วัดเครือวัลย์ วรวิหาร


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุติกนิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2374
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2385


วัดเครือวัลย์ วรวิหาร

กรุงเทพมหานคร


"วัดที่มีเจดีย์ 3 องค์ พระพุทธรูปยืนปางปางห้ามพยาธิเป็นพระประธานและจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดกนับร้อยภาพที่แสดงประวัติของพระพุทธเจ้าในพระอุโบสถ"

ประวัติความเป็นมา

การสร้างวัดเครือวัลย์วรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับพุทธศักราชในการก่อสร้าง หากแต่ปรากฏข้อมูลในหนังสือตำนานพระอารามหลวงแลทำเนียบสมณศักดิ์ ของเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรว่า ก่อสร้างขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี) ทั้งนี้จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์นั้นปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัดแห่งนี้ว่า ในช่วงเริ่มแรกนั้นวัดเครือวัลย์ก่อสร้างโดยเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) หากแต่ยังไม่ทันสร้างแล้วเสร็จ เจ้าพระยาอภัยภูธรก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าจอมเครือวัลย์ ผู้เป็นบุตรีจึงดำเนินการก่อสร้างวัดต่อ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง จนได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเครือวัลย์วรวิหาร” มาจนปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้คำว่า “เครือวัลย์” อันเป็นนามของวัดแห่งนี้จึงน่าจะมีที่มามาจากชื่อของเจ้าจอมเครือวัลย์ ผู้ดำเนินการก่อสร้างวัดต่อจนแล้วเสร็จนั้นเอง

วัดเครือวัลย์วรวิหารได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมาในช่วงปีพุทธศักราช๒๓๖๗–๒๓๗๑ โดยในอดีตวัดเครือวัลย์วรมหาวิหารเคยสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมาเป็นคณะสงฆ์ธรรมยุตในสมัยที่พระเทพโมลี (เอี่ยม ธมฺมสิริ) เป็นเจ้าอาวาสวัด

ทั้งนี้นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้ถือเป็นพระอารามหลวงที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ดังในตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์ ว่าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการปฏิสังขรณ์พระอารามจากพระมหากษัตริย์ในหลายรัชกาล ทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ๔ และรัชกาลที่ ๕ นอกจากนั้นยังปรากฏอีกว่าในอดีตนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดกฐิน ณ พระอารามหลวงแห่งนี้เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๙๓   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปยืนปางปางห้ามพยาธิ พระประธานในพระอุโบสถ •

{ พระอุโบสถ }
เป็นพระอุโบสถทรงไทย กว้าง 7.70 เมตร ยาว 16.25 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ ระเบียงและมุขปูด้วยหินอ่อน ซุ้มประตู หน้าต่างทำด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ลงรักปิดทอง บานประตูด้านนอกสลักรูปต้นไม้ ดอกไม้ และรูปนก ลงรักปิดทอง ด้านในเป็นรูปฉัตร 7 ชั้น สอดสีมีทหารแบก ส่วนบานหน้าต่างด้านนอก ลวดลายเช่นเดียวกับบานประตูแต่ทำด้วยปูนปั้น กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระอุโบสถหลังนี้ไว้เป็นโบราณสถาน เนื่องจากผนังภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพชาดกเรื่องพระเจ้า 500 ชาติที่งดงามมาก ซึ่งไม่มีที่อื่นอีก   
{ พระประธานในพระอุโบสถ }
เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง สูงประมาณ 4 วา ประดิษฐานบนฐานชุกชีรูปบัวหงายนูนเด่น มีพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ ยืนอยู่ด้านขวาและซ้าย   
{ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ }
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพชาดก เรื่อง พระเจ้า 500 ชาติ ใช้ลายกั้นเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 83-84 เซนติเมตร กรอบเขียนลายเนื่องเป็นลายก้านต่อดอกใบเทศ แต่ละช่องเขียนเรื่องพระชาติของพระพุทธเจ้าไว้ 1 พระชาติ ภาพเขียนเหล่านี้ เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 มีความวิจิตรงดงาม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของวัดนี้และกรมวิชาการได้จัดทำขึ้นเป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสร้างเสริม ประสบการณ์ชีวิตและกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ระดับประถมศึกษา และกลุ่มวิชาสังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา    
{ พระวิหาร }
มีรูปทรงและขนาดเดียวกับพระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านขวาพระอุโบสถ ภายในไม่มีภาพเขียนใด ๆ พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 2 วา   
{ พระเจดีย์สามองค์ }
ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร   

- เจ้าอาวาส -
• พระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) •


 10,624


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย