มิลินทปัญหา ตอนที่ ๓

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน


 พระนาคเสนไปศึกษาพระไตรปิฏกกับพระธรรมรักขิต

ในคราวนั้นมีเศรษฐีชาวเมืองปาตลีบุตรคนหนึ่ง ได้เดินทางมาค้าขายตามชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรทุกสินค้าใหญ่น้อยลงในเกวียน ๕๐๐ เล่ม ออกเดินทางกลับเมืองปาตลีบุตรได้เห็นพระนาคเสนออกเดินทางไป จึงให้หยุดเกวียนไว้ แล้วเข้าไปกราบนมัสการไต่ถามว่า
“ พระคุณเจัาจะไปไหนขอรับ ? ”
พระนาคเสนตอบว่า
“ อาตมาจะไปเมืองปาตลีบุตร ”
เศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงกล่าวว่า
“ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์ไปกับโยมเถิดจะสะดวกดี “
“ ดีแล้ว คหบดี ”
ลำดับนั้น เศรษฐีจึงจัดอาหารถวายเวลาฉันเสร็จแล้ว เศรษฐีจึงถามว่า
“ พระคุณเจ้าชื่ออะไรขอรับ ”
“ อาตมาชื่อนาคเสน ”
“ ท่านรู้พระพุทธวจนะหรือ ? ”
“ อาตมารู้เฉพาะอภิธรรม ”
“ เป็นลาภอันดีของโยมแล้ว โยมก็ได้เรียนอภิธรรม ท่านก็รู้อภิธรรม ขอท่านจงแสดงอภิธรรมให้โยมฟังสักหน่อย ”

เมื่อพระนาคเสนแสดงอภิธรรมจบลงเศรษฐีก็ได้สำเร็จพระโสดาบัน แล้วพากันออกเดินทางต่อไป ครั้งไปถึงที่ใกล้เมืองปาตลีบุตร เศรษฐีจึงกล่าวว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน ทางนั้นเป็นทางไปสู่อโศการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปทางนี้เถิด แต่ทว่าอย่าเพิ่งไปก่อน ขอนิมนต์ให้พรแก่โยมสักอย่างหนึ่งเถิด ”
พระนาคเสนตอบว่า
“ อาตมาเป็นบรรพชิต จักให้พรอะไรได้ ”
“ พรใดที่สมควรแก่สมณะ ขอท่านจงให้พรนั้น ”
“ ถ้ากระนั้นโยมจงรับเอาพร คือ การกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริต ”
ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพลพร้อมกับบอกว่า
“ ขอท่านจงกรุณารับกัมพลอันยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ของโยมนั้นไปนุ่งห่มเถิด ”
พระนาคเสนจึงรับเอาผ้านั้นไว้ ส่วนว่าเศรษฐีถวายนมัสการแล้ว จึงกราบลามาสู่ปาตลีบุตรนคร

ส่วนพระนาคเสนก็ออกเดินทางไปสู่สำนักพระธรรมรักขิตที่อโศการาม กราบไหว้แล้วจึงเรียนว่า
“ ขอท่านได้โปรดสอนพระพุทธวจนะให้กระผมด้วยเถิดครับ”

 ศึกษาร่วมกับภิกษุชาวลังกา

ในคราวนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าพระติสสทัตตะ ได้เรียนพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ในเมืองลังกาจบแล้วปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นภาษามคธ จึงโดยสารสำเภามาสู่สำนักพระธรรมรักขิตนี้ เมื่อกราบไหว้แล้วจึงกล่าวว่า
“ กระผมมาจากที่ไกล ขอท่านจงบอกพระพุทธวจนะให้แก่กระผมด้วยเถิด”
“ เธอกับพระติสสทัตตะควรเรียนพระพุทธวจนะด้วยกัน จะได้เป็นเพื่อนสาธยายด้วยกัน อย่าร้อนใจไปเลย ”
พระนาคเสนจึงกล่าวว่า
“ กระผมมิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกันด้วยคำภาษาสิงหลได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นภาษาสิงหล ”

เป็นคำถามว่า เหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่าจะให้พระติสสทัตตะกับพระนาคเสนเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน พระนาคเสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตตะกล่าวคำภาษาสิงหล (อันเป็นภาษาชาวลังกา)
แก้ความนั้นว่า พระนาคเสนเข้าใจว่าอาจารย์คงจะบอกพระพุทธวจนะเป็นภาษาสิงหล ด้วยภาษาสิงหลนี้เป็นคำวิเศษกลัวว่าชาวประเทศสาคลราชธานีจะไม่เข้าใจ พระนาคเสนนั้นตั้งใจจะเรียนพระพุทธวจนะที่จะให้เข้าใจของชาวสาคลนคร มีพระเจ้ามิลินท์เป็นประธาน

พระธรรมรักขิตจึงบอกขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
“ เธอจงเรียนพร้อมกับพระติสสทัตตะเพราะพระติสสทัตตะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ผู้ไม่รู้จักภาษา ”
พระนาคเสนจึงคิดได้ว่าอาจารย์คงไม่บอกเป็นภาษาสิงหลดอก อาจจะบอกเป็นภาษามคธ เราผิดเสียแล้ว จะต้องขอโทษพระติสสทัตตะ
เมื่อพระนาคเสนคิดได้อย่างนั้น จึงกราบขอโทษแล้วเริ่มเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน โดยเรียนอยู่ ๓ เดือนก็จบพระไตรปิฏก ซักซ้อมอีก ๓ เดือนก็ชำนาญ

 พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์

ฝ่ายพระธรรมรักขิตเห็นพระนาคเสนยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคำอุปมาว่า
“ นี่แน่ะ นาคเสน ธรรมดาว่านายโคบาลได้แต่เลี้ยงโค ไม่ได้รู้รสแห่งนมโค มีแต่ผู้อื่นได้ดื่มรสแห่งนมโค ฉันใด ปุถุชนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ถึงแม้จะทรงพระไตรปิฏก ก็มิได้รู้รสแห่งสามัญผล คือ มรรคผล อันควรแก่สมณะเปรียบเหมือนกับนายโคบาล ที่รับจ้างเลี้ยงโคและรีดนมโคขาย แต่มิได้เคยลิ้มชิมรสแห่งนมโค ฉันนั้น ”
พระนาคเสนได้ฟังคำเช่นนั้นก็เข้าใจ จึงมีวาจาว่า “ คำสั่งสอนของท่านเท่านี้พอแล้วขอรับ ” ท่านกล่าวเพียงเท่านี้แล้วก็ลามาสู่อาวาส ต่อมาก็ได้พยายามเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ในเวลากลางคืนอันเป็นวันที่พระธรรมขิตให้นัยนั้นเอง ในขณะที่พระนาคเสนสำเร็จพระอรหันต์นั้น ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินอันใหญ่นี้ก็บันลือลั่นหวั่นไหว ทั้งมหาสมุทรสาครก็ดีฟองนองละลอก ยอดภูเขาก็โอนอ่อนโยกคลอนไปมา เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ห่าฝนทิพยจุณจันทน์และดอกไม้ทิพย์ ก็ตกลงมาบูชาในกาลนั้น

 พระอรหันต์ให้ทูตไปตามพระนาคเสน 

เมื่อพระนาคเสนได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ไปประชุมกันที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์ แล้วส่งฑูตไปตามพระนาคเสน
เมื่อพระนาคเสนทราบแล้ว ก็หายวับจากอโศการาม มาปรากฏข้างหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาเขาหิมพานต์ กราบไหว้พระอรหันต์ทั้งหลายแล้วจึงถามว่า
“ เพราะเหตุไรขอรับ จึงให้ฑูตไปตามกระผมมา ? ”
พระอรหันต์ผู้เป็นหัวหน้าตอบว่า
“ เป็นเพราะมิลินทราชาเบียดเบียนพวกเราด้วยการไต่ถามปัญหา เธอจงไปทรมานมิลินทราชานั้นเถิด ”
พระนาคเสนจึงเรียกว่า
“ อย่าว่าแต่มิลินทราชาเลยบรรดาพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น ที่มีปัญหาเหมือนมิลินทราชานี้ จะซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด กระผมจะแก้ให้สิ้นสงสัย ให้มีพระทัยยินดีด้วยการแก้ปัญหา ขอพระเถรเจ้าทั้งหลายจงไปสู่สาคลนคร ด้วยความไม่สะดุ้งกลัวเถิด”

 พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปถามปัญหาพระอายุบาล

ในคราวนั้น ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งมีชื่อว่า พระอายุบาล ท่านเป็นผู้ชำนาญในนิกายทั้ง ๕ (ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตนิกาย ขุททกนิกาย) ได้อาศัยอยู่ที่อสงไขยบริเวณ
ฝ่ายพระเจ้ามิลินทร์ทรงดำริว่า ราตรีนี้ดีมาก เราควรจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใดดีหนอ ใครหนอจะสามารถสนทนากับเราได้ ใครหนอจะสามารถตัดความสงสัยของเราได้ ทรงดำริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการตรัสถาม พวกราชบริพารโยนกทั้ง ๕๐๐ ก็กราบทูลว่า
“ มีพระเถระอยู่องค์หนึ่งชื่อว่าพระอายุบาล ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฏก ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีการแสดงธรรมวิจิตรมีปฏิภาณดี ชำนาญในนิกายทั้ง ๕ อยู่ที่อสงไขยบริเวณ ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปถามปัญหาต่อพระอายุบาลเถิด พระเจ้าข้า ”
“ ถ้าอย่างนั้นขอจงไปแจ้งให้พระผู้เป็นเจ้าทราบก่อน”

ลำดับนั้น เนมิตติยอำมาตย์จึงใช้ให้คนไปแจ้งแก่พระอายุบาลว่า พระเจ้ามิลินท์จะเสด็จมาหา พระอายุบาลตอบว่า เชิญเสด็จมาเถิด
ต่อจากนั้นพระเจ้ามิลินท์พร้อมกับหมู่โยนกเสนา ๕๐๐ ก็เสด็จขึ้นรถไปที่อสงไขยบริเวณ เมื่อไปถึงจึงตรัสสั่งให้หยุดรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยพระบาทเปล่าเข้าสู่สำนักพระอายุบาล นมัสการแล้วกระทำปฏิสันถารโอภาปราศรัยกันไปมา จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระอายุบาล บรรพชามีประโยชน์อย่างไร อะไรเป็นประโยชน์เยี่ยมของท่าน? ”
พระอายุบาลตอบว่า
“ ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระราชสมภาร การบรรพชามีประโยชน์เพื่อจะได้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้หลาย”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติความสงบ จะมีคุณวิเศษบ้างหรือไม่ ? ”

 

จำนวนคฤหัสถ์ผู้ได้มรรคผล

“ ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ที่ประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยทรงศีล ๕ หรือศีล ๘ ไว้มั่นคง ให้ท่านและภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ตนเอง
ดังตัวอย่าง เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระทศพรยังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองพาราณสี โปรดประทานธรรมเทศนา พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ในป่าอิสิปตนมิคทายวัน
ครั้งจบลงแล้วพรหมทั้ง ๑๘ โกฏิได้สำเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พรหมทั้งหลายล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้
ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เวสสันดรชาดก ขทิรังคชาดกราหุโลวาทสูตร และทรงแสดงธรรมที่ประตูสังกัสสคร มีผู้สำเร็จมรรคผลประมาณ ๒๐ โกฏิ คนทั้งหลายนั้น กับเทพยดาและพรหมทุกชั้น ล้วนแต่เป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น ไม่ใช่บรรพชิตเลย”


กรรมของพระที่ถือธุดงค์

เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
“ ข้าแต่ท่านอายุบาล ถ้าอย่างนั้นบรรพชาก็ไม่มีประโยชน์อะไร พวกสมณะทั้งหลายที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ที่ได้บรรพชารักษาธุดงค์ต่างๆ ทำให้ลำบากกายใจนั้น ล้วนเป็นด้วยผลแห่งบาปกรรมในปางก่อนทั้งนั้น นี่แน่ะ ท่านอายุบาล พวกพระที่ถือ “ เอกา ” ฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจรเที่ยวปล้นชาวบ้าน ไปแย่งชิงอาหารเขา ครั้งชาตินี้เล่า ผลกรรมนั้นดลจิตใจฉันหนเดียว ดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีลรักษาตบะ รักษาพรหมจรรย์ ก็ไม่มีผลอันใดประการหนึ่งเล่า พวกที่ถือธุดงค์ “ อัพโพกาส ” คืออยู่ในกลางแจ้งนั้น เมื่อชาติก่อนต้องได้เป็นพวกปล้นบ้านเผาเรือนชาตินี้จึงไม่มีที่กินที่อยู่ ส่วนพวกถือ “ เนสัชชิกธุดงค์ ” คือถือไม่นอนเป็นกิจวัตร ได้แต่เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น พวกนั้นต้องเป็นโจรปล้นคนเดินทางไว้เมื่อชาติก่อน จับคนเดินทางได้แล้วก็ผูกมัดให้นั่งจับเจ่าอยู่ท่านั้น โยมคิดดูซึ่งธุงดค์นี้ไม่มีผล จะเป็นศีล จะเป็นตบะ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปเพื่ออะไร ปฏิบัติในเพศคฤหัสถ์ก็ได้มรรคผลเหมือนกัน เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือ พระผู้เป็นเจ้า ? ”
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้ พระอายุบาลก็ขี้คร้านที่จะตอบจึงนั่งนิ่งไป มิได้ถวายพระพรโต้ตอบต่อข้อปัญหานั้น พวกโยนก ๕๐๐ จึงกราบทูลขึ้นว่า 
“ ข้าแต่มหาราชเจ้า พระภิกษุองค์นี้เป็นักปราชญ์ ได้สดับเล่าเรียนมาก แต่ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบต่อคำถามของพระองค์”
พระเจ้ามิลินท์ได้ฟังคำข้าราชบิรพารทูลเฉลยก็หาสนใจไม่ ทอดพระเนตรดูแต่พระอายุบาล เห็นพระอายุบาลนิ่งอยู่ก็ทรงพระสรวล(หัวเราะ) พร้อมกับตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า
“ ชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว ไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ใด ๆ อาจสนทนากับเราได้ อาจแก้ความสงสัยของเราได้เลย เห็นทีจะสิ้นสุดครั้งนี้แล้วหนอ… ”
ฝ่ายหมู่โยนกได้ฟังก็มิได้ตอบคำสนองพระราชโองการ ส่วนพระอายุบาลได้เห็นอาการของพระเจ้ามลินท์อย่างนั้น จึงคิดว่าเราเป็นสมณะไม่สมควรทะเลาะโต้เถียงกับใคร ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็ได้แต่เป็นเพราะพระราชาถามปัญหาที่ไม่ควรถาม คิดอย่างนี้แล้ว จึงเก็บอาสนะลุกไปเสีย

หลังจากพระเจ้ามิลินท์เสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว จึงทรงดำริว่า จะต้องมีภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งอาจสนทนากับเราได้อย่างไม่สงสัย จึงตรัสถามเนมิตติยอำมาตย์ขึ้นอีกว่า
“ นี่แน่ะ เนมิตติยะ ภิกษุผู้จะโต้ตอบกับเราได้ ยังมีอยู่อีกหรือไม่? ”

 กิตติศัพท์ของพระนาคเสน

ในคราวนั้น พระนาคเสนผู้ห้อมล้อมด้วยหมู่สมณะ ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารชำนาญในพระไตรปิฎก สำเร็จไตรเพท มีความรู้แตกฉาน มีอาคมพร้อม สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรมในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา อันประกอบด้วยองค์ ๙ ถึงแล้วซึ่งบารมีญาณ
เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งปวงเหมือนกับพญาเขาสิเนรุราช องอาจดั่งราชสีห์ มีใจสงบระงับเป็นอันดี มีปรีชาญาณล้ำเลิศ ย่ำยีเสียซึ่งถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์แก่พระพุทธศาสนาได้อย่างเด็ดขาด
เป็นผู้ฉลาดในอุบายแนะนำ ชำนาญในอรรถธรรมทั้ปวง ไม่มีผู้ต่อสู้ ไม่มีผู้กั้นกางได้ ไม่มีผู้ล่วงเกินได้ ละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งปวง กระทำซึ่งแสงสว่างให้เกิด กำจัดเสียซึ่งความมืด
เป็นผู้มีถ้อยคำประเสริฐ แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ล่วงลุถึงซึ่งบารมีญาณ มีปรีชาญาณเปรียบดังลูกคลื่นในท้องมหาสมุทร เป็นผู้สูงสุดกว่าหมู่คณะทั้งหลาย ล่วงรู้ลัทธิของหมู่คณะที่ไม่ดีทั้งหลาย ย่ำยี่เสียซึ่งลัทธิเดียร์ถีย์ทั้งปวง
เป็นผู้ฉลาดเฉียงแหลมแกล้วกล้าสามารถ มากไปด้วยความสุขกายสบายใจเป็นผู้ทำสงฆ์ให้งดงาม 
เป็นพระอรหันต์ผู้ล้ำเลิศ เป็นที่สักการบูชาของพุทธบริษัทั้งสี่
เป็นผู้ที่จะแสดงบาลี อรรถกถา อันทำให้เกิดความเลื่อมใสแก่บัณฑิตทั้งหลายผู้มีความรู้ ผู้ประกาศคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเจ้า อันประกอบด้วยองค์ ๙ ผู้จะเชิดชูซึ่งแก้วอันประเสริฐในพระพุทธศาสนาให้ปรากฏ
เป็นผู้จะยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาพระธรรมผู้จะตั้งขึ้นซึ่งยอดพระธรรม ผู้จะยกขึ้นซึ่งธงชัยคือพระธรรมผู้จะเป่าสังข์คือพระธรรม ผู้จะตีกลองคือพระธรรมให้นฤนาท ผู้จะดีดกระจับปี่สีซอ โทน รำมะนา ดนตรี อันได้แก่อริยสัจ ๔
เป็นผู้ที่จะบันลือเสียงดังพญาช้าง พญาอุสุภราช พญาราชสีห์ ผู้จะทำให้โลกเอิบอิ่มด้วยห่าฝนอันใหญ่ คือพระธรรมให้พิลึกกึกก้อง เรืองรองดังสายฟ้าด้วยญาณปรีชาพระนาคเสนไปถึงอสงไขยบริเวณ

เมื่อพระนาคเสนได้กราบลาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิแล้ว ก็ได้จาริกไปตามคามนิคมชนบท เทศน์โปรดประชาชนทั้งหลายโดยลำดับ ก็บรรลุถึงซึ่งสาคลนครอันเป็นที่ประทับของพระเจ้ามิลินท์ ผู้เป็นปิ่นแห่งโยนก
พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาลในกาลนั้น เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
    พระนาคเสนเถระผู้เป็นพหูสูต มีการแสดงธรรมประเสริฐ มีสติปัญญาสุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าสามารถในที่ประชุมชน ฉลาดในเหตุผลทั้งปวง มีปฏิภาณว่องไวหาผู้เปรียบมิได้ ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฏกอันประเสริฐ มีหมู่พระภิกษุสงฆ์ล้วนแต่ทรงพระไตรปิฏกห้อมล้อมเป็นบริวาร ได้ไปถึงอสงไขยบริเวณ แล้วพักอยู่ในที่นั้น

พระนาคเสนเถระนั้น ห้อมล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดังตาชั่ง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด เหมือนกับพญาไกรสรราชสีห์ในป่าใหญ่ ฉะนั้น พระนาคเสนนั้นเป็นผู้มีปัญญาลึกซึ้ง มีความฉลาดรอบคอบในสิ่งที่ควรและไม่ควรทั้งปวง เป็นผู้ประกาศซึ่งอรรถธรรมอันล้ำเลิศ มีคุณธรรมปรากฏไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น เป็นพหูสูตทรงพระไตรปิฏก ไม่มีผู้เสมอเหมือนดังนี้

 พระเจ้ามิลินท์ได้ยินชื่อทรงตกพระทัยกลัว

ในคราวนั้น เทวมันติอำมาตย์ก็ได้ฟังข่าวเล่าลือ ซึ่งเกียรติคุณของพระนาคเสนดังแสดงมา จึงกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ว่า
          “ ขอได้โปรดก่อนเถิดมหาราชเจ้า บัดนี้มีข่าวเล่าลือว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่งชื่อว่า นาคเสน เป็นผู้แสดงธรรมอันวิเศษ มีสติปัญญเฉียบแหลม แกล้วกล้าสามารถในที่ทั้งปวง เป็นผู้สดับเล่าเรียนมาก มีถ้อยคำไพเราะเสนาะโสต มีปฏิภาณดี แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติ ปฏิภาณ ถึงซึ่งบารมีญาณ ไม่มีเทพยดาอินทร์พรหม ผู้ใดผู้หนึ่งจะสู้ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์ พระเจ้าข้า ”
          เมื่อพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสดับคำว่า “ พระนาคเสน ” เท่านี้ก็ตกพระทัยกลัว มีพระโลมาลุกชันขึ้นทันที พระบาทท้าวเธอจึงตรัสถามเทวมันติยอำมาตย์ว่า
          “ เวลานี้พระนาคเสนอยู่ที่ไหน เราใคร่เห็น ขอให้พระนาคเสนทราบ? ”
          เทวมันติยอำมาตย์จึงใช้ให้ทูตไปแจ้งแก่พระนาคเสนว่า พระเจ้ามิลินท์มีพระราชประสงค์จะพบเห็น เมื่อทูตไปแจ้งแก่พระเถระแล้ว พระเถระจึงตอบว่า ถ้าอย่างนั้นขอจงเสด็จมาเถิด

 พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสน

ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชบริพารชาวโยนก ๕๐๐ เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยพลนิกายเป็นอันมาก เสด็จไปหาพระนาคเสนที่อสงไขยบริเวณ
     คราวนั้น พระนาคเสนกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ ได้นั่งพักอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ พอพระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล จึงตรัสถามขึ้นว่า
          “ บริวารเป็นอันมากนั้นของใคร ? ”
          เทวมัติยะทูลตอบว่า
          “ บริวารเป็นอันมากนั้น เป็นบริวารของพระนาคเสน พระเจ้าข้า”
          พอพระเจ้ามิลินท์ได้แลเห็นพระนาคเสนแต่ที่ไกลเท่านั้น ก็เกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นในพระทัย มีพระโลมชาติชูชัน(ขนลุก) เสียแล้ว
          คราวนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงสะดุ้งตกพระทัยยิ่งนักหนา 
          อุปมาดังพญาช้างถูกห้อมล้อมด้วยดาบและขอ และ 
          เหมือนกับนาคถูกครุฑห้อมล้อมไว้ 
          เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่ถูกงูเหลือมล้อมไว้ 
          เหมือนกับหมีถูกฝูงกระบือป่าห้อมล้อม
          เหมือนกับคนถูกพญานาคไล่ติดตาม
          เหมือนกับหมู่เนื้อถูกเสือเหลืองไล่ติดตาม
          เหมือนกับงูมาพบหมองู 
          เหมือนกับหนูมาพบแมว 
          เหมือนกับปีศาจมาพบหมอผี
          เหมือนกับพระจันทรเทพบุตรตกอยู่ในปากราหู
          เหมือนกับนกอยู่ในกรง
          เหมือนกับปลาอยู่ในลอบในไซ 
          เหมือนกับบุรุษที่ตกเข้าไปในป่าสัตว์ร้าย 
          เหมือนกับยักษ์ทำผิดต่อท้าวเวสสุวัณ 
          เหมือนกับเทพบุตรผู้จะสิ้นอายุรู้ว่าตัวจะจุติ สุดที่จะกลัวตัวสั่น ฉันใด พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกล ให้รู้สึกหวาดกลัวอยู่ในพระทัย ฉันนั้น แต่พระบาทท้าวเธอทรงนึกว่า อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูถูกเราได้เลย จึงได้ทรงแข็งพระทัยตรัสขึ้นว่า
          “ นี่แน่ะ เทวมันติยะ เธออย่าได้บอกพระนาคเสนให้แก่เราเลยว่าเป็นองค์ใด เราจะให้รู้จักพระนาคเสนเอง ”
          เทวมันติยะอำมาตย์จึงกราบทูลว่า
          “ ขอให้โปรดทรงทราบเองเถิดพระเจ้าข้า ”

     ในคราวนั้น พระนาคเสนเถระได้นั่งอยู่ในท่ามกลางของพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ คือ นั่งอยู่ข้างหน้าของพระภิกษุ ๔ หมื่นองค์ที่มีพรรษาอ่อนกว่า แต่นั่งอยู่ข้างหลังของพระภิกษุผู้แก่กว่าอีก ๔ หมื่นองค์
     ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ก็ทอดพระเนตรดูไปทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ท่ามกลางของภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ก็ได้เห็นพระนาคเสนนั่งอยู่ท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ มีกิริยาองอาจดังราชสีห์ จึงทรงทราบว่าองค์นั้นแหละเป็นพระนาคเสน จึงตรัสถามขึ้นว่า
          “ เทวมันติยะ องค์นั่งในท่ามกลางนั้น หรือ..เป็นพระนาคเสน? ”
          เทวมันติยะกราบทูลว่า
          “ ถูกแล้วพระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบ พระนาคเสนได้ดีแล้ว” 
          พระเจ้ามิลินท์ก็ทรงดีพระทัยว่า เรารู้จักพระนาคเสนด้วยตนเอง แต่พอพระบาทท้าวเธอแลเห็นพระนาคเสนเท่านั้น ก็เกิดความกลัว ความหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชัน

     เพราะฉะนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
     พระเจ้ามิลินท์ได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสน ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณธรรม ผู้ได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอันดีแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า
          “ เราได้พบเห็นสมณพราหมณ์และบัณฑิตมาเป็นอันมาก ได้สนทนากับคนทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้วไม่เคยมีความสะดุ้งกลัวเหมือนในวันนี้เลย วันนี้ความปราชัยพ่ายแพ้จักต้องมีแก่เราเป็นแน่ไม่สงสัย ชัยชนะจักมีแก่พระนาคเสนแน่ เพราะจิตใจของเราไม่ตั้งอยู่เป็นปกติเหมือนแต่ก่อนเลย” ดังนี้

 จบเรื่องเบื้องต้น


  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย