พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน เวทคู คือผู้ถึงเวทย์มีอยู่หรือ? ”
พระเถระจึงย้อนถามว่า
“ มหาบพิตร ในข้อนี้ใครชื่อว่าเวทคู ? ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในนี้ ย่อมเห็นรูปด้วยตาได้ยินเสียงด้วยหู สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นี้แหละชื่อว่า “ เวทคู ” โยมจะเปรียบให้พระผู้เป็นเจ้าฟัง เหมือนหนึ่งว่าเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ปรารถนาจะแลดูออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ ก็แลดูออกไปทางช่องหน้าต่างนั้น ๆ จะเป็นทางตะวันออก หรือทางตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้ตามประสงค์ฉันใด อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายในร่างกายนี้ ต้องการจะดูออกไปทางทวารใด ๆ ก็ดูออกไปทางทวารนั้น ๆ แล้วก็ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้สูดดมกลิ่นด้วยจมูก ได้รู้รสด้วยลิ้น ได้ถูกต้องสัมผัสด้วยกาย ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ฉันนั้น ”
พระนาคเสนถวายพระพรตอบว่า
“ อาตมภาพจะกล่าวให้ยิ่งขึ้นไป คือเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ ต้องการจะแลออกไปทางช่องหน้าต่างใด ๆ จะเป็นทางตะวันออกหรือตะวันตก ทางเหนือ ทางใต้ ก็ได้เห็นรูปต่าง ๆ ฉันใด
บุคคลต้องได้เห็นรูปด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายใจ อันเป็น อัพภันตรชีพ อย่างนั้นหรือ ?
ต้องได้ฟังเสียงด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
ต้องได้สูดกลิ่นด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
ต้องได้รู้รสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ?
ต้องถูกต้องสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ ?
ต้องรู้ธรรมารมณ์ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันนั้นหรือ? ”
“ ไม่ใช่ฉันนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่าเราทั้งสองนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ เมื่อเปิดช่องหน้าต่างเหล่านี้ไว้ แล้วแลออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ก็ต้องเห็นรูปได้ดี ฉันใด อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อเปิดจักขุทวารหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ก็เห็นรูปได้ดี เมื่อเปิดหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้แล้วหันหน้าออกไปภายนอกทางอากาศอันกว้างใหญ่ ต้องเห็นรูปได้ดีฉันนั้น อย่างนั้นหรือ ? ”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร คำหลังกับคำก่อนหรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตร ย่อมไม่สมควรแก่กัน เหมือนอย่างว่า มียาจกเข้ามารับพระราชทานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากมหาบพิตร แล้วออกไปยืนอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก มหาบพิตรทรงรู้หรือไม่? ”
“ อ๋อ…รู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ผู้ที่ได้รับพระราชทานแล้วเข้าไปภายใน ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของมหาบพิตร พระองค์รู้หรือว่าผู้นี้เข้ามาในภายใน มายืนอยู่ข้างหน้าเรา ? ”
“ รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ อัพภันตรชีพ นั้น เมื่อวางรสไว้ที่ลิ้น ก็รู้ว่าเป็นรสเปรี้ยว หรือรสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสฝาด รสหวานหรือไม่ ? ”
“ รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เมื่อรสเหล่านั้นไม่เข้าไปภายใน อัพภันตรชีพ นั้น รู้หรือไม่ว่าเป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสขม รสเผ็ด รสฝาด รสหวาน ? ”
“ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ นี่แหละ มหาบพิตร จึงว่าคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของมหาบพิตรไม่สมควรแก่กัน ไม่สมกัน
เหมือนกับมีบุรุษผู้หนึ่งให้บรรทุกน้ำผึ้งตั้ง ๑๐๐ หม้อ มาเทลงในรางน้ำผึ้ง แล้วมัดปากบุรุษนั้นไว้ จึงเอาทิ้งลงไปในรางน้ำผึ้งบุรุษนั้นจะรู้จักรสน้ำผึ้งหรือไม่? ”
“ ไม่รู้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร ? ”
“ เพราะน้ำผึ้ง ไม่เข้าไปในปากของเขา ”
“ ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่าคำหลังกับคำต้น หรือคำต้นกับคำหลังของมหาบพิตร ไม่สมควรแก่กัน เข้ากันไม่ได้”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมไม่อาจสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าในข้อนี้ได้แล้ว ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงข้อนึ้ให้โยมเข้าใจเถิด ”
ลำดับนั้น พระเถระจึงแสดงให้พระเจ้ามิลินท์เข้าพระทัย ด้วยถ้อยคำอันเกี่ยวกับ อภิธรรม ว่า
“ ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัย ตา กับ รูป แล้วจึงมี เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ อันเกี่ยวข้องกับจักขุวิญญาณนั้น เกิดขึ้นตามปัจจัยถึง โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็เกิดขึ้นได้เพราะอาศัย หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์แล้วจึงเกิด เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เหมือนกัน เป็นอันว่าผู้ชื่อว่า “ เวทคู ” ไม่มีในข้อนี้ ขอถวายพระพร”
พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ ได้ฟังชัดก็โสมนัสปรีดา มีพระราชดำรัสตรัสสรรเสริญว่า
“ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ สมควรแล้ว ”
อธิบาย
คำว่า “ เวทคู ” แปลว่า ผู้ถึงเวทย์ ท่านหมายความว่า เป็นผู้ถึงชึ่งความรู้ คือผู้รับรู้สิ่งต่าง ๆ พระเจ้ามิลินทร์เข้าใจว่า เวทคู นั้นเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นของมีชีวิตอยู่ภายใน อันเรียกว่า อัพภันตรชีพ ว่าเป็นผู้เห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู หรือดมกลิ่นด้วยจมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
ส่วนที่ถูกนั้น พระนาคเสนท่านกล่าวว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ อัพภันตรชีพ คือสิ่งที่เป็นอยู่ในภายใยเป็นเวทคูเลย การที่รู้อารมณ์ต่าง ๆ นั้น ได้แก่ วิญญาณ อันเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ต่างหากดังนี้ คือข้อนี้ท่านมุ่งแสดงเป็นปรมัตถ์ ( คือเรื่องของจิตและเจตสิก) ไม่ได้มุ่งแสดงเป็นสมมุติ ( คือธรรมะทั่วไป ) ถ้าว่าเป็นสมมุติ เวทคู นั้นก็มีตัวตน ดังนี้
“ ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด มโนวิญญาณ ก็ตามไปเกิดในที่นั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จักขุวิญญาณเกิดก่อน มโนวิญญาณเกิดทีหลัง หรืออย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณเกิดก่อน มโนวิญญาณเกิดทีหลัง”
“ ข้าแต่พระนาคเสน ก็จักขุวิญญาณบังคับมโนวิญญาณไว้หรือว่า เราจักเกิดในที่ใดเจ้าจงเกิดในที่นั้น หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ว่า เจ้าจักเกิดในที่ใด เราก็จักเกิดในที่นั้น อย่างนั้นหรือ ?”
“ ไม่ใช่อย่างนั้น มหาบพิตร วิญญาณทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ไฉนจึงว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น ”
“ ขอถวายพระพร ที่ว่าอย่างนั้น เพราะเป็นของลุ่ม ๑ เป็นประตู ๑ เป็นที่สะสมมา ๑ เป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา ๑ ”
เพราะเป็นของลุ่ม
“ ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นของลุ่ม นั้นคืออย่างไร ขอนิมนต์อุปมาด้วย? ”
“ ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมามหาบพิตรทรงเข้าพระทัยว่า น้ำจะไปทางไหน ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่ลุ่มมีอยู่ทางใดน้ำก็ต้องไปทางนั้น”
“ ขอถวายพระพร เมื่อฝนตกลงมาอีกน้ำจะไหลไปทางไหน ?”
“ ข้าแต่พระนาคเสน น้ำก่อนไปทางใด น้ำใหม่ก็ต้องไปทางนั้น”
“ ขอถวายพระพร น้ำก่อนสั่งน้ำหลังไว้หรือว่า เราไปทางใด เจ้าจงไปทางนั้น หรือว่าน้ำหลังสั่งน้ำก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า น้ำทั้งสองนั้นพูดจากันไม่ได้ แต่น้ำนั้นไหลไปได้ เพราะทางนั้นเป็นทางลุ่ม เป็นทางต่ำต่างหาก”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นที่ลุ่ม เป็นที่ต่ำจักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้ว่า เราเกิดในที่ใด เจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เหมือนกัน วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากันแต่ว่าเกิดในที่นั้นในสิ่งนั้น เพราะที่นั้นสิ่งนั้นเป็นเหมือนที่ลุ่มที่ต่ำ ฉะนั้น”
เพราะเป็นประตู
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นประตู นั้นอย่างไร ขอได้โปรดอุปมาด้วย ? ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าหัวเมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมค่ายประตูหอรบแน่นหนาแข็งแรง แต่มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว มีผู้อยากจะออกไปจากพระนครนั้น จะออกไปทางไหน ? ”
“ ออกไปทางประตูซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอถวายพระพร ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่งอยากจะออกไป เขาจะออกไปทางไหน? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษคนก่อนออกไปทางประตูใด บุรุษคนหลังก็ต้องออกไปทางประตูนั้นแหละ”
“ ขอถวายพระพร บุรุษคนก่อนสั่งบุรุษคนหลังไว้หรือว่า เราออกทางประตูใด เจ้าจงออกทางประตูนั้น หรือบุรุษคนหลังสั่งบุรุษคนก่อนไว้ว่า เจ้าออกทางประตูใด เราก็จักออกทางประตูนั้น ? ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษทั้งสองนั้นไม่ได้บอกกันไว้เลย แต่เขาออกไปทางเดียวกัน เพราะทางนั้นเป็นประตู ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะที่นั้นเป็นประตู ไม่ใช่จักขุวิญญาณสั่งที่มโนวิญญาณไว้ หรือมโนวิญญาณสั่งจักขุวิญญาณไว้ ทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากัน แต่เกิดขึ้นในที่แห่งเดียวกัน เพราะที่นั้นเป็นประตู”
เพราะเป็นที่สะสมมา
“ ข้าแต่พระเป้นเจ้า ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นที่สะสมมา นั้นคืออย่างไรขออุปมาให้แจ้งด้วย ? ”
“ ขอถวายพระพร เกวียนเล่มแรกไปก่อนแล้ว มหาบพิตรจะเข้าพระทัยว่า เกวียนเล่มที่ ๒ จะไปทางไหน ? ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มแรกไปทางใด เกวียนเล่มหลังก็ต้องไปทางนั้น”
“ ขอถวายพระพร เกวียนเล่มก่อนสั่งเกวียนเล่มหลังไว้หรือว่า เราไปทางใดเจ้าจงไปทางนั้น หรือว่าเกวียนเล่มหลังสั่งเกวียนเล่มก่อนไว้ว่า เจ้าจักไปทางใด เราก็จักไปทางนั้น ? ”
“ ไม่ได้สั่งไว้เลย ผู้เป็นเจ้า เพราะเกวียนทั้งสองนั้นไม่มีการพูดกัน แต่ไปทางเดียวกันเพราะทางนั้นเป็นทางที่สะสมมาแล้ว ”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จักขุวิญญาณกับมโนวิญญาณไม่ได้สั่งกันไว้เลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกันเพราะเป็นที่สะสมมาแล้ว”
เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา
“ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อว่าจักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมา นั้นคืออย่างไร ขอจงอุปมาให้ทราบด้วย? ”
“ ขอถวายพระพร ผู้ที่เริ่มเรียนศิลปะในการนับด้วยนิ้วมือ หรือนับตามลำดับ หรือขีดเป็นรอยขีด หรือหัดยิงธนู ทีแรกก็ช้าก่อนต่อมาภายหลังก็ไวขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติแล้ว คือได้กระทำมาเสมอ ฉันใด
จักขุวิญญาณเกิดในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดในที่นั้น จักขุวิญญาณไม่ได้สั่งมโนวิญญาณไว้เลยว่า เราเกิดในที่ใด เจ้าจงเกิดในที่นั้น มโนวิญญาณก็ไม่ได้สั่งจักขุวิญญาณไว้เลยว่า เจ้าจะเกิดในที่ใด เราก็จะเกิดในที่นั้นเพราะเป็นสิ่งที่เคยประพฤติมาแล้ว ฉันนั้น ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า วิญญาณทั้งสองนั้นไม่มีการพูดจากันเลย แต่เกิดในที่แห่งเดียวกันเพราะได้เคยประพฤติมา ถึง โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็เหมือนกัน อย่างนั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร เป็นอันเหมือนกันหมด ”
“ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
ข้อนี้ได้ใจความว่า วิญญาณทั้ง ๕ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมเกิดในที่แห่งเดียวกับ มโนวิญญาณ คือความรู้สึกทางใจด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ตาเห็นรูปได้ชื่อว่า จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงเกิดทีหลัง ทำให้รู้และเข้าใจได้ว่า รูปที่เห็นนั้นเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งของ มีลักษณะเป็นประการใด เพราะถ้าไม่มี มโนวิญญาณ เข้าร่วมด้วย ก็เหมือนกับคนนั่งใจลอยเหม่อมองไปข้างหน้า เมื่อไปถามว่าเห็นอะไรไหม…เขาก็ตอบว่าเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งใด เพราะไม่ได้ตั้งใจดู อย่างนี้เป็นต้น ถึงจะเป็นการฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้นรส สัมผัสถูกต้อง ก็มีสภาพเช่นดียวกัน
ฉะนั้น เพราะอาศัย จักขุวิญญาณ หรือ โสตวิญญาณ หรือ ฆานวิญญาณ หรือ ชิวหาวิญญาณ หรือ กายวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามเกิดขึ้นก่อนแล้ว มโนวิญญาณ จึงจะเกิดทีหลัง ดังนี้
“ ข้าแต่พระนาคเสน จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร คือ จักขุวิญญาณ เกิดในที่ใด เวทนา ก็เกิดในที่นั้น ถึง สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ วิตก วิจาร ก็เกิดใน ในที่นั้น ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เป็นต้น ก็เกิดในที่นั้น ขอถวายพระพร ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผัสสะ มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร ผัสสะ มีการ กระทบกัน เป็นลักษณะ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับแพะ ๒ ตัวชนกันอยู่ จักขุ เหมือนกับแพะตัวหนึ่ง รูป เหมือนกับแพะอีกตัวหนึ่ง ผัสสะ เหมือนกับการชนกันแห่งแพะทั้งสอง ”
“ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งไป ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า มือทั้งสองที่ตบกัน จักขุ เหมือนมือข้างหนึ่ง รูป เหมือนมืออีกข้างหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการกระทบกันแห่งมือทั้งสอง ”
“ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”
“ ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษเป่าปี่ ๒ เลาขึ้นพร้อมกัน จักขุ เหมือนปี่เลาหนึ่ง รูป เหมือนปี่อีกเลาหนึ่ง ผัสสะ เหมือนการรวมกันแห่งเสียงปี่ทั้งสองเลานั้น ”
“ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน เวทนา มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร เวทนา มีการ ทำให้รู้สึก เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง มีการ เสวย เป็นลักษณะ ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่ง ทำความดีความชอบต่อพระราชา เมื่อพระราชาทรงพอพระทัยแล้ว ก็ทรงพระราชทานทรัพย์ ยศ บริวาร ให้แก่บุรุษนั้น บุรุษนั้น ก็เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ แล้ว เขาก็คิดว่าเราได้ทำความดีต่อพระราชาไว้แล้ว เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง เหมือนกับบุรุษคนหนึ่งทำบุญกุศลไว้แล้ว ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์ เขาก็มีความสุขด้วยทิพย์สมบัติ แล้วเขาก็นึกได้ว่า เพราะเราได้ทำบุญกุศลไว้ในกาลก่อน เราจึงได้เสวยความสุขอย่างนี้
อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เวทนา มีการ ทำให้รู้สึก เป็นลักษณะ หรือมีการ เสวย เป็นลักษณะ ”
“ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรแล้ว ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน สัญญา มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร สัญญา มีการ จำ เป็นลักษณะ ”
“ จำอะไร ? ”
“ จำสีเขียว สีแดง สีขาว ขอถวายพระพร ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างเจ้าพนักงานคลังของพระราชา ได้เข้าไปที่คลังแล้ว เห็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพระราชา อันมีสีสันต่าง ๆ กัน คือ สีเขียวก็มี เหลืองก็มี แดงก็มี ขาวก็มี เลื่อมก็มี ก็จำไว้ได้เป็นอย่าง ๆ ไป ฉันใด สัญญา ก็มีการ จำ เป็นลักษณะฉันนั้น”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน เจตนา มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร เจตนา มีความ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า เจตนา มีการ ประชุมแห่งการตกแต่ง เป็นลักษณะ ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้หนึ่งตกแต่งยาพิษขึ้นแล้ว ก็ดื่มเองด้วย ให้ผู้อื่นดื่มด้วย เขาก็เป็นทุกข์ ผู้อื่นก็เป็นทุกข์ ฉันใด บางคนจงใจทำความชั่วแล้วก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกัน ฉันนั้น
อีกประการหนึ่ง บุรุษผู้นั้นตกแต่งเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้มีรสอันเดียวกัน แล้วก็ดื่มเองบ้าง ให้ผู้อื่นดื่มบ้าง เขาก็เป็นสุข ผู้อื่นก็เป็นสุข ฉันใด
บางคนจงใจทำความดีแล้วได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์ พวกใดทำตามบุรุษนั้น พวกนั้นก็ได้ขึ้นไปเกิดในสวรรค์เหมือนกัน ฉันนั้น
อย่างนี้แหละ มหาบพิตร เรียกว่า เจตนา มีการ จงใจ เป็นลักษณะ อีกอย่างหนึ่งว่า มีการ ปรุงแต่ง เป็นลักษณะ”
“ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน วิญญาณ มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร วิญญาณ มีการ รู้ เป็นลักษณะ ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เปรียบประดุจบุรุษผู้รักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ถนน ๔ แพร่งกลางพระนคร ต้องได้เห็นบุรุษผู้มาจากทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ฉันใด บุคคลเห็นรูป หรือฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส นึกถึงสิ่งใดด้วยใจ ก็รู้จักสิ่งนั้นได้ด้วย วิญญาณ ฉันนั้น วิญญาณมีการ รู้ เป็นลักษณะอย่างนี้แหละ มหาบพิตร ”
“ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน วิตก มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร วิตก มีการ ประกบแน่น เป็นลักษณะ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร ช่างไม้่ย่อมเข้าไม้ในที่ต่อ แล้วโบกด้วยปูนหรือทาด้วยสีให้สนิทฉันใด วิตก ก็มีการประกบแน่น มีการแนบแน่นเป็นลักษณะฉันนั้น”
“ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”
“ ข้าแต่พระนาคเสน วิจาร มีลักษณะอย่างไร ? ”
“ ขอถวายพระพร วิจาร มีการ ลูบคลำไปตามวิตก เป็นลักษณะ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ากังสดาล อันบุคคลเคาะด้วยสันดาบ ก็มีเสียงดังเป็นกังวานต่อ ๆ กันไป ฉันใด วิตก ก็เหมือนกับการเคาะ ฉันนั้น ส่วน วิจาร เหมือนกับเสียงดังครวญครางไป ”
“ สมควรแล้ว พระนาคเสน ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร ? ”
พระเถระตอบว่า
“ ขอถวายพระพร มนสิการ มีการ นึก เป็นลักษณะ ”
“ ถูกแล้ว พระนาคเสน ”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
“ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจแยกธรรมที่รวมเป็นอันเดียวกันเหล่านี้ ให้รู้ว่าต่างกันว่า อันนี้เป็น ผัสสะ อันนี้เป็น เวทนา อันนี้เป็น สัญญา อันนี้เป็น เจตนา อันนี้เป็น วิตก อันนี้เป็น วิจาร ได้หรือไม่?”
“ ไม่อาจ ขอถวายพระพร ”
“ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
“ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพ่อครัวของพระราชา เมื่อจะตกแต่งเครื่องเสวยก็ใส่เครื่องปรุงต่างๆ คือ นมส้ม เกลือ ขิง ผักชี พริก และสิ่งอื่น ๆ ลงไป ถ้าพระราชาตรัสสั่งว่า
“ เจ้าจงแยกเอารสนมส้มมาให้เรา จงแยกเอารสเกลือ รสขิง รสหวาน รสเปรี้ยว มาให้เราทีละอย่าง ๆ ”
พ่อครัวนั้นอาจแยกเอารสที่รวมกันอยู่เหล่านั้นมาถวายพระราชาว่า นี้เป็นรสเปรี้ยว นี้เป็นรสเค็ม นี้เป็นรสขม นี้เป็นรสเผ็ด นี้เป็นรสฝาด ได้หรือไม่ ? ”
“ ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่ว่าเขาอาจรู้ได้ตามลักษณะของรสแต่ละรส”
“ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร รวมกันเข้าแล้ว อาตมภาพก็ไม่อาจแยกออกให้รู้ได้แต่ละอย่าง ก็แต่ว่าอาจให้เข้าใจได้ตามลักษณะแห่งธรรมเป็นอย่าง ๆ ”
“ ขอถวายพระพร เกลือ เป็นของจะต้องรู้ด้วย ตา ใช่ไหม? ”
“ ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ ขอมหาบพิตรจงจำคำนี้ไว้ให้ดีนะ ”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น เกลือ เป็นของรู้ด้วย ลิ้น อย่างนั้นหรือ ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
“ ถ้าบุคคลรู้จักเกลือทั้งหมดด้วยลิ้น เหตุไฉนจึงบรรทุกเกลือมาด้วยเกวียน ควรบรรทุกมาเฉพาะความเค็มเท่านั้นไม่ใช่หรือ ? ”
“ ไม่อาจบรรทุกมาแต่ความเค็มเท่านั้นได้ เพราะว่าของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ส่วนความเค็มบุคคลอาจชั่งได้ด้วยตาชั่งหรือไม่มหาบพิตร? ”
“ อาจชั่งได้ พระผู้เป็นเจ้า ”
“ มหาบพิตร จงจำคำนี้ไว้ให้ดีว่า บุคคลอาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่ง”
“ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าว่าบุคคลไม่อาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่งอย่างนั้นหรือ? ”
“ อย่างนั้น มหาบพิตร ”
“ ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน ”
วิญญาณทั้ง ๕ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องมี มโนวิญญาณ คือ ความรู้สึกทางใจ เข้าร่วมด้วย จึงจะสำเร็จประโยชน์ในการเห็น การฟัง การดม การลิ้นรส และการสัมผัส เป็นต้น
เมื่อวิญญาณทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน เช่น จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณ ก็เกิดในที่นั้น เพราะอาศัย จักขุ กับ รูป ธรรมทั้งหลายมี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร มนสิการ ได้เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกัน แต่มีลักษณะต่างกัน ดังนี้
ผัสสะ มีลักษณะ กระทบกัน เช่น จักขุ กับ รูป เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น
เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ คือทำให้รู้สึกมีความสุข มีความทุกข์ หรือ รู้สึกเฉย ๆ เป็นต้น สัญญา มีลักษณะ จำ เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็จำได้ว่า มีสีสันวรรณะเป็นประการใด
เจตนา มีลักษณะ จงใจ หรือ ประชุมแห่งการตกแต่ง หมายถึงมุ่งกระทำความดีหรือความชั่วด้วยความจงใจ
วิญญาณ อันนี้ไม่ใช่วิญญาณที่มาถือกำเนิดในครรภ์ แต่ในที่นี้ท่านหมายถึง รู้ ในฎีกามิลินท์ท่านหมายถึง ประสาท เหมือนกัน
วิตก มีลักษณะ ประกบแน่น หมายถึงการที่จิตตรึกอารมณ์
วิจาร มีลักษณะ ลูบคลำไปตามวิตก คือจิตเคล้าอารมณ์ หรือจิตตรอง หรือพิจารณาอารมณ์ที่ตรึกนั้น
วิตก กับ วิจาร ท่านอธิบายมีความหมายคล้ายกัน คือ วิตก เหมือนกับคนเคาะระฆัง เมื่อมีเสียงดังกังวานครวญครางขึ้นท่านเรียกว่า วิจาร ได้แก่อารมณ์คิดพิจารณานั้นเอง
มนสิการ มีลักษณะ นึก ในข้อนี้ท่านไม่ได้ยกอุปมา เพราะได้เคยอุปมาให้พระเจ้ามิลินท์ได้ทราบไว้แล้ว
รวมความว่า การที่จะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสได้นั้น ไม่ใช่ อัพภันตรชีพ ( สิ่งที่เป็นอยู่ในภายในกายนี้) เป็น “ เวทคู ” คือเป็นผู้รับรู้ แต่การที่จะมีความรู้สึกได้เพราะอาศัย วิญญาณ ต่างหาก และวิญญาณทั้ง ๕ นี้ย่อมไหลไปสู่ มโนวิญญาณ เหมือนกับน้ำไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉะนั้น
แต่ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นด้วยกัน อันมี ผัสสะ เป็นต้นนั้น ท่านไม่สามารถจะแยกออกมาได้ว่า อันนี้เป็นผัสสะ อันนี้เป็นเวทนาหรือ อันนี้เป็นสัญญา เปรียบเหมือนเครื่องแกงที่ผสมกันหมดแล้ว รสชาติของมันปรากฏอยู่ตามลักษณะของมัน แต่จะแยกออกมาไม่ได้
คำเปรียบเทียบของพระนาคเสนเรื่องนี้เหมาะสมมาก คือเมื่อเครื่องแกงผสมเป็นน้ำแกงแล้ว เมื่อเราตักออกมาช้อนหนึ่งชิมดูย่อมมีรสเครื่องแกงทุกอย่างผสมอยู่ แต่จะแยกออกมาหาได้ไม่
แต่เราพอบอกได้ว่า ความเผ็ดเป็นรสของพริก ความเค็มเป็นรสของเกลือ ความเปรี้ยวเป็นรสของน้ำส้มหรือมะนาว และความหวานเป็นรสของน้ำตาล เป็นต้น
อนึ่ง เหมือนกับการบรรทุกเกลือ แต่จะไม่บรรทุกความเค็มมาด้วย หรือจะชั่งเฉพาะเกลือ แต่ไม่ชั่งความเค็มด้วยนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ เพราะของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ฉันใด
ธรรมทั้งหลายอันมี ผัสสะ เป็นต้น ได้ปรากฏชัดตามลักษณะของตน แต่จะแยกออกมาแต่ละอย่าง ๆ มิได้เช่นกัน ฉันนั้น