มิลินทปัญหา ตอนที่ ๒

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน


มหาเสนะเทพบุตรจุติจากเทวโลก

ฝ่ายมหาเสนะเทพบุตร ก็ได้จุติจากเทวโลกลงมาถือกำเนิดในครรภ์ของนางพราหมณี ในขณะนั้นก็มีอัศจรรย์ ๓ ประการปรากฏขึ้น คือ
     ๑. บรรดาอาวุธทั้งหลาย ได้รุ่งเรืองเป็นแสงสว่าง 
     ๒. ฝนตกใหญ่นอกฤดูกาล
     ๓. เมฆใหญ่ตั้งขึ้น 

(ตอนนี้ใน ฉบับพิศดาร กล่าวว่าอัศจรรย์ทั้งนี้ด้วยบารมีของมหาเสนะเทพบุตรที่ได้กระทำมา บอกเหตุที่เกิดมานี้ว่า จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองไปถ้วน ๕๐๐๐ พระวัสสา)

จาก ฉบับ ส.ธรรมภักดี ได้บรรยายต่อไปว่า ลำดับนั้น พระโรหนเถระก็ไปเที่ยวบิณฑบาตที่ตระกลูนั้น เริ่มแต่วันนั้นไปตลอด ๗ ปี กับ ๑๐ เดือน แต่ไม่ได้อะไรเลย เพียงแต่การยกมือไหว้หรือการแสดงความเคารพก็ไม่ได้ ได้แต่การด่าว่าเท่านั้น

เมื่อล่วงมาจาก ๗ ปีนั้น จึงได้เพียงคำไต่ถามเท่านั้นคืออยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์นั้นกลับมาจากดูการงานนอกบ้าน ก็ได้พบพระเถระเดินสวนมา จึงถามว่า
     “ นี่แน่ะ บรรพชิต ท่านได้ไปที่บ้านเรือนของเราหรือ? ” 
     พระเถระตอบว่า “ ได้ไป ” 
     พราหมณ์จึงถามต่อไปว่า 
     “ ท่านได้อะไรบ้างหรือ ? ” 
     ตอบว่า “ ได้ “ 
     พราหมณ์นั้นนึกโกรธ จึงรีบไปถามพวกบ้านว่า 
     “ พวกท่านได้ให้อะไรแก่บรรพชิตนั้นหรือ ? ” 
      เมื่อพวกบ้านตอบว่า ไม่ได้ให้อะไรเลย พราหมณ์ก็นิ่งอยู่ เวลารุ่งขึ้นวันที่สองพราหมณ์นั้นจึงไปยืนอยู่ที่ประตูบ้านด้วยคิดว่าวันนี้แหลพบรรพชิตนั้นมา เราจักปรับโทษมุสาวาทให้ได้ พอพระเถระไปถึง พราหมณ์นั้นก็กล่าวขึ้นว่า

     “ นี่แน่ะ บรรพชิต เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้วัตถุสิ่งใดไปจากบ้านเรือนของเราเลย ทำไมจึงบอกว่าได้ การกล่าวมุสาวาทเช่นนี้ สมควรแก่ท่านแล้วหรือ? ”

     พระโรหนะจึงตอบว่า

     “ นี่แน่ะ พราหมณ์ เราเข้าสู่บ้านเรือนของท่านตลอด ๗ ปีกับ ๑๐ เดือนแล้วยังไม่เคยได้อะไรเลย พึ่งได้คำถามของท่านเมื่อวานนี้เพียงคำเดียวเท่านั้น เราจึงตอบว่าได้”

     เมื่อพราหมณ์ได้ฟังดังนี้ก็ดีใจ จึงคิดว่า พระองค์นี้เพียงแต่ได้คำปราศัยคำเดียวเท่านั้น ก็ยังบอกในที่ประชุมชนว่าได้ ถ้าได้ลาภอย่างใดอย่างหนึ่งไปจะไม่สรรเสริญหรือ นี่เพียงแต่ได้คำถามคำเดียวเท่านั้นก็ยังสรรเสริญ

     เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงสั่งพวกบ้านว่าพวกท่านจงเอาข้าวของเราถวายบรรพชิตนี้วันละ ๑ ทัพพีทุกวันไป ต่อนั้นพราหมณ์ก็เลื่อมใสต่ออิริยาบท และความสงบเสงี่ยมของพระเถระยิ่งขึ้นเป็นลำดับไป จึงขอนิมนต์ว่า

      “ ขอท่านจงมาฉันอาหารประจำ ที่บ้านเรือนของข้าพเจ้าทุกเช้าไป”

     พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่พราหมณ์ก็ได้ถวายอาหารคาวหวาน อันเป็นส่วนของตนแก่พระเถระทุกเช้าไป พระเถระฉันแล้วเวลาจะกลับ ก็กล่าวพระพุทธพจน์วันละเล็กน้อยทุกวันไป

     คราวนี้จะย้อนกล่าวถึงนางพราหมณีนั้นอีก กล่าวคือ นางพราหมณีนั้นล่วงมา ๑๐ เดือน ก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า “นาคเสน”

นาคเสนกุมารศึกษาไตรเพท

เมื่อนาคเสนกุมารเติบโตขึ้นอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาก็ให้ศึกษาไตรเพททั้ง ๓ กับศึลปศาสตร์อื่น ๆ สำหรับตระกลูพราหมณ์ร่ำเรียนสืบๆ กันมา นาคเสนกุมารรับว่าจะเรียนเอาให้ได้

ส่วนว่าโสนุตตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้วก็ให้ทรัพย์ประมาณ ๑ พันกหาปณะเป็นค่าจ้าง ฝ่ายนาคเสนกุมารฟังพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์บอกวิชาเพียงครั้งเดียว ก็สามารถจำได้จบครบทุกประการ จึงได้มีวาจาถามว่า

     “ ข้าแต่บิดา คำสอนสำหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ..หรือว่ายังมีอีกประการใดเล่า? ”

     พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงตอบว่า

     “ นี่แน่ะนาคเสน คำสอนสำหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้น ก็จบเพียงแค่นี้ ”

     เมื่อนาคเสนร่ำเรียนศึกษาจากสำนักพราหมณาจารย์แล้ว ก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ได้รับเอาซึ่งกำใบลานที่อาจารย์ให้เป็นกำใบลานหนังสือพราหมณ์ สำหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพท และศิลปศาสตร์ทุกสิ่งอัน 
     อยู่มาวันหนึ่ง นาคเสนกุมารจึงลงจากปราสาท ไปยืนพิจารณาเบื้องต้น ท่ามกลางที่สุด แห่งไตรเพททั้ง ๓ กับศิลปศาสตร์ทั้งปวง อยู่ที่ศาลาท้ายประตูทุกวันไป จนตลอดถึง ๓ วัน เมื่อไม่เห็นมีแก่นสารอันใด จึงเกิดความไม่สบายใจว่า สิ่งเหล่านี้เปล่าทั้งนั้นไม่มีสาระประโยชน์อันใดเลย

พระโรหนะไปนำนาคเสนกุมารเพื่อจะให้บรรพชา

ในคราวนั้น พระโรหนเถระ นั่งอยู่ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ได้ทราบความคิดของนาคเสนกุมาร จึงหายวับไปปรากฏขึ้นข้างหน้านาคเสนกุมารทันที พอนาคเสนกุมารได้แลเห็น ก็เกิดความร่าเริงดีใจว่าบรรพชิตองค์นี้คงรู้จักสิ่งที่เป็นสาระเป็นแน่จึงถามขึ้นว่า
     “ ผู้มีศีรษะโล้นนุ่งเหลืองเช่นนี้เป็นอะไร ? ” 
     พระเถระตอบว่า “ เป็นบรรพชิต ” 
     “ เหตุไรจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต ”
     “ เหตุว่าเว้นเสียซึ่งบาป เว้นเสียซึ่งโทษจึงได้ชื่อว่าบรรพชิต” 
     “ ท่านรู้จักศิลปศาสตร์บ้างหรือ ? ”
     “ รู้จัก ”
     “ ศิลปศาสตร์อันใดที่สูงสุดในโลกมีอยู่ ท่านจะบอกศิลปศาสตร์อันนั้นให้แก่กระผมได้หรือ? ”
     “ นี่แน่ะ พ่อหนู บรรพชิตทั้งหลายเห็นความกังวล ๑๖ ประการ จึงได้โกนผมโกนหนวดเสีย ความกังวล ๑๖ ประการนั้นคือ
          ๑. กังวลด้วยอาภรณ์ คือเครื่องประดับ 
          ๒. กังวลด้วยช่างทอง 
          ๓. กังวลด้วยการขัดสี
          ๔. กังวลด้วยการเก็บเครื่องประดับ
          ๕. กังวลด้วยการฟอกผมสระผม
          ๖. กังวลด้วยดอกไม้
          ๗. กังวลด้วยของหอม
          ๘. กังวลด้วยเครื่องอบ
          ๙. กังวลด้วยสมอ
          ๑๐. กังวลด้วยมะขามป้อม 
          ๑๑. กังวลด้วยดินเหนียว ( สมอ มะขามป้อม ดิน ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำเป็นยาสระผม )
          ๑๒. กังวลด้วยเข็มปักผม
          ๑๓. กังวลด้วยผ้าผูกผม
          ๑๔. กังวลด้วยหวี
          ๑๕. กังวลด้วยช่างตัดผม
          ๑๖. กังวลด้วยการอาบน้ำชำระผม รวมเป็น ๑๖ ประการด้วยกัน 

      ในเส้นผมแต่ละเส้นย่อมมีหมู่หนอนอาศัยอยู่ที่รากผม ทำให้รากผมเศร้าหมองคนทั้งหลายได้เห็นผมเศร้าหมองก็เศร้าใจ เสียใจ ไม่สบายใจ เมื่อมังแต่ยุ่งอยู่กับผมด้วยเครื่องกังวล ๑๖ อย่างนี้ ศิลปศาสตร์ที่สุขุมยิ่งก็เสียไป เพราะฉะนั้นแหละ บรรพชิตทั้งหลายจึงต้องโกนผมโกนหนวดทิ้งเสีย ”

     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้อนี้น่าอัศจรรย์เพราะเมื่อคนทั้งหลายกังวลอยู่กับเครื่องกังวล ๑๖ ประการอย่างนี้ ศิลปศาสตร์ที่สุขุมยิ่ง ตัองไม่ปรากฏเป็นแน่ ข้อนี้กระผมเชื่อ แต่ขอถามอีกทีว่า เหตุไรผ้านุ่งผ้าห่มขอท่านจึงไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ? ”

     “ อ๋อ..การที่ผ้านุ่งผ้าห่มของเราไม่เหมือนคนอื่น ๆ นั้น เพราะว่าผ้านุ่งผ้าห่มอย่างพวกคฤหัสถ์ทำให้เกิดความกำหนัด ยินดีในสังขารร่างกายได้ง่าย ทำให้มีภัยอันตรายบังเกิดขึ้น เครื่องนุ่งห่มของเราจึงไม่เหมือนของคนอื่นๆ ”

     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่ง ให้แก่กระผมได้หรือ ? ”
     “ ได้…พ่อหนู ! ”
     “ ถ้าได้ขอได้โปรดสอนให้เดี๋ยวนี้เถิด ”
     “ เออ…พ่อหนู เวลานี้เรายังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน ยังสอนให้ไม่ได้หรอก ” 

      ลำดับนั้น นาคเสนกุมารจึงรับเอาบาตรของพระโรหนเถระ แล้วนิมนต์ให้ขึ้นไปฉันที่เรือน เมื่อฉันแล้วจึงกล่าวว่า

     “ ขอท่านจงบอกศิลปศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผมเดี๋ยวนี้เถิด”
     “ โอ…พ่อหนู ! ตราบใดที่พ่อหนูยังมีกังวลอยู่ ตราบนั้นเรายังสอนให้ไม่ได้ ต่อเมื่อพ่อหนูขออนุญาตมารดาบิดาแล้ว ถือเพศอย่างเรา คือโกนผมนุ่งเหลืองห่มเหลืองเหมือนเรา เราจึงจะสอนให้ได้”

     นาคเสนกุมารจึงไปขออนุญาตต่อมารดาบิดา เมื่อมารดาบิดาไม่อนุญาต จึงนอนอดอาหาร ต่อเมื่อมารดาบิดาอนุญาต จึงบอกพระเถระว่า

     “ กระผมจักถือเพศอย่างท่าน ขอท่านจงสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดให้แก่กระผม”

พระโรหนเถระจึงพานาคเสนกุมารกลับไปที่วัตตนิยเสนาสนะวิหาร ค้างอยู่คืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงพาไปหาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ที่อยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ

นาคเสนกุมารบรรพชา 

ในคราวนั้น พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ได้ให้นาคเสนกุมารบรรพชาอยู่ที่ถ้ำรักขิตเลณะ นาคเสนกุมารบรรพชาแล้ว จึงกล่าวต่อพระโรหนเถระว่า

     “ กระผมได้ถือเพศเหมือนท่านแล้ว ขอท่านจงสอนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งให้กระผมเถิด”

     พระโรหนเถระจึงคิดว่า เราจะสอนอะไรก่อนดีหนอ นาคเสนนี้มีปัญญาดี เราควรจะสอนอภิธรรมปิฏกก่อน ครั้งคิดแล้วจึงบอกว่า

     “ นาคเสน เธอจงตั้งใจเรียนศิลปศาสตร์ที่ละเอียดยิ่งของเรา”

     กล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เริ่มแสดงอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์คือคัมภีร์อภิธรรมสังคิณี ว่า “ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ” เป็นต้น และ คัมภีร์วิภังค์ ธาตุกถาปุคคลบัญญติ กถาวัตถุ ยมกะ ปัฏฐาน เป็นลำดับไป

     นาคเสนสามเณรก็สามารถจำได้สิ้นเชิง มาถึงตอนนี้ ฉบับพิสดาร พรรณนาว่า

     ในขณะที่ฟังเพียงครั้งเดียว จึงได้กล่าวว่า ขอได้โปรดบอกเพียงเท่านี้ก่อนเถิด เมื่อกระผมท่องจำได้แม่นยำแล้ว จึงค่อยบอกให้มากกว่านี้อีก

     ต่อมานาคเสนสามเณรก็ได้นำความรู้ที่เรียนมาพิจารณา เช่นในบทว่า กุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อกุสลา ธัมมา ได้แก่อะไร อัพยากตา ธัมมา ได้แก่อะไร ดังนี้ เป็นต้น

     ท่านได้พิจารณาเพียงครั้งเดียวก็คิดเห็นเป็นกรรมฐานว่ามีความหมายอย่างนั้นๆ ด้วย ปัญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญไว้มาแต่ชาติก่อนโน้น

     เมื่อคิดพิจารณาธรรมะอย่างถ้วนถี่แล้ว นาคเสนสามเณรจึงได้เข้าไปกราบนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าวว่า

     “ กระผมจะขอแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ตามที่ได้เรียนมาจากพระอุปัชฌาย์โดยขออธิบายความหมายให้ขยายออกไปขอรับ”

     พระอรหันต์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นก็ดีใจจึงอนุญาติให้สามเณรแสดงได้ตามความประสงค์ สามเณรได้วิสัชนาอยู่ประมาณ ๗ เดือนจึงจบ ในขณะนั้น เหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นคือ แผ่นดินใหญ่ก็เกิดหวั่นไหว เทพดานางฟ้าทั้งหลายก็แสดงความชื่นชมยินดี พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ

     ทุกท่านต่างก็ร้องซ้องสาธุการ สรรเสริญปัญญาบารมีของสามเณร ได้โปรยปรายผงจันทน์ทิพย์และดอกไม้ทิพย์ บ้างก็เลื่อนลอย บ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมา หอมฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณนั้น

     พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิก็ให้สาธุการแสดงความชื่นชมยินดีว่า แต่นี้ไปศาสนาขององค์สมเด็จพระจอมไตร จะรุ่งเรืองวัฒนาถาวรตลอดไป

 

นาคเสนอุปสมบท

     เมื่ออยู่นานมาจนกระทั่งนาคเสนสามเณรมีอายุครบอุปสมบทแล้ว พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้อุปสมบทเป็น พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

     ในเวลาเช้า พระนาคเสนครองบาตรจีวร จะเข้าไปบิณฑบาตก็นึกขึ้นว่า พระอุปัชฌาย์ของเราเห็นจะเปล่าจากคุณธรรมอื่น ๆ คงรู้แต่อภิธรรมเท่านี้ อย่างอื่นคงไม่รู้

     ขณะนั้นพระโรหนเถระ จึงออกมากล่าวขึ้นว่า 
     “ นี่แน่ะ นาคเสน การนึกของเธอไม่สมควรเลย เหตุไรเธอจึงนึกดูถูกเราอย่างนี้? ” 
     ฝ่ายพระนาคเสนก็นึกอัศจรรย์ใจว่าพระอุปัชฌาย์ของเราเป็นบัณฑิตแท้ เพียงแต่เรานึกในใจก็รู้ เราจักต้องขอโทษ ครั้นคิดแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า
     “ ขอจงอดโทษให้กระผมด้วยเถิด กระผมจะไม่นึกอย่างนี้อีก จะไม่ทำอย่างนี้อีก ” 
     “ นาคเสน เรายังอดโทษให้ไม่ได้ ต่อเมื่อเธอทำให้พระเจ้ามิลินท์ ผู้เสวยราชย์อยู่ในสาคลนครเลื่อมใสได้ ด้วยการแก้ปัญหานั้นแหละ เราจึงจะอดโทษให้ ”
     “ ท่านขอรับ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เพียงองค์เดียวเลย ต่อให้พระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้นเรียงตัวกันมาถามปัญหา กระผมก็จะทำให้เลื่อมใสได้สิ้น ขอท่านจงได้อดโทษให้กระผมเถิด” 
     เมื่ออ้อนวอนอย่างนี้ถึง ๓ ครั้งก็ไม่เป็นผล จึงถามว่า 
     “ ในพรรษานี้ ท่านจะให้กระผมอยู่ที่สำนักนี้ หรือว่าจะให้กระผมไปอยู่ในสำนักผู้ใดขอรับ? ” 
     พระโรหนเถระจึงบอกว่า 
     “ เธอจงไปหา พระอัสสคุตตเถระ ถามถึงความสุขของท่าน และบอกความทุกข์สุขของเราแทนเรา แล้วอยู่ในสำนักของท่านเถิด”

     ลำดับนั้น พระนาคเสนจึงอำลาพระอุปัชฌาย์ ออกเดินทางไปหาพระอัสสคุตตเถระ กราบไหว้แล้วก็ถามถึงทุกข์สุขตามคำสั่งของพระอุปัชฌาย์ แล้วขออาศัยอยู่

      พระอัสสคุตตเถระจึงถามว่า
     “ เธอชื่ออะไร ? ”
     “ กระผมชื่อนาคเสนขอรับ ”
     พระอัสสคุตต์ใคร่จะลองปัญญา จึงถามว่า
     “ ก็ตัวเราล่ะ ชื่ออะไร ”
     “ พระอุปัชฌาย์ของกระผม รู้จักชื่อของท่านแล้วขอรับ” 
     “ อุปัชฌาย์ของเธอชื่ออะไร ? ”
     “ อุปัชฌาย์ของกระผมท่านรู้อยู่แล้ว ”
     “ ดีละ ๆ นาคเสน ” พระอัสสคุตต์จึงรู้ว่า พระภิกษุองค์นี้มีปัญญา จึงคิดว่า พระนาคเสนนี้ปรารถนาจะเรียนพระไตรปิฏก เราได้สำเร็จมรรคผลก็จริงแต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฏกรู้เป็นเพียงกลางๆ ก็อย่าเลยเราจะกระทำกิริยาไม่เจรจาด้วย ทำทีเหมือนจะลงพรหมทัณฑ์ด้วยภิกษุรูปนี้

     ครั้งคิดดังนี้แล้ว จึงได้ลงพรหมทัณฑ์คือไม่พูดกับพระนาคเสนถึง ๓ เดือน แต่พระนาคเสนก็ปรนนิบัติได้ปัดกวาดบริเวณและตักน้ำใช้น้ำฉันไว้ถวายตลอดทั้ง ๓ เดือน ส่วนพระอัสสคุตต์จึงกวาดบริเวณด้วยตนเอง และล้างหน้าด้วยน้ำอื่น

 พระนาคเสนแสดงธรรมเป็นครั้งแรก

พระอัสสคุตต์นั้นมีอุบาสิกาคนหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากมาประมาณ ๓๐ เดือนนั้นไปแล้ว อุบาสิกานั้นจึงออกไปถามพระเถระว่า
     “ ในพรรษานี้มีภิกษุอื่นมาอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าบ้างหรือ ? ”
     พระเถระก็ตอบว่า
     “ มี คือพระนาคเสน ”
     อุบาสิกานั้นจึงกล่าวว่า
     “ ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้เช้าขอพระผู้เป็นเจ้ากับพระนาคเสน จงเข้าไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านของโยมด้วย”
     พระเถระก็รับด้วยอาการนิ่งอยู่

      พระอัสสคุตตเถระมิได้สนทนากับพระนาคเสน จนตลอดถึงวันปวารณาออกพรรษา เช้าวันนั้นพระเถระจำต้องเจรจากับพระนาคเสน จึงกล่าวว่าอุบาสิกาเขามานิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าด้วยกัน แล้วจึงพาพระนาคเสนเข้าไปฉันที่บ้านของอุบาสิกานั้น

      ครั้งฉันแล้ว จึงบอกให้พระนาคเสนอนุโมทนา ส่วนตัวท่านเองขอกลับไปก่อน ฝ่ายอุบาสิกานั้นจึงกล่าวต่อพระนาคเสนว่า
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมแก่แล้ว ขอท่านจงอนุโมทนาด้วยคาถาที่ลึกซึ้งเถิด” 
     พระนาคเสนก็อนุโมทนาด้วยคาถาอันลึกซึ้ง เมื่อจบคำอนุโมทนาลง อุบาสิกานั้นก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล

     ในขณะนั้น พระอัสสคุตตเถระกำลังนั่งอยู่ที่โรงกลมกว้างใหญ่ในวิหาร ได้ทราบความเป็นไปด้วยทิพจักขุญาณ จึงให้สาธุการว่า

     “ สาธุ..สาธุ..นาคเสน! ในที่ประชุมชนทั้งสอง คือมนุษย์และเทวดา เธอได้ทำลายให้คลายจากความสงสัย ด้วยลูกศรเพียงลูกเดียว กล่าวคือได้แสดงธรรมเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ผู้รับฟังบรรลุมรรคผลได้ สาธุ..เราขอชมสติปัญญาของเธอนี้ประเสริฐนักหนา ”

     ในเวลาเดียวกันนั้น เหล่าเทพยดานางฟ้าอีกหลายพัน ต่างก็ได้ตบมือสาธุการ ผงจันทน์ทิพย์ในสวรรค์ ก็โปรยปรายลงมาดังสายฝน ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนานั้น

ฝ่ายพระนาคเสนก็กลับไปกราบพระอัสสคุตตเถระแล้วนั่งอยู่ พระอัสสคุตตเถระจึงกล่าวว่า

     “ ตัวเธอมาอยู่ที่นี่นานแล้ว จงไปขอเรียนพระพุทธวจนะจากพระธรรมรักขิต ผู้อยู่ในอโศการามด้านทิศอุดร แห่งเมืองปาตลีบุตรนครเถิด”

     พระนาคเสนจึงเรียนถามว่า 
     “ ท่านขอรับ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลจากนี้สักเท่าใด? ”
     “ ไกลจากนี้ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ ”
     “ เมืองปาตลีบุตรอยู่ไกลมาก อาหารในระหว่างทางก็จะหาได้ยาก กระผมจะไปได้อย่างไรขอรับ ”
     “ เธอจงไปเถิดในระหว่างทาง เธอจะได้อาหารล้วนแต่ข้าวสาลีไม่มีเมล็ดหัก พร้อมทั้งกับข้าวอีกเป็นอันมาก”
     พระนาคเสนจึงกราบลาพระอัสสคุตต์แล้วออกเดินทางไปตามลำดับ


  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย