มิลินทปัญหา ตอนที่ ๑

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน


คำนมัสการพระรัตนตรัยของพระติปิฎกจุฬาภัยเถระ
พระจริยาอันเป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง ของพระสัพพัญณูพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณธรรมอันใหญ่พระองค์ใดมีอยู่ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้สมเด็จพระบรมครูพระองค์นั้น
ซึ่งเป็นผู้มีอานุภาพอันเป็นอจินไตย ผู้เป็นนายกอันเลิศของโลก

สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์พระองค์ใด เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาจรณะ นำหมู่สัตว์ออกจากโลกด้วยธรรมะอันนั้น ซึ่งเป็นธรรมะอันสูงสุด เป็นธรรมะอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบูชา

พระอริยสงฆ์ใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลคุณเป็นต้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ผล ๔ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระอริยสงฆ์นั้น ผู้เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก

บุญอันใดที่ข้าพเจ้าทำให้เกิดขึ้นด้วยการนอบน้อมพระรัตนตรับอย่างนี้ ด้วยเดชแห่งบุญอันนั้น จงให้อันตรายหายไปจากข้าพเจ้าในที่ทั้งปวง จงให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปราศจากอันตราย

มิลินทปกรณ์ คือคัมภีร์มิลินท์อันใดที่ประกอบด้วยปุจฉาพยากรณ์มีอยู่ ขอท่านทั้งหลายจงฟังปัญหาทั้งหลายอันละเอียดลึกซึ้ง ที่มีอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหานั้น เพราะการฟังมิลินทปัญหานั้น จักทำให้เกิดประโยชน์สุข
พุทธพยากรณ์ในวันปรินิพพาน
เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับเหล่าพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จไปที่เมืองกุสินารามหานคร ในเวลาที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงบรรทมบนบัลลังก์ หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ในระหว่างนางรังทั้งคู่อันมีอยู่ในพระราชอุทยานของพวกมัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งปวงมีความสิ้นความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวงด้วยความไม่ประมาทเถิด ธรรมวินัยอันใด เราบัญญติไว้แล้ว เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยนั้นแหละ จะเป็นครูของพวกเธอ

เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปจะระลึกถึงถ้อยคำที่ไม่ดีของ สุภัททภิกขุผู้บวชเมื่อแก่ แล้วจะกระทำสังคายนา เพื่อรักษาพระพุทธวจนะไว้มิให้คลาดเคลื่อน ( สังคายนา ครั้งที่ ๑)

ต่อนั้นไปอีก ๑๐๐ ปี พระยสกากัณฑกบุตร ผู้จะย่ำยีซึ่งถ้อยคำของพวกภิกษุวัชชีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ ๒

ต่อไปอีกได้ ๒๑๘ ปี พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ ๓

ต่อมาภายหลัง พระมหินทเถระจะไปประดิษฐานศาสนาของเรา ลงไว้ที่ตามพปัณณิทวีป (ลังกา) ต่อจากเราปรินิพพานไปล่วงได้ ๕๐๐ ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่ง ชื่อว่า "มิลินท์" ผู้ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอันละเอียดขึ้น ด้วยอานุภาพปัญญาของตน จะย่ำยีเสียซึ่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยปัญหาอันละเอียด จะมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่า "นาคเสน" ไปทำลายถ้อยคำของ มิลินทราชา ทำให้มิลินทราชาเกิดความร่าเริงยินดีด้วยอุปมาเป็นเอนก จะทำศาสนาของเราให้หมดเสี้ยนหนามหลักตอ จะทำศาสนาของเราให้ตั้งอยู่ตลอด ๕๐๐๐ พรรษา" ดังนี้

เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดเกิดในตระกูลในเวลาล่วงได้ ๕๐๐ ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วนั้น ผู้นั้นจักได้ชื่อว่า "มิลินทราชา" เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนคร อันเป็นเมืองอุดม มิลินทราชานั้น จักได้ถามปัญหาต่อพระนาคเสน มีอุปมาเหมือนกับน้ำในแม่น้ำคงคาไหลไปสู่มหาสมุทรสาครฉะนั้น พระองค์เป็นผู้มีถ้อยคำอันวิจิตร ได้เสด็จไปหาพระนาคเสนในเวลาราตรี มีคบเพลิงจุดสว่างไสว แล้วถามปัญหาล้วนแต่ละเอียดลึกซึ้ง ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้ด้วยดี ฟังปัญหาอันละเอียดในคัมภีร์มิลินท์นั้นเถิด จะเกิดประโยชน์สุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน ดังนี้

พระนครของพระเจ้ามิลินท์ มีคำเล่าลือปรากฏมาว่า "เมืองสาคลนครของชาวโยนก เป็นเมืองที่งดงามด้วยธรรมชาติอันน่ารื่นรมย์ อุทยานอันมีสระน้ำ สวนดอกไม้ผลไม้ ตกแต่งไว้อย่างดี มีหมู่นกมากมายอาศัยอยู่ ป้อมปราการก็แข็งแรง ปราศจากข้าศึกมารบกวน ถนนหนทางภายในพระนครเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างม้ารถอันคล่องแคล่ว อีกทั้งหมู่สตรีล้วนมีรูปร่างสวยงาม ต่างเที่ยวสัญจรไปมา ทั้งเป็นที่พักพาอาศัยของ สมณพราหมณ์ พ่อค้าสามัญชนต่าง ๆ เมืองสาคลนครนั้น สมบูรณ์ด้วยผ้าแก้วแหวนเงินทอง ยุ้งฉาง ของกินของใช้มีตลาดร้านค้าเป็นที่ไปมาแห่งพ่อค้า ข้างนอกเมืองก็บริบูรณ์ด้วยพืชข้าวกล้า อุปมาเหมือนข้าวกล้าในอุตตรกุรุทวีป หรือไม่ก็เปรียบเหมือนกับ "อารกมัณฑาอุทยาน" อันสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชฉะนั้น"
สรุปหัวข้อปัญหา
ท่านพรรณามาถึงตอนนี้ แล้วจึงได้แยกเรื่องไว้ ๖ อย่าง คือ บุพพโยค ๑ มิลินทปัญหา ๑ เมณฑกปัญหา ๑ อนุมานปัญหา ๑ ลักขณปัญหา ๑ อุปมากถาปัญหา ๑ ฉะนั้น

ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะพบกับเนื้อความในหนังสือเล่นนี้ต่อไป ผู้รวบรวมขอสรุปหัวข้อปัญหาให้ทราบไว้ก่อน ดังนี้
๑. บุพพโยค คือเรื่องเบื้องต้นก่อนที่จะถามปัญหา
๒. มิลินทปัญหา เป็นปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ถาม ปัญหาชุดนี้มี ๗ วรรค
๓. นอกวรรค มีเพียงปัญหาเดียว คือ โคตมีปัญหา
๔. เมณฑกปัญหา คือการถามปัญหาที่เป็นสองแง่ ปัญหาชุดนี้มี ๙ วรรค
๕. อุปมาปัญหา ว่าด้วยอุปมาต่าง ๆ ปัญหาชุดสุดท้ายนี้มี ๗ วรรค

เมื่อจบการถามตอบปัญหาแล้ว ก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ต่อมาพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสละราชสมบัติ เมื่อทรงออกผนวชแล้วก็ได้สำเร็จพระอรหันต์

เป็นอันว่า ท่านผู้อ่านก็ได้ทราบไว้ก่อนแล้วว่า หนังสือเล่นนี้ มีการจัดหมวดหมู่ไว้อย่างไรบ้าง จะช่วยให้ง่ายต่อการจดจำ จึงหวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะมีความอุตสาหะอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ พยายามทบทวนทำความเข้าใจในถ้อยคำของท่าน แล้วจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ณ โอกาสนี้ จึงขอเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านพบกับเรื่อง บุพพโยค คือเรื่องเบื้องต้นได้ตั้งแต่บัดนี้
เรื่องเบื้องต้น บุพพกรรมของบุคคลทั้งสอง
บุพพกรรมของ พระเจ้ามิลินท์ และ พระนาคเสน

กล่าวคือ เมื่อครั้งศาสนาของสมเด็จพระพุทธกัสสป โน้น มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิชิตาวี เสวยราชย์อยู่ใน สาคลนครราชธานี พระองค์ทรงอนุเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ สร้างมหาวิหารลงไว้ที่ริมแม่น้ำคงคา ถวายพระเถระทั้งหลายที่ทรงคุณธรรมต่าง ๆ กัน มีทรงพระไตรปิฎก เป็นต้น ทั้งทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔

เมื่อพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเป็น พระอินทร์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานิสงค์นั้น และมหาวิหารที่ท้าวเธอทรงสร้างไว้ ถึงพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ดี ก็มีพระภิกษุอาศัยอยู่เป็นอันมาก ในพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น พระภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยข้อวัตรเป็นอันดี เช้าขึ้นก็ได้ถือเอาไม้กวาดด้ามยาว แล้วนึกถึงพระพุทธคุณ แล้วจึงพากันกวาดบริเวณพระเจดีย์ กวาดเอาหยากเยื่อไปรวมเป็นกองไว้ มีพระภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลองค์หนึ่งเรียกสามเณรองค์หนึ่งว่า

"จงมานี่…สามเณร! จงหอบเอาหยากเยื่อไปเททิ้งเสีย" สามเณรนั้นก็เฉยอยู่ เหมือนไม่ได้ยิน พระภิกษุองค์นั้นเรียกสามเณรองค์นั้น ๓ ครั้ง เห็นสามเณรนั่งนิ่งเฉยเหมือนไม่ได้ยินก็คิดว่า สามเณรองค์นี้หัวดื้อ จึงไปตีด้วยด้ามไม้กวาด สามเณรก็ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด แล้วหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งด้วยความกลัว เมื่อหอบเอาหยากเยื่อไปทิ้งนั้น ได้ปรารถนาว่า

"ด้วยผลบุญที่เราหอบหยากเยื่อมาทิ้งนี้ หากเรายังไม่ถึงนิพพานเพียงใด เราจะเกิดในภพใด ๆ ก็ตาม ขอให้เรามีเดชเหมือนกับดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงวันฉะนั้นเถิด"

สามเณรตั้งความปรารถนาดังนี้แล้ว ก็เดินไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา ดำผุดดำว่ายเล่นตามสบายใจ เมื่อสบายใจแล้วก็ได้เห็นละลอกคลื่นในแม่น้ำนี้มากมายนักหนา ยินดีปรีดาจะใคร่มีปัญญาเฉลียดฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น ดุจลูกคลื่นในแม่น้ำนั้น และได้คิดว่าอาจารย์ได้ใช้ให้เราหอบเอาหยากเยื่อมาทิ้งนี้ ไม่ใช่เป็นกรรมของเรา ทั้งไม่ใช่เป็นกรรมของอาจารย์แต่เป็นการอนุเคราะห์เราให้ได้บุญเท่านั้น ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงปรารถนาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า

"ข้าพเจ้ายังไม่ถึงนิพพานตราบใด ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปเกิดในชาติใด ๆ ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาไม่รู้จักสิ้นสุด เหมือนกับลูกคลื่นในแม่น้ำคงคานี้เถิด"

ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์นั้น เมื่อเอาไม้กวาดไปเก็บไว้ที่โรงเก็บไม้กวาดแล้ว ก็ลงไปที่ท่าน้ำคงคาเพื่อจะอาบน้ำ ก็ได้ยินเสียงสามเณรตั้งความปรารถนา จึงคิดว่า ความปรารถนาของสามเณรนี้ เป็นความปรารถนาใหญ่ จะสำเร็จได้เพราะอาศัยพระพุทธคุณ

คิดดังนี้แล้ว จึงหัวเราะขึ้นด้วยความดีใจว่า สามเณรนี้ถึงเป็นผู้ที่เราใช้ก็ยังปรารถนาอย่างนี้ ความปรารถนาของสามเณรนี้ จักสำเร็จเป็นแน่แท้

คิดดังนี้แล้ว จึงตั้งความปรารถนาว่า "ข้าพเจ้ายังไม่สำเร็จนิพพานตราบใด ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาหาที่สุดมิได้ เหมือนกับฝั่งแม่น้ำคงคานี้ ให้เป็นผู้สามารถแก้ไขปัญหาปฏิภาณทั้งปวง ที่สามเณรนี้ไต่ถามได้สิ้น ให้สามารถชี้แจงเหตุผลต้นปลายได้ เหมือนกับบุรุษที่ม้วนกลุ่มด้ายสางด้วยอันยุ่งให้รู้ได้ว่า ข้างต้นข้างปลายฉะนั้น ด้วยอำนาจบุญที่ข้าพเจ้าได้กวาดวัด และใช้สามเณรให้นำหยากเยื่อมาเททิ้งนี้เถิด"

เมื่อบุคคลทั้งสองนั้น ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทพยดาและมนุษย์ ก็ล่วงมาถึง ๑ พุทธันดร พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายผู้เป็นที่พึ่งของโลกได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า

ความเกิดขึ้นแห่งพระเถระทั้งหลาย มีพระโมคคลีบุตรติสสเถระ และพระอุปคุตตเถระ เป็นต้น จักปรากฏฉันใด ความเกิดขึ้นแห่งบุคคลทั้งสองนั้น ก็จะปรากฏฉันนั้น เมื่อเราปรินิพพานล่วงไปได้ ๕๐๐ ปีแล้ว บุคคลทั้งสองนั้นจักเกิดขึ้น ธรรมวินัยอันใด อันเป็นของสุขุมที่เราได้แสดงไว้ ธรรมวินัยอันนั้น บุคคลทั้งสองนั้นจักแก้ไขให้หมดฟั่นเฝือด้วยการไต่ถามปัญหากัน ดังนี้

ต่อมาสามเณรนั้น ก็ได้มาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์ ในสาคลนคร อันมีในชมพูทวีป พระเจ้ามิลินท์นั้นเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาดมีความคิดดี สามารถรู้เหตุการณ์อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันได้ เป็นผู้ใคร่ครวญในเหตุการณ์ถี่ถ้วนทุกประการ เป็นผู้ได้ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ถึง ๑๘ ศาสตร์ด้วยกัน รวมเป็น ๑๙ กับทั้งพุทธศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ คือ

๑. รู้จักภาษาสัตว์ มีเสียงนกร้อง เป็นต้น ว่าร้ายดีประการใดได้สิ้น
๒. รู้จักกำเนิดเขาและไม้ เป็นต้น ว่าชื่อนั้น ๆ
๓. คัมภีร์เลข
๔. คัมภีร์ช่าง
๕. คัมภีร์นิติศาสตร์ รู้ที่จะเป็นครูสั่งสอนท้าวพระยาทั้งปวง
๖. คัมภีร์พาณิชยศาสตร์ รู้ที่จะเลี้ยงฝูงชนให้เป็นสิริมงคล
๗. พลศาสตร์ รู้นับนักขัตฤกษ์ รู้ตำราดวงดาว
๘. คัมธัพพศาสตร์ รู้เพลงขับร้องและดนตรี
๙. เวชชศาสตร์ รู้คัมภีร์แพทย์
๑๐. ธนูศาสตร์ รู้ศิลปะการยิงธนู
๑๑. ประวัติศาสตร์
๑๒. ดาราศาสตร์ รู้วิธีทำนายดวงชะตาของคน
๑๓. มายาศาสตร์ รู้ว่านี่เป็นแก้ว นี่มิใช่แก้ว เป็นต้น
๑๔. เหตุศาสตร์ ผลศาสตร์ รู้จักเหตุ รู้จักผลจะบังเกิด
๑๕. ภูมิศาสตร์ รู้จักที่จะเลี้ยงโคกระบือ รู้การที่จะหว่านพืชลงในนาไร่ให้เกิดผล
๑๖. ยุทธศาสตร์ รู้คัมภีร์พิชัยสงคราม
๑๗. ลัทธิศาสตร์ รู้คัมภีร์โลกโวหาร
๑๘. ฉันทศาสตร์ รู้จักคัมภีร์ผูกบทกลอนกาพย์โคลง


พระเจ้ามิลินท์นั้น มีถ้อยคำหาผู้ต่อสู้ได้ยาก ปรากฏยิ่งกว่าพวกเดียรถีย์ทั้งปวงไม่มีใครเสมอเหมือนในทางสติปัญญา ทั้งประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ คือ ๑. มีเรี่ยวแรงมาก ๒. มีปัญญามาก ๓. มีพระราชทรัพย์มาก

อยู่มาคราวหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ได้เสด็จออกจากพระนคร ด้วยพลนิกรเป็นอันมากหยุดพักนอกพระนครแล้ว ตรัสแก่พวกอำมาตย์ว่า

" เวลายังเหลืออยู่มาก เราจะทำอะไรดี เราจะกลับเข้าเมืองก็ยังวันอยู่ สมณพราหมณ์เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ที่ยืนยันว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดหนออาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้ "

เมื่อตรัสอย่างนี้ พวกโยนกข้าหลวงทั้ง ๕๐๐ ก็กราบทูลขึ้นว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า บัณฑิตที่จะพอสนทนากับพระองค์ได้นั้นมีอยู่ คือครูทั้ง ๖ อันได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล นิคัณฐนาฏบุตร สญชัยเวฬฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ พระเจ้าข้า ครูทั้ง ๖ นั้น เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียงปรากฏ มียศบริวารมีผู้คนนับถือมาก ขอมหาราชเจ้าจงเสด็จไปไต่ถามปัญหา

ต่อคณาจารย์เหล่านั้นเถิดคณาจารย์เหล่านั้นจะตัดความสงสัยของพระองค์ได้ พระเจ้าข้า "

พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาครูทั้ง ๖ ลำดับนั้นพระเจ้ามิลินท์ก็ห้อมล้อมด้วยข้าหลวงโยนกทั้ง ๕๐๐ ขึ้นทรงราชรถเสด็จไปหา ปูรณกัสสป ทรงปราศรัยแล้วประทับนั่งลงตรัสถามว่า

" ท่านกัสสป อะไรรักษาโลกไว้ ? " ปูรณกัสสปตอบว่า

" ขอถวายพระพร แผ่นดินรักษาโลกไว้ " พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า

"ถ้าแผ่นดินรักษาโลกไว้ เหตุไรผู้ทำบาปจึงล่วงเลยแผ่นดินลงไปถึงอเวจีนรกล่ะ ?"

เมื่อตรัสอย่างนี้ ปูรณกัสสปก็ไม่อาจโต้ตอบได้ ได้แต่นั่งนิ่งกลืนน้ำลายอยู่เท่านั้น ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์จึงทรงดำริว่าชมพูทวีปว่างเปล่าเสียแล้ว เพราะไม่มีสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ คณาจารย์ ผู้อวดอ้างตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะสามารถตัดความสงสัยของเราได้

ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปหา มักขลิโคสาล ตรัสถามว่า

" ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือเปล่า ?" มักขลิโคสาลตอบว่า

" ขอถวายพระพร ไม่มี…คือพวกใดเคยเป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ เวศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออยู่ในโลกนี้ เวลาไปถึงโลกหน้าก็จะเกิดเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ ศูทร จัณฑาล คนเทหยากเยื่ออีกการทำบุญไม่มีประโยชน์อะไร "

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า " ถ้าอย่างนี้ พวกใดที่มีมือด้วนเท้าด้วนในโลกนี้ พวกนั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะต้องมีมือด้วนเท้าด้วยอีกน่ะซี "

มักขลิโคสาลตอบว่า " อย่างนั้น มหาบพิตร คือผู้ใดได้รับโทษถูกตัดมือเท้าในโลกนี้ เวลาผู้นั้นไปเกิดในโลกหน้า ก็จะถูกตัดมือตัดเท้าอีก"

พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า " โยมไม่เชื่อ " มักขลิโคสาลก็นิ่ง

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสต่อไปว่า " นี่แนะ มักขลิโคสาล ข้าพเจ้าถามท่านว่า ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีอยู่หรือ ท่านก็แก้เสียอย่างนี้ ท่านเป็นคนโง่เขลา พวกใดทำกรรมที่จะให้เกิดไว้อย่างใด ๆ พวกนั้นก็ต้องไปเกิดด้วยกรรมอย่างนั้น ๆ "

ครั้งตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสแก่พวกอำมาตย์ขึ้นว่า " นี่แน่ะ ท่านทั้งหลาย เวลานี้ก็ค่ำแล้วเราจะไปหาสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ใด ๆ อีก ผู้ใดจะอาจสนทนากับเราได้ อาจตัดความสงสัยของเราได้" ตรัสอย่างนี้หลายหน แต่พวกอำมาตย์ก็พากันนิ่งอยู่ ไม่รู้ว่าจะกราบทูลอย่างไรท้าวเธอก็เสด็จกลับเข้าสู่พระนคร

ต่อจากนั้นไป พระองค์ก็ได้ไปเที่ยวไต่ถามสมณพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะคณาจารย์ ในที่นั้น ๆ ไม่เลือกหน้า พวกใดแก้ปัญหาของท้าวเธอไม่ได้ พวกนั้นก็หนีไป พวกที่ไม่หนีก็สู้ทนนิ่งอยู่ แต่โดยมากได้พากันหนีไปสู่ป่าหิมพานต์ เมืองสาคลนครจึงเป็นเหมือนกับว่างจากสมณพราหมณ์อยู่ถึง ๑๒ ปี
พระอรหันต์ขึ้นไปเชิญมหาเสนะเทพบุตร
ในคราวนั้น มีพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ อาศัยอยู่ที่ ถ้ำรักขิตเลณะ ในภูเขาหิมพานต์ ได้ทราบประวัติการณ์ของพระเจ้ามิลินท์แล้วจึงได้ขึ้นไปประชุมกันที่ยอดภูเขายุคันธร ถามกันขึ้นว่า

" มีพระภิกษุองค์ใด สามารถโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ ตัดความสงสัยของพระองค์ได้ ? " ถามกันอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง พระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ โกฏิก็นิ่งอยู่

ลำดับนั้น พระอัสสคุตตะ ผู้เป็นหัวหน้า จึงกล่าวขึ้นว่า " ดูก่อนท่านทั้งหลาย มหาเสนะเทพบุตรที่อยู่ในเกตุมดีวิมาน ทางด้านตะวันออกแห่งเวชยันตวิมานของพระอินทร์มีอยู่ มหาเสนะเทพบุตรนั้นแหละ อาจโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้ อาจตัดความสงสัยของพระองค์ได้ "

พระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ โกฏิ จึงได้พร้อมกันขึ้นไปหาพระอินทร์ที่ดาวดึงสเทวโลก พระอินทร์จึงเสด็จออกมาต้อนรับกราบไหว้แล้วถามว่า

" ข้าแต่ท่านทั้งหลาย มีพระภิกษุสงฆ์มาเป็นอันมาก โยมนี้เป็นเหมือนกับคนวัดสำหรับรับใช้ พระภิกษุสงฆ์จะให้โยมทำอะไร ขอได้โปรดบอกเถิด"

พระอัสสคุตต์จึงถวายพระพรว่า " เวลานี้มหาราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า " มิลินท์ " อยู่ในชมพูทวีป เป็นผู้ได้เรียนศาสตร์ต่าง ๆ ไว้เป็นอันมาก ฉลาดเจรจา ไม่มีใครสู้ได้ ได้เที่ยวเบียดเบียนพระภิกษุสงฆ์ ด้วยการถามปัญหาตามลัทธิเดียรถีย์ ขอถวายพระพร"

พระอินทร์จึงตรัสว่า " อ้อ…พระราชาองค์นั้น ได้จุติไปจากดาวดึงส์นี้เอง "

" อย่างนั้นหรือ…มหาบพิตร "

" อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่จะโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์ได้นั้น มีแต่มหาเสนะเทพบุตรเท่านั้น โยมจะไปอ้อนวอนเขาให้ลงไปเกิดในมนุษยโลก "

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ก็พาพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปที่เกตุมดีวิมาน ทรงเข้าไปสวมกอดมหาเสนะเทพบุตรแล้ว จึงตรัสขึ้นว่า

" นี่แน่ะ มหาเสนะผู้หาทุกข์มิได้ บัดนี้พระภิกษุสงฆ์ขอให้เจ้าลงไปเกิดในมนุษยโลก "

มหาเสนะเทพบุตรจึงกราบทูลว่า " ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ไม่ต้องการลงไปเกิดในมนุษยโลก เพราะมนุษยโลกเดือดร้อนด้วยการงานมาก ข้าพระองค์จะไปเกิดในเทวโลกชั้นสูง ๆ ต่อขึ้นไป แล้วจะเข้านิพพานจากเทวโลกชั้นสูงนั้น พระเจ้าข้า "

พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวขึ้นว่า " นี่แน่ะ ท่านผู้หาทุกข์มิได้ พวกเราได้พิจารณาดูตลอดมนุษยโลก เทวโลกแล้ว ไม่เห็นมีผู้อื่นนอกจากท่าน ที่จะสามารถทำลายถ้อยคำของพระเจ้ามิลินท์ได้ สามารถเชิดชูพุทธศาสนาไว้ได้ พระภิกษุสงฆ์จึงได้ขึ้นมาอ้อนวอนท่าน ขอท่านจงลงไปเกิดในมนุษยโลก ยกย่องพระพุทธศาสนาไว้เถิด "

เมื่อพระภิกษุสงฆ์อ้อนวอนอย่างนี้แล้วมหาเสนะเทพบุตรจึงกราบทูลพระอินทร์ว่า "

ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์จงประทานพรแก่ข้าพระองค์ ให้ข้าพระองค์ทำลายล้างถ้อยคำของพระเจ้ามิลินทร์ได้ สามารถเชิดชูพระพุทธศาสนาไว้ได้เถิด พระเจ้าข้า"

ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว ก็ร่าเริงดีใจ มีใจฟูขึ้น ถวายปฏิญญาแก่พระภิกษุสงฆ์ว่าข้าพเจ้าจะลงไปเกิดในมนุษยโลก แล้วก็รับพรจากพระอินทร์ ลำดับนั้น พระภิกษุสงฆ์ก็ถวายพระพรลา กลับลงมาสู่ถ้ำรักขิตเลณะในภูเขาหิมพานต์อีก
พระโรหนเถระได้รับมอบธุระ เพื่อให้นาคเสนกุมารได้บรรพชา
เมื่อมาถึงแล้วพระอัสสคุตตเถระจึงถามพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นว่า

" ดูก่อนท่านทั้งหลาย ภิกษุที่ไม่ได้มาในที่ประชุมสงฆ์นี้มีอยู่หรือ ?" 

มีพระภิกษุองค์หนึ่งตอบว่า " มีอยู่ขอรับ คือพระโรหนเถระท่านไปเข้านิโรธสมาบัติ อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ได้ ๗ วันแล้ว พวกเราควรจะใช้ทูตไปหา "

พอดีในขณะนั้นพระโรหนเถระ ก็ออกจากนิโรธสมาบัติ นึกรู้ความประสงค์พระอรหันต์ทั้งหลายว่าต้องการพบเรา จึงได้หายวับจากภูเขาหิมพานต์ มาปรากฏที่ถ้ำรักขิตเลณะ ต่อหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ จึงกล่าวขึ้นว่า

" นี่แน่ะ ท่านโรหนะ เมื่อพระศาสนากำลังถูกกระทบกระเทือน เหตุไรท่านจึงไม่รู้จักช่วยเหลือไม่เหลียวแลกิจเหมือนสงฆ์ ? " 

พระโรหนะจึงตอบว่า " เป็นเพราะข้าพเจ้ามิได้กำหนดจิตไว้ " 

พระสงฆ์จึงบอกว่า " ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะลงทัณฑกรรมท่าน เพราะเหตุที่ท่านไม่ได้ใส่ใจในกิจของพระศาสนา " 

พระโรหนะจึงถามอีกว่า " จะลงทัณฑกรรมข้าพเจ้าอย่างไร ? " 

พระสงฆ์ตอบว่า " นี่แน่ะ ท่านโรหนะ มีบ้านพราหมณ์ตำบลหนึ่งชื่อว่า ชังคละ ข้างป่าหิมพานต์ มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า โสนุตตระ อยู่ในบ้านนั้น เขาจะมีบุตรชื่อว่า นาคเสนกุมาร ท่านจงพยายามไปบิณฑบาตที่ตระกูลนั้น ให้ตลอด ๗ ปีกับ ๑๐ เดือน นำเอานาคเสนกุมารออกบรรพชาให้ได้ เมื่อนาคเสนกุมารได้บรรพชาแล้วท่านจึงจะพ้นจากทัณฑกรรมนั้น"

  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย