มิลินทปัญหา ตอนที่ ๙

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๔ (ต่อ)


 ปัญหาที่ ๓ ถามการเกิดแห่งอายตนะ ๕

     “ ข้าแต่พระนาคเสน อายตนะ ๕ ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ) เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กันหรือเกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกัน ? ” 
     “ ขอถวายพระพร อายตนะ ๕ นั้น เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กัน ที่เกิดด้วยกรรมอันเดียวกันไม่มี ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” 
     “ ขอถวายพระพร พืชต่าง ๆ ๕ ชนิดที่บุคคลหว่านลงไปในนาแห่งเดียวกัน ผลแห่งพืช ๕ ชนิดนั้น ก็เกิดต่าง ๆ กัน ฉันใด อายตนะ ๕ เหล่านี้ ก็เกิดด้วยกรรมต่างกัน ฉันนั้น ที่เกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกันไม่มี ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

 ปัญหาที่ ๔ ถามเหตุต่าง ๆ กันแห่งกรรม

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
     “ ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุใด มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่เสมอกัน คือมนุษย์ทั้งหลายมีอายุน้อยก็มี มีอายุยืนยาวก็มี อาพาธมากก็มี อาพาธน้อยก็มี ผิวพรรณวรรณะไม่ดีก็มี ผิวพรรณวรรณะดีก็มี มีศักดิ์น้อยก็มี มีศักดิ์ใหญ่ก็มี มีโภคทรัพย์น้อยก็มี มีโภคทรัพย์มากก็มี มีตระกลูต่ำก็มี มีตระกลูสูงก็มี ไม่มีปัญญาก็มี มีปัญญาก็มี ? ” 

     พระเถระจึงย้อนถามว่า 
     “ ขอถวายพระพร เหตุใดต้นไม้ทั้งหลายจึงไม่เสมอกันสิ้น ต้นที่มีรสเปรี้ยวก็มี มีรสขมก็มี มีรสเผ็ดก็มี มีรสฝาดก็มี มีรสหวานก็มี ? ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะความต่างกันแห่งพืช ” 
     “ ขอถวายพระพร ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือ มนุษย์ทั้งหลายไม่เสมอกันหมด เพราะกรรมต่างกัน ข้อนี้สมด้วยพระพุทธฎีกาของสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า ” 
     “ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมต่างกัน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมทำให้เกิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่อาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวดีต่างกัน ” 
     “ ดังนี้ ขอถวายพระพร ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

 ปัญหาที่ ๕ ถามถึงสาเหตุที่ควรให้รีบทำเสียก่อน

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้แก่โยมว่า ทำอย่างไรทุกข์นี้จึงจะดับไปและทุกข์อื่นจึงจะไม่เกิดขึ้น ก็ควรรีบทำอย่างนั้น แต่โยมเห็นว่า ประโยชน์อะไรกับการรีบพยายามทำอย่างนั้น ต่อเมื่อถึงเวลา จึงควรทำไม่ใช่หรือ ? ” 
     พระเถระตอบว่า 
     “ ขอถวายพระพร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามก็จะไม่ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จไปความรีบพยายามนั้นแหละ จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จไป ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”

     อุปมาการขุดน้ำ

     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าใจความข้อนี้อย่างไร…คือ เมื่อใดมหาบพิตรอยากเสวยน้ำ เมื่อนั้นมหาบพิตรจึงจะให้ขุดที่มีน้ำให้ขุดสระโบกขรณี ให้ขุดเหมืองน้ำว่า เราจักดื่มน้ำอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

     อุปมาการไถนา

     “ ขอถวายพระพร เมื่อใดมหาบพิตรหิว เมื่อนั้นหรือ…มหาบพิตรจึงจักให้ไถนา ปลูกข้าวสาลี หว่านพืช ขนข้าวมา หรือปลูกข้าวเหนียว ด้วยรับสั่งว่า เราจักกินข้าว ? ” 
     “ ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

     อุปมาการทำสงคราม

     “ ขอถวายพระพร เมื่อใดสงครามมาติดบ้านเมือง เมื่อนั้นหรือ…มหาบพิตรจึงจะให้ขุดคู สร้างกำแพง สร้างเขื่อน สร้างป้อม ขนเสบียงอาหารมาไว้ ให้ฝึกหัดช้าง ม้า รถ ธนู ดาบ ? ” 
     “ ทำอย่างนั้นไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อถึงเวลาแล้วความพยายามไม่สำเร็จประโยชน์ความรีบพยายามไว้ก่อนนั้นแหละ จึงจะสำเร็จประโยชน์ ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ตรัสประทานไว้ว่า ” 
     “ บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ตนควรรีบทำสิ่งนั้น ผู้มีความคิด มีความรู้ มีความบากบั่น ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างพ่อค้าเกวียน คือ พ่อค้าเกวียนทิ้งทางเก่า อันเป็นทางเสมอ กว้างใหญ่ดี แล้วขับเกวียนไปในทางใหม่ ที่เป็นทางไม่เสมอดี เวลาเพลาเกวียนหักแล้วก็ซบเซาฉันใด 
บุคคลผู้โง่เขลาหลีกออกจากธรรมะไม่ประพฤติตามธรรม จวนจะใกล้ตายก็จะต้องซบเซา เหมือนพ่อค้าเกวียนที่มีเพลาเกวียนหักไปแล้วฉะนั้น ” 
     “ ดังนี้ ขอถวายพระพร ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวสมควรแล้ว ”

 ปัญหาที่ ๖ ถามถึงความร้อนแห่งไฟนรก

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า ไฟนรกร้อนมากว่าไฟปกติ ก้อนหินน้อย ๆ ทิ้งลงไปในไฟปกติ ไฟเผาอยู่ตลอดวันก็ไม่ย่อยยับ ส่วนก้อนหินโตเท่าปราสาททิ้งลงไปในไฟนรก ก็ย่อยยับไปในขณะเดียวดังนี้ คำนี้โยมไม่เชื่อถึงคำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า พวกสัตว์นรกอยู่ในนรกได้ตั้งพัน ๆ ปีก็ไม่ย่อยยับไป ดังนี้ คำนี้โยมก็ไม่เชื่อ ” 
     พระเถระตอบว่า 
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยอย่างไร…คือ พวกนกยูง ไก่ป่า มังกร จระเข้ เต่า ย่อมกินก้อนหินแข็ง ๆ ก้อนกรวดแข็ง ๆ จริงหรือ ? ” 
     “ เออ…โยมได้ยินว่าจริงนะ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร ก้อนหินก้อนกรวดเหล่านั้น เข้าไปอยู่ภายในท้องของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แหลกย่อยยับไปหรือไม่ ? ” 
     “ แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร ก็สัตว์ที่อยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้น แหลกย่อยยับไปไหน ? ” 
     “ ไม่แหลกย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” 
     “ โยมเข้าใจว่า เพราะกรรมคุ้มครองไว้ ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้อยู่ในนรกตั้งหลายพันปีก็ไม่ย่อยยับไป เพราะกรรมคุ้มครองไว้ พวกสัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ” 
     ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า 
     “ บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นตราบใด สัตว์นรกก็ยังไม่ตายตราบนั้น ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”

     อุปมาด้วยราชสีห์

     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร…คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองตัวเมีย ย่อมเคี้ยวกินของแข็ง ๆ เคี้ยวกินกระดูก เคี้ยวกินเนื้อมีอยู่หรือ ? ” 
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร กระดูกที่เข้าไปอยู่ในท้องของสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยไปไหม ? ” 
     “ แหลกย่อยไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร ลูกในท้องสัตว์เหล่านั้นแหลกย่อยยับไปไหม ? ” 
     “ ไม่แหลก พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” 
     “ โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมรักษาไว้ แต่ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

     อุปมาด้วยนกหัวขวาน

     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร…คือ นกหัวขวาน นกยูง ย่อมเคี้ยวกินไม้อันแข็งมีอยู่หรือ ? ” 
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ไม้อันแข็งเหล่านั้น เข้าไปอยู่ในท้องของนกหัวขวาน นกยูงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” 
     “ ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร ลูกนกหัวขวานที่อยู่ในท้อง ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” 
     “ ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” 
     “ โยมเข้าใจ เพราะกรรมรักษาไว้ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

     อุปมาด้วยสตร

     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร…คือ นางโยนก นางกษัตริย์ นางพราหมณ์ นางคฤหบดี ที่มีความสุขมาแต่กำเนิด ได้เคี้ยวกินของแข็ง ขนม ผลไม้ เนื้อ ปลาต่าง ๆ หรือไม่ ? ” 
     “ เคี้ยวกิน พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ของเหล่านั้นตกเข้าไปอยู่ในท้องของหญิงเหล่านั้นแล้ว ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” 
     “ ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ก็ลูกในท้องของหญิงเหล่านั้น ย่อยยับไปหรือไม่ ? ” 
     “ ไม่ย่อยยับไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ” 
     “ โยมเข้าใจว่า เป็นเพราะกรรมคุ้มครองไว้ ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ พวกสัตว์นรกถึงจะถูกไฟไหม้ในนรกตั้งหลายพันปี ก็ไม่ย่อยยับไป สัตว์นรกเหล่านั้น เกิดอยู่ในนรก เจริญอยู่ในนรก ตายอยู่ในนรก ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า ” 
      “ บาปกรรมที่เขาทำไว้ยังไม่สิ้นตราบใดเขาก็ยังไม่ตายตราบนั้น ” 
     “ สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๗ ถามถึงเรื่องเครื่องรองแผ่นดิน

    “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า แผ่นดินใหญ่นี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ ดังนี้ คำนี้โยมไม่เชื่อ ” 
     พระเถระเมื่อจะวิสัชนาแก้ไข จึงได้เอาธันกรก คือ กระบอกกรองน้ำ ตักน้ำขึ้นมาแล้วก็เอามือปิดปากธัมกรกไว้ เพื่อมิให้น้ำไหลลงไปได้ ถือไว้ให้พระเจ้ามิลินท์ทอดพระเนตรแล้ว พร้อมกับถวายพระพรว่า 
     “ มหาบพิตรจงทรงสังเกตดูธัมกรกนี้เถิดลมทรงไว้ซึ่งน้ำในกระบอกนี้ฉันใด ถึงน้ำที่รองแผ่นดิน ลมก็รับไว้ฉันนั้น ” 
     “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ” 


 ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเรื่องนิโรธนิพพาน

     “ ข้าแต่พระนาคเสน นิโรธ คือ นิพพาน หรือ ? ” 
     “ ถูกแล้ว มหาบพิตร ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไรจึงว่านิโรธคือนิพพาน ? ” 
     “ ขอถวายพระพร อันว่าพาลปุถุชนทั้งหลาย ย่อมเพลิดเพลิดยินดีใน อายตนะภายในภายนอก ( ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ) จึงถูกกระแสตัณหาพัดไป จึงไม่พ้นจากการเกิด แก่ ตาย โศกร่ำไร ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และคับแค้นใจ 
     ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินยินดีในอายตนะภายในภายนอก เมื่อไม่เพลิดเพลินยินดี ตัณหาก็ดับไป เมื่อตัณหาดับ อุปทานก็ดับ เมื่ออุปทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ เมื่อชาติ คือ การเกิดดับ ความโศก ความร่ำไร ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคบแค้นใจก็ดับ เป็นอันว่า ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ อย่างนี้แหละมหาบพิตร จึงว่า นิโรธ คือ นิพพาน ” 
     “ ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องการได้นิพพาน

     “ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลทั้งหลายได้นิพพานเหมือนกันหมดหรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ไม่ได้นิพพานเหมือนกันหมด ” 
     “ เหตุไฉนจึงไม่ได้ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ผู้ใดปฏิบัติดี รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ รอบรู้ธรรมที่ควรรอบรู้ละธรรมที่ควรละ อบรมธรรมที่ควรอบรมกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ผู้นั้นก็ได้นิพพาน ” 
     “ ถูกต้อง พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องรู้จักความสุขในนิพพาน

      “ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานรู้หรือไม่ว่านิพพานเป็นสุข ? ” 
     “ ขอถวายพระพร…รู้ คือผู้ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานทำไมจึงรู้ว่านิพพานเป็นสุข ? ” 
     “ ขอถวายพระพร พวกใดไม่ถูกตัดมือ ตัดเท้า พวกนั้นรู้หรือไม่ว่า การตัดมือตัดเท้าเป็นทุกข์ ? ” 
     “ อ๋อ..รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ เหตุไฉนจึงรู้ล่ะ ? ” 
     “ รู้ด้วยเขาได้ยินเสียงผู้ถูกตัดมือตัดเท้าร้องไห้ครวญคราง ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกที่ยังไม่ได้นิพพาน ก็รู้ได้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน ” 
     “ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

- - - จบวรรคที่ ๔ - - -



มิลินทปัญหา วรรคที่ ๕


 ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องความมีและความไม่มีแห่งพระพุทธเจ้า

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือ ? ” 
     พระเถระตอบว่า 
     “ ไม่ได้เห็น ขอถวายพระพร ” 
     “ ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร อาจารย์ก็ไม่ได้เห็น ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มี ” 
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เห็นโอหานที คือ สะดือทะเลหรือไม่ ? ” 
     “ ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ถ้าอย่างนั้น พระราชบิดาของพระองค์ได้เห็นหรือไม่ ? ” 
     “ ไม่ได้เห็น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ถ้าอย่างนั้นสะดือทะเลก็ไม่มี ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถึงโยมและพระราชบิดาของโยม ไม่ได้เห็นสะดือทะเลก็จริงแหล่ แต่ทว่าสะดือทะเลมีอยู่เป็นแน่ ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงอาตมาและอาจารย์ของอาตมา ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็จริง แต่พระพุทธเจ้ามีอยู่แน่ ขอถวายพระพร ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ” 

 ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องความยิ่งใหญ่แห่งพระพุทธเจ้า

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าหรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร จริง ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้ารู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้าไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เพราะพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เห็น ?” 
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือพวกที่ไม่ได้เห็นมหาสมุทร รู้หรือไม่ว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่ มีน้ำลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงพื้นได้ยาก เป็นที่ไหลไปรวมอยู่แห่งแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ ความพร่องหรือความเต็มแห่งมหาสมุทรนั้นไม่ปรากฏแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ ก็ไหลไปสู่มหาสมุทรเนือง ๆ ? ” 
     “ รู้ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ อาตมภาพได้เห็นพระสาวกทั้งหลายผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้สำเร็จนิพพานมีอยู่ จึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครเทียมถึง ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

 ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องการรู้ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจรู้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เยี่ยมไม่มีใครยิ่งกว่า ? ” 
     “ อาจรู้ ขอถวายพระพร ” 
     “ อาจรู้ได้อย่างไร ? ” 
     “ ขอถวายพระพร เมื่อก่อนมีอาจารย์เลของค์หนึ่ง ชื่อว่า พระติสสเถระ มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่หลายปี แต่ถึงมรณภาพไปแล้วอาจารย์เลของค์นั้น ทำไมชื่อจึงยังปรากฏอยู่ ? ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจารย์เลของค์นั้นยังปรากฏอยู่ เป็นด้วยเลขที่ท่านบอกไว้ ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็ได้เห็นพระพุทธเจ้า เพราะธรรมเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ” 
     “ สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องการเห็นธรรม

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นธรรมะแล้วหรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ธรรมะอันพระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนสาวก อันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว พระสาวกควรปฏิบัติตามจนตลอดชีวิต ” 
     “ แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความไม่ก้าวย่างไปแห่งผู้จะเกิด

    “ ข้าแต่พระนาคเสนผู้ประเสริฐ ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไปด้วย แต่ถือกำเนิดได้ด้วยอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ อย่างนั้น มหาบพิตร” 
     “ ถ้าอย่างนั้นขอนิมนต์อุปมา ” 
     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษผู้หนึ่งเอาประทีปมาต่อประทีป ประทีปจะก้าวไปจากประทีปเก่าหรือไม่ ? ” 
     “ ไม่ก้าวไป พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาอีก ” 
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรคงจำได้ว่าในเวลาที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ มีพระชันษาได้ ๑๐ ได้รับวิชาเลขและวิชากการต่าง ๆ ในสำนักอาจารย์หรือ ? ” 
     “ ได้รับ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร วิชาเลขและศิลปะต่าง ๆ นั้น ก้าวย่างไปจากอาจารย์หรือไม่ ? ” 
     “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไปเลย แต่ถือกำเนิดได้ ” 
     “ ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๖ ถามถึงผู้สำเร็จเวทย์

     “ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือไม่ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร เมื่อว่าตามปรมัตถ์แล้ว...ไม่มี ” 
     “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๗ ถามถึงการก้าวไปแห่งสภาพ

     “ ข้าแต่พระนาคเสน สภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวไปจากกายนี้สู่กายอื่นมีอยู่หรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ไม่มีเลย ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวจากกายนี้ไปสู่กายอื่นไม่มี บุคคลก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลายมิใช่หรือ ” 
     “ ขอถวายพระพร ถ้าเขาไม่เกิดอีก ก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่เพราะเขายังเกิดอยู่ เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” 
     “ ขอถวายพระพร เปรียบเช่นเดียวกับบุรุษคนหนึ่ง ขโมยมะม่วงที่ผู้อื่นปลูกไว้ เขาควรจักต้องได้รับโทษหรือไม่ ? ” 
     “ ควรได้รับโทษ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร มะม่วงที่บุรุษนั้นขโมยไป ไม่ใช่มะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้เหตุใดผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มะม่วงเหล่านั้นอาศัยมะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้ จึงเกิดเป็นลำดับขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลย่อมทำกรรมดีหรือชั่วไว้ด้วย นามรูปนี้ แล้ว นามรูปอื่น ก็เกิดขึ้นด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ” 
     “ แก้ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๘ ถามถึงที่อยู่แห่งผลกรรม

     “ ข้าแต่พระนาคเสน กรรมดีและกรรมชั่ว ที่บุคคลทำด้วยนามรูปนี้ไปอยู่ที่ไหน ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ติดตามผู้ทำไปเหมือนกับเงาตามตัว ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้หรือไม่ว่า กรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ไม่อาจชี้ได้ ” 
     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่มีผล มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่าผลอยู่ที่ไหน ? ” 
     “ ไม่อาจชี้ได้ พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อการสืบต่อยังไม่ขาด ก็ไม่อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้ว่ากรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ” 
     พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า 
     “ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๙ ถามถึงความรู้สึกของผู้จะเกิดอีก

     “ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นรู้หรือว่า เราจะเกิด ? ” 
     “ ขอถวายพระพรรู้ ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” 
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างชาวนาหว่านพืชลงที่แผ่นดินแล้ว เมื่อฝนตกดีเขารู้หรือว่า พืชจักงอกงามขึ้น ? ” 
     “ รู้พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นก็รู้ว่า เราจักเกิด ” 
     “ ชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องที่อยู่ของพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพาน

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร มีจริง ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้ได้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ? ” 
     “ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยการดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” 
     “ ขอถวายพระพร เปลวไฟที่ดับไปแล้วมหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ? ” 
     “ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะเปลวไฟนั้นถึงซึ่งความไม่มีบัญญติแล้ว ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีใครอาจชี้ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียง พระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ” 
     “ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว ”

- - - - - จบวรรคที่ ๕ - - - - -



  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย