลายที่เราได้อุทิศไป แม้ว่าเราตั้งใจจะให้แล้ว แม้เขาจะได้รับหรือไม่ เราก็ได้บุญไปเต็ม ๆ แน่นอน คือเรียกได้ว่าสามารถสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับได้น่ะค่ะ เพราะฉะนั้นทำดี อะไรที่เป็นบุญได้ก็ทำไปเถอะ...
อนุโมทนาด้วยนะคะ ^-^
การอุทิศส่วนกุศล คือการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เช่น เราเคยใส่บาตร สร้างวัด สร้างพระ ถวายสังฆทาน เรามีบุญเกิดขึ้นแล้ว เราก็อธิษฐาน ว่าบุญนี้เรามีแล้ว ก็ขอให้ผู้อื่นได้รับบุญนี้
ผู้ใด ทำบุญถวายทาน แก่พราหมณ์ หรือนักบวชผู้ประพฤติในศีล และธรรมทั้งหลาย แล้วเธออุทิศส่วนกุศลนี้ไปในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องขวาง ไปตลอดทิศน้อย ไปตลอดทิศใหญ่ ไปตลอดในทิศเบื้องล่าง เธอมีใจอันไม่มีประมาณ แผ่ไปอย่างกว้างไกลไพศาล หาขอบเขตมิได้ เช่นนี้อยู่ เหล่าดวงวิญญาณทั้งหลาย ย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศล อันเธออุทิศให้แล้ว ดวงวิญญาณเปรต อสุรกาย อันเป็นบิดามารดาของบุคคลทั้งหลาย มายืนอยู่หน้าเรือน ณ.ที่ทางสามแพร่ง สี่แพร่ง เพื่อขออาหาร จากบุตรหลานทั้งหลาย แม้เธออุทิศส่วนบุญให้แล้ว เปรตวิสัยทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมได้รับส่วนบุญเป็นอาหาร เขาย่อมหลุดออกจากความหิวโหย จากความทุกข์ทรมาน เปรตเหล่านั้น ต่างพากันเปล่งอนุโมทนา ยกมือประณมขึ้น แล้วกล่วาว่า ขอบุตรหลานของเรานี้ ซึ่งทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เรา จงมีความสุข จงได้รับความคุ้มครอง จงอิ่มเอมเปรมปรีด์ ดังเช่นดังนี้ด้วยเถิด แม้เหล่าเทวดาทั้งหลาย ผู้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล ย่อมเปล่งอนุโมทนาแก่เธอ แล้วย่อมคุ้มครองเธอ เสมือนมารดาคุ้มครองบุตร ดังนี้แล้ว บุคคลทั้งหลาย พึงกระทำการให้ทานอันบริบูรณ์ แล้วอุทิศส่วนกุศลนั้น แก่ดวงวิญญาณทั้งหลาย ในทุกทิศเถิด
จากพระสุตตันตปิฎก...
เห็นอย่างนี้ไหมครับว่า ขนาดทำบุญให้ผีเปรตที่อยู่ตามทางสามแพร่ง สี่แพร่ง พวกเขายังยกมือประณม แล้วเปล่งให้พรท่านให้มีความสุข ขนาดผีเปรต ยังสำนึกในบุญคุณเลยครับ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าผีเปรต จะเอาส่วนบุญเรา ไปทำร้ายใคร ๆ เพราะเขาเป็นผู้เปล่งอนุโมทนา เสมือนว่าเขาได้ทำบุญนั้นเหมือนกับที่ท่านทำ เหมือนท่านไปทำสังฆทาน แล้วมีเพื่อนพรหมจารี ไปทำกันด้วยหลาย ๆ คน บุญท่านหายไหม ไม่หายเลย แต่ทุกคนที่ร่วมอนุโมทนาบุญ ได้บุญเหมือนกันหมด พอท่านได้กลับบ้าน ไปแล้วบอกกับ คนที่ไม่ได้ไปว่า ผมเอาบุญมาฝาก วันนี้ไปทำสังฆทานมามีความสุขมาก เพื่อนคนนั้นก็กล่าวกะท่านว่า ขอบคุณ ดีใจด้วย เท่านี้เพื่อคนนั้นก็จะได้บุญด้วยอีกคนหนึ่งเสมือนว่าเค้าได้ไปถวายสังฆทานด้วยมือของเค้าเลย การอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณ ก็เหมือนกัน
http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=25&A=155&Z=194&pagebreak=0
ติโรกุฑฑกัณฑ์ในขุททกปาฐะ
เจริญธรรม
ใครสามารถที่จะรับการอุทิศส่วนกุศลได้ ?
ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ชาณุสโสณีสูตร พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่มที่ ๓๘ หน้าที่ ๔๓๕ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย มีใจความว่า [๑๖๖] ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณีพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านโคดมผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าได้นามว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน ย่อมทำความเชื่อว่า ทานนี้ต้องสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสายโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วจงบริโภคทานนี้ ท่านโคดมผู้เจริญ ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วหรือญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นย่อมได้บริโภคทานนั้นหรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จในฐานะแล ย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ. ชา. ท่านโคดมผู้เจริญ ฐานะเป็นไฉน อฐานะเป็นไฉน พ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในนรกนั้น ด้วยอาหารของสัตว์นรก ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นอฐานะ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้นย่อมตั้งอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกมนุษย์ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพในมนุษยโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในมนุษย์นั้นด้วยอาหารของมนุษย์ ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แลก็เป็นอฐานะ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยอาหารของเทวดา ดูก่อนพราหมณ์ แม้ฐานะเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แลก็เป็นอฐานะ. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัย ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่ามิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของเขา ย่อมเพิ่มให้ซึ่งปัตติทานมัยจากมนุษยโลกนี้ เขาเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยปัตติทานมัยนั้น ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ. ชา. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น. พ. ดูก่อนพราหมณ์ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้น ที่เข้าถึงฐานะนั้นมีอยู่ ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น.
ชา. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของทายกนั้นก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น พ. ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาลช้านานเช่นนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ อีกประการหนึ่ง แม้ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล.........
จากในพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ผู้ที่จะสามารถรับการอุทิศได้อย่างแท้จริงคือเปรต จำพวกเดียวเท่านั้น และในอดีตชาติช้านานหมู่ญาติที่ไปเกิดเป็นเปรตก็มีมากมาย ผู้ที่ไปเกิดในนรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา ไม่สามารถจะรับส่วนกุศลได้โดยตรง สัตว์นรกก็มีวิบากกรรมของเขาเป็นที่หล่อเลี้ยงอัตภาพ สัตว์เดรัจฉานก็มีอาหารของสัตว์ตามอัตภาพของเขา เช่น ใบไม้ใบหญ้าเป็นต้น มนุษย์ก็ดำรงชีพด้วยอาหารตามอัตภาพของมนุษย์ที่เราเป็นกันอยู่นี้ เทวดาท่านมีโภชนะทิพย์ตามผลบุญที่ท่านเสวย และการอุทิศนั้นบุญของผู้อุทิศก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงแต่กลับจะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น คือได้ทำทั้งทานมัย และ ปัตติทานมัย ( การอุทิศส่วนกุศล )
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?p=81859
กราบขอบพระคุณทุกๆท่านที่เมตตาให้คำตอบครับ สบายใจขึ้นครับ
จากคำตอบอื่นๆพอเข้าใจบ้างแล้วครับ คือเข้าใจส่วนที่ว่า ประเภทของบุญ หากเป็นประเภททานทั่ว ๆ ไป ก็จะรับได้ง่ายกว่าสำหรับผู้ที่จุติภพภูมิไม่สูงนัก แต่กระผมยังมีข้องสงสัยคำตอบที่ว่า.-------" ส่วนบุญประเภทศีล ภาวนาผู้ที่จุติในภพภูมิสูง ๆ จะได้รับเต็ม ๆ กว่า "-------- สงสัยว่าบุญกุศลประเภทศิล ภาวนานั้นจะอุทิศไปให้แก่ผู้ล่วงรับให้ได้รับนั้นต้องอุทิศอย่างไรครับหรือทำอย่างไรครับ ขอท่านผู้รู้ได้เมตตาให้คำตอบอีกครั้งครับ กราบขอบคุณเป็นอย่างสุงครับ
ขออธิบายง่าย ๆ อย่างนี้นะคะว่าในแง่ของการทำบุญ เราให้สิ่งใดก็จำเป็นต้องเลือกสิ่งที่ให้ให้เหมาะกับผู้รับ หากผู้รับขาดแคลนข้าว น้ำ ที่อยู่อาศัย แต่เรากลับให้รถหรู ๆ เขาไปขับซักคัน มันก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่สำหรับบุคคลนั้นถูกมั๊ยคะ ซึ่งในการอุทิศบุญ เราเองก็อาจไม่ทราบได้ชัดว่าบุคคลผู้รับกำลังเหมาะกับการรับบุญประเภทใดอยู่ แต่อย่างไรก็ตามหากบุญพื้น ๆ เขาสามารถสำเร็จประโยชน์ได้แล้ว เขาก็สามารถรับประโยชน์ในบุญที่มีความละเอียดขึ้นไปอีกได้น่ะค่ะ ในแง่ทั้งผู้ที่ต้องการอุทิศบุญและผู้รับบุญก็ควรทำไปให้ครบนั่นแหละค่ะดีที่สุด เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เขาสำเร็จประโยชน์ในปัจจัยพื้นฐานได้แล้ว บุญที่ละเอียดขึ้นไปก็สามารถอนุโมทนาได้ทันที อันนี้ขอเสริมเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 10 ซักหน่อยนะคะ ทำทั้งหมดนี้มีความหยาบละเอียดต่างกันไป แต่ทำทั้งหมดได้ยิ่งดีนะคะ ^-^
บุญกิริยาวัตถุ 10
การทำบุญในพุทธศาสนา 10 อย่าง คือ
1.ทานมัย บุญสำเร็จด้วย การบริจาคทาน
2.ศีลมัย บุญสำเร็จด้วย การรักษาศีล
3.ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วย การเจริญภาวนา
4.อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วย การประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
5.เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วย การช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ
6.ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วย การให้ส่วนบุญ
7.ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วย การอนุโมทนาส่วนบุญ
8.ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วย การฟังธรรม
9.ธรรมะเทศนามัย บุญสำเร็จด้วย การแสดงธรรม
10.ทิฎฐชุกรรม บุญสำเร็จด้วย การทำความเห็นให้ตรง
ควรทำความเข้าใจขั้นปรมัตถะของคำว่า บุญ-บาป เสียก่อน
แล้วจึงจะเข้าใจวิธีทำบุญ และวิธีละบาป
บุญบาปเป็นสังขตธรรม
หมายถึงว่า มันถูก"ปรุงขึ้น" จึงมีบุญหรือบาปเกิดขึ้น
ผู้ปรุงบุญคือจิต บาปบุญเป็นอาการของจิต
ดังนั้น
1.ทานมัย บุญสำเร็จด้วย การบริจาคทาน
.....คือการที่เรทำทานแล้ว จิตมีความสุข จิตปรุงบุญขึ้น
.....หากเราไม่ได้ยิน ไม่ทราบ ไม่เห็น จึงไม่ปรุงบุญขึ้น
2.ศีลมัย บุญสำเร็จด้วย การรักษาศีล
.......คือการที่เรารักษาศีลแล้ว จิตมีความสุข จิตปรุงบุญขึ้น
........หากเราไม่ได้ทำ จึงไม่ปรุงบุญขึ้น
3.ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วย การเจริญภาวนา
......คือการที่เราเจริญภาวนาแล้วจึงปรุงบุญขึ้น จิตมีความสุข จิตปรุงบุญขึ้น
.......หากเราไม่ได้ยิน ไม่ทราบ ไม่เห็น จึงไม่ปรุงบุญขึ้น
ที่เหลือ 7 ข้อ ก็คล้ายๆกัน
คือบุญบาปเกิดกจากการปรุงทั้งสิ้น
โดยอาศัยผลผลิตของอายตนะทั้ง 5 แล้ว นำผลผลิตเหล่านั้นมาเป้นปัจจุยในการปรุงสิ่งต่างๆขึ้น
บาปบุญ คือหนึ่งในสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นเหล่านั้น
การที่เราทำบุญให้ญาติ หากญาติไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่รู้ เขาย่อมไม่ได้รับบุญนั้น
แต่คนทำนั้น รู้อยู่ถ้วนทั่วแก่กายใจว่ากำลังทำบุญ
หรือเช่น หากเราบังเอิญเราเดินมาพบคนกำลังทำบุญถวายเงินสร้างโบสถ์ เราเห็น เราทราบ เรามีมุทิตาจิต ไม่ริษยา
เราจึงปรุงบุญขึ้น เราได้บุญ จิตแสดงอาการเป็นบุญ
แต่ในขณะเดียวกัน คนทำบุญที่เป็นคนถวายเงิน สมมุติว่าสัก 20 ล้าน
เขาก็ได้บุญ แต่เราไม่ได้ลงเงินสักบาทเดียว
บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา
เรามีมุทิตาจิต เราจึงปรุงบุญขึ้น
-----------------------------
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค
ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ
เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ ฯ
น้ำตกลงบนที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่ฝูงเปรตฉันนั้นเหมือนกัน.
ทานนั้น สำเร็จกับเปรตเท่านั้น เพราะเปรตยังสามารถมารับรู้บุญได้
แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเรารู้ได้อย่างไรว่าญาติไปเกิดเป็นอะไร
ผู้ที่จะรู้ได้ว่าใครเกิดเป็นอะไร ต้องมีญานวิเศษที่หยึ่งรู้ชาติกำเนิดของคนเมื่อตายไปแล้ว
เช่นพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์บางองค์ที่ได้ญานนั้น
ดังนั้น เราทำทานนั้น จึงไม่มีทางเลยที่จะทราบได้ว่าญาติได้รับหรือไม่
เราทำ"กันเหนียว"ไปอย่างนั้น
แต่ผลของทานนั้น บังเกิดผลแน่ๆคือคนที่รับทาน และคนทำทานที่ทำด้วยมุทิตาจิต
เช่น สงฆ์ได้รับประโยชนืจากทานที่ีเครื่องสังฆทานที่เราทำให้
เรามีความสุขที่ได้สนับสนุนสงเคราะห์พระสงฆ์ด้วยเครื่องทาน
สำหรับเจ้าของกระทู้นั้น
ผมอยากจะแนะนำว่า เลิกคิดว่าเราจะส่งอะไรให้ญาติ
มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะลงทะเบียนให้ถึงคนรับเหมือน EMS
เราไม่ทราบว่าเขาจะได้รับผลของทานหรือไม่
และโดยเฉพาะเมื่อเปรตเท่านั้นที่รับผลของทานได้
เปรตไม่ได้ครองขันธ์แบบมนุษย์
ทำแพนงแกงป่าให้ เขาก็กินไม่ได้ เผานาฬิกา โน๊ตบุ๊คให้ เขาก็ไม่ได้รับ
เขารับได้แต่อาหารทางจิต คือได้รับรู้บุญกุศลแล้วอนุโมทนารับไป
จิตเปรตจึงปรุงบุญขึ้น
อย่างไรก้ตาม
พระพุทธเจ้าก้บอกไว้ว่าทำไปเถอะ ยังไงเสีย ทานนั้นมันมีผลแน่นอน
ทำทาน ต้องทำเพราะมันเป็นบุญ ไม่ใช่ทำเพราะต้องการได้บุญ
ถ้าทำเพราะต้องการได้บุญนั้น เบื้องหลังคือตันหาความอยาก
หว่านพืช เพื่อหวังผล
ถ้าทำบุญเพราะมันเป็นบุญ หรือทำเพราะมันเป็นหน้าที่ความเคยชินนั้น
คือการที่พัฒนาจิตใจเราให้มีหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในสถาวะหนึ่งๆ
เช่น มีมุทิตาจิตเมื่อเห็นคนอื่นทำดี
ถ้าคนไม่ฝึกทำบุญ มันก้จะมีจิตสองแบบ
คือ เฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายอะไร
กับ ยินร้าย คือ เกิดความริษยาขึ้น
ซึ่งเป็นทางอบายด้วยกันทั้งคู่
เฉยๆคือตาบอดจากธรรม มองไม่เห็นควมดีอะไรของใคร จิตหยาบกระด้างในการมองโลก
ริษยาคืออกุศลจิต เป็นจิตบาป
แต่ผู้ฝึกทำบุึญเนืองๆ เมื่อประสบพบสถานการณ์ใดๆ ก้จะสามารถครองจิตให้อยู่ในสภาวะจิตกุศลได้เสมอๆ
เห็นคนตกทุกข์ก็เกิดเมตตา แทนที่จะเกิดความสมน้ำหน้า
เห็นคนทำดีก็มีใจยินดีในความดีนั้นๆ ไม่ใช่เกิดจิตริษยาอิจฉาขึ้น
แต่ถ้าทำบุญเพราะต้องการบุญ
มันก็เหมือนหว่านพืช เพื่อหวังผล
ถ้าไม่หวังผล ก็เลยไม่หว่านพืช
ดูให้ดีแล้ว มันไม่มีอะไรมากกว่าตันหา และการสนองตันหา
อยากได้ความดี เลยสนองตันหาด้วยการทำความดี
ทำบุญเพราะมันเป็นหน้าที่เถอะครับ
ธรรมะ คือ หน้าที่
ทำบุญ เพราะมันเป็นหน้าที่
ละบาป เพราะมันเป็นหน้าที่
เจริญจิตภาวนาเพราะมันเป็นหน้าที่
ทำให้มันเป็นหน้าที่ปกติธรรมดาในชีวิต
แล้วธรรมะมันจะให้ผลเองครับ
ถ้าทำด้วย"ความอยาก" อยากได้ อยากมี อยากเป็น
มันไม่ต่างอะไรกับที่เราทำๆอยู่เดิมเลยแม้แต่น้อย
http://84000.org/tipitaka/book/bookpn01.html#1
ความรู้เรื่องทาน
รักษาศีล หรือ เจริญภาวนา อุทิศส่วนกุศลให้เปรต เปรตจะรับได้ไหม ? ในเปตวัตถุ เรื่องสาริปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย มหามกุฏ ฯ เล่มที่ ๔๙ หน้าที่ ๑๕๘ พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงปรารภนางเปรตผู้มารดาของท่านพระสารีบุตรเถระ โดยชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้ จึงตรัสคาถานี้
วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้า และผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึงแล้ว ๆ . ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและน้ำเป็นต้น โดยเคารพ. เธอเมื่อจะไปถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธออย่าได้ทำทานวิธีนี้ตามที่บัญญัติให้เสื่อมเสียจงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ. ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็ตัดขาดวิธีที่บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรกแต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้งไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้. เมื่อคนเดินทางมาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น จึงกล่าวว่า จงกินคูถดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย สมัยต่อมา นางทำกาละแล้ว อันอานุภาพกรรมซัดไป บังเกิดในกำเนิดเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน หวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร จึงถึงประตูวิหาร. เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้น ห้ามเข้าวิหาร. ได้ยินว่านางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้. เพราะฉะนั้น เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดิฉันเป็นมารดาของพระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตู เพื่อเยี่ยมพระเถระ. เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรมแสดงตนแก่พระเถระ. พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้นเป็นผู้มีใจอันความกรุณาตักเตือน จึงถามด้วยคาถาว่า
ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนาง ผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้. นางเปรตนั้นถูกพระเถระถาม เมื่อจะให้คำตอบจึงได้กล่าวคาถา ๕ คาถา ความว่า เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติ อื่น ๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิว และความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพ ที่เขาเผาที่เชิง ตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง กินหนองและเลือดของปศุสัตว์ และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูก เอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้าง ไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด.
ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สอง
จึงเรียกพระเถระ ๓ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น มาพร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร. พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมาว่า ท่านขอรับ ท่านมาทำไม ? ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชาพระราชาตรัสว่า โยมรู้แล้ว แล้วจึงละพระเถระ รับสั่งให้เรียกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ ทรงพระบัญชาว่า เธอจงสร้างกุฎี ๔หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ อันวิจิตร ไม่ไกลแต่เมืองและในภายในพระราชวัง ให้แบ่งเป็น ๓ ส่วน โดยที่มีความพิเศษเพียงพอแล้วให้รับกุฎี ๔ หลัง. และพระองค์เองก็ได้เสด็จไปในที่นั้น ได้ทรงกระทำพระราชกรณียกิจที่ควรทำ. เมื่อกุฎีสำเร็จแล้วจึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น และเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้นแด่ท่านพระสารีบุตรเถระ. ลำดับนั้น พระเถระ ได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น. นางเปรตนั้น ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ในวันต่อมาก็ได้เข้าหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้วยืนอยู่. พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น. นางเปรตนั้น ได้แจ้งเหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเข้าถึงความเป็นเทวดาอีก.
ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า :-
ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มีจิตอนุเคราะห์ ได้ฟังคำของมารดาแล้ว จึงปรึกษากับท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะ แล้วให้สร้างกุฏิ ๔ หลัง ถวาย กุฎีทั้งข้าวและน้ำแด่พระสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ อุทิศส่วนกุศลไปให้แก่มารดา. ในทันใดนั้นเองวิบากคือ ข้าว น้ำ และผ้าก็เกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ภายหลังนางมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาดนุ่งห่มผ้าอันมีค่า ยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยวัตถาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ถามนางเปรตนั้นว่า
ดูก่อน นางเทพธิดา ท่านมีวรรณะวรรณงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทุกทิศ สถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก. ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร และโภคะทุกสิ่งทุกอย่าง อันเป็นที่พอใจ ย่อมบังเกิดแก่ท่าน เพราะกรรมอะไร ดูก่อน นางเทพธิดา ผู้มีอานุภาพมาก อาตมภาพขอถามท่าน เมื่อท่านเป็นมนุษย์ ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่งท่านมีอานุภาพรุ่งเรือง และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร.
ลำดับนั้น นางเปรตจึงตอบโดยนัยมีอาทิว่า ดิฉัน เป็นมารดาของท่านพระสารีบุตร. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้เข้าถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนั้นแล.
จบ อรรถกถาสาริปุตตเถรมาตุเปติวัตถุที่ ๒
แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ท่านพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มีอยู่ในตัวท่าน ท่านยังอุทิศหรือโอนบุญด้วย ศีล และ ภาวนาของท่านให้กับหญิงเปรตก็ยังไม่ได้เลย ท่านต้องถวาย ทาน แก่สงฆ์แล้วอุทิศส่วนกุศล นางเปรตอนุโมทนา จึงได้ผลสำเร็จแห่งการอุทิศได้อย่างแท้จริง ส่วนการอุทิศศีล หรือภาวนานั้น สามารถทำให้เปรตได้สุขใจเท่านั้น ชีวิตของเปรตนั้นลำบากเนื่องด้วยความหิวโหยที่ทรมาน ขาดเสื้อผ้า ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย การให้สิ่งที่ตรงกับความต้องการของผู้รับจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก เมื่อเปรตพ้นอัตภาพจากการเป็นเปรตแล้ว หากไปเกิดเป็นเทวดาแล้วจะอนุโมทนายินดีในศีลหรือภาวนาที่ผู้อื่นอุทิศให้ในภายหลัง เทวดาก็ย่อมอนุโมทนาได้ เปรียบเหมือนคนที่กำลังหิวอาหารมานาน ได้พบโรงทานแจกน้ำและอาหาร กับส่วนที่แจกหนังสือธรรมะหรือมีการบรรยายธรรมะ ท่านคิดว่าผู้ที่หิวโหยอาหารจะไปที่ใดก่อน
ผู้ใดสนใจหนังสือ " การอุทิศส่วนกุศลตามแนวพระไตรปิฏก" โดยอ้างอิงจากพระไตรปิฏกพร้อมหลักฐานที่ชัดเจน ให้โทรศัพท์ไปขอได้ที่ 086-036-7162 ( 20 ท่านแรกเท่านั้น )
ขออนุโมทนา กับผู้ที่ให้ความรู้ทุกท่านนะคะ สาธุ