มิลินทปัญหา ตอนที่ ๗

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๒ (ต่อ)


 ปัญหาที่ ๖ ถามการถือกำเนิดแห่งนามรูป

     “ ข้าแต่พระนาคเสน อะไรปฏิสนธิ คือถือกำเนิด ? ” 
     “ มหาราชะ นามรูป ถือกำเนิด ” 
     “ นามรูปนี้หรือ…ถือกำเนิด ? ” 
     “ มหาราชะ นามรูปนี้ไม่ได้ถือกำเนิด แต่ว่าบุคคลทำกรรมดีหรือชั่วด้วยนามรูปนี้ นามรูปอื่นก็ถือกำเนิดด้วยกรรมนั้น ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้านามรูปนี้ไม่ได้ถือกำเนิด ผู้นั้นก็จักพ้นบาปกรรมทั้งหลายไม่ใช่หรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ถ้าผู้นั้นไม่เกิดแล้วก็พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่ถ้ายังเกิดอยู่ก็หาพ้นไม่ ” 
     “ ขอนิมนต์ได้โปรดอุปมาด้วย ”

อุปมาด้วยผลมะม่วง 

     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งไปขโมยผลมะม่วงของเขามา แต่เจ้าของมะม่วงนั้นจับได้ จึงนำไปถวายพระราชา กราบทูลว่า บุรุษผู้นี้ขโมยมะม่วงของข้าพระองค์ บุรุษนั้นจะต้องกราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ ข้าพระองค์มิได้ขโมยมะม่วงของบุรุษนี้ มะม่วงที่บุรุษนี้ปลูกไว้เป็นมะม่วงอื่น ส่วนมะม่วงที่ข้าพระองค์นำไปนั้น เป็นมะม่วงอื่นอีกต่างหาก ข้าพระองค์ไม่ควรได้รับโทษ ดังนี้ อาตมภาพจึงขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษผู้นั้นควรจะได้รับโทษหรืออย่างไร ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้นควรได้รับโทษ ”
     “ เพราะอะไรล่ะ มหาบพิตร ? ”
     “ เพราะว่า บุรุษนั้นรับว่าไปเอาผลมะม่วงมาแล้ว แต่บอกว่าเอาผลมะม่วงลูกก่อนไปถึงกระนั้นก็ควรได้รับโทษด้วยผลมะม่วงลูกหลัง ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลทำกรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ ด้วยนามรูปนี้แล้ว นามรูปอื่นก็ถือกำเนิดสืบต่อกันด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นไปจากบาปกรรมขอถวายพระพร ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมาด้วยไฟไหม้ 

     “ ขอถวายพระพร มีบุรุษคนหนึ่งก่อไฟไว้ในฤดูหนาว แล้วทิ้งไว้มิได้ดับไฟ ได้ไปเสียที่อื่น ไฟนั้นได้ไหม้นาของผู้อื่น เจ้าของนาจึงจับบุรุษนั้นไปถวายพระราชา กราบทูลว่า ข้าแต่สมมุติเทพ บุรุษนี้เผานาของข้าพระองค์ บุรุษนั้นจะต้องทูลให้การว่า ข้าพระองค์ไม่ได้เผานาของผู้นี้ ไฟนั้นถึงข้าพระองค์ไม่ได้ดับ แต่ไฟที่ไหม้นาของผู้นี้ ก็เป็นไฟอื่นต่างหากข้าพระองค์ืไม่มีโทษ ดังนี้ อาตมภาพขอถามมหาบพิตรว่า บุรุษนั้นจะมีโทษหรือไม่ ? ”
     “ ต้องมีโทษซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? ”
     “ อ๋อ…เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะหมายเอาไฟก่อนก็ตาม แต่ก็ควรได้รับโทษด้วยไฟหลัง ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลทำกรรมดีหรือชั่วอันใดไว้ด้วยนามรูปนี้แล้ว นามรูปอื่นก็ถือกำเนิดด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาด้วยประทีป 

     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าบุรุษคนหนึ่ง ถือเอาประทีปเข้าไปที่เรือนโรงแล้วกินข้าว ประทีปก็ลุกลามไปไหม้หญ้า หญ้าก็ลุกลามไปไหม้เรือน เรือนก็ลุกลามไปไหม้หมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันจับบุรุษนั้น แล้วถามว่า เหตุไฉนเจ้าจึงเผาบ้าน บุรุษนั้นจึงตอบว่า เรานั่งกินข้าวอยู่ด้วยประทีปอื่นต่างหาก ส่วนไฟที่ไหม้บ้านเป็นไฟอื่นอีกต่างหาก เมื่อโต้เถียงกันอย่างนี้ เขาพากันมาเฝ้ามหาบพิตร กราบทูลว่า มหาราชเจ้าจะรักษาประโยชน์ของใครไว้ พระเจ้าข้า มหาบพิตรจะตรัสตอบว่าอย่างไร ? ”
     “ โยมจะตอบว่า จะรักษาประโยชน์ของชาวบ้านไว้ ”
     “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ”
     “ เพราะว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่ว่าไฟนั้นเกิดมาจากประทีปดวงก่อนนั้นเอง ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถึงนามรูปอันมีในที่สุดแห่งความตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกำเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม แต่ว่านามรูปนั้นเกิดจากนามรูปเดิม เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาเรื่องหมั้นเด็กหญิง 

     “ ขอถวายพระพร เปรียบปานบุรุษผู้หนึ่งหมั้นเด็กหญิงที่ยังเล็ก ๆ เอาไว้ ให้ของหมั้นแล้วกลับไป ต่อมาภายหลังเด็กหญิงคนนั้นก็เติบโตขึ้น มีบุรุษอีกคนหนึ่งมาให้ของหมั้นแล้วแต่งงาน บุรุษที่หมั้นไว้ก่อนจึงมาต่อว่าบุรุษนั้นว่า เหตุใดเจ้าจึงนำภรรยาของเราไป บุรุษนั้นก็ตอบว่า เราไม่ได้นำภรรยาของเจ้าไป เด็กหญิงเล็ก ๆ คนนั้น ที่เจ้าขอไว้แล้วให้ของหมั้นไว้นั้น เป็นคนหนึ่งต่างหาก เด็กหญิงที่เติบโตแล้ว ที่เราสู่ขอแล้วนี้ เป็นคนหนึ่งอีกต่างหาก เมื่อบุรุษทั้งสองนั้นโต้เถียงกันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์จะทรงวินิจฉัยให้หญิงนั้นแก่ใคร ? ”
     “ อ๋อ…ต้องให้แก่บุรุษคนก่อนนะซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ เพราะเหตุใด มหาบพิตร ? ”
     “ เพราะเหตุว่า ถึงบุรุษนั้นจะกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่เด็กสาวคนนั้นก็เติบโตต่อมาจากเด็กหญิงเล็ก ๆ นั้นเอง ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถึงนามรูปอันมีต่อไปจนกระทั่งตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกำเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตาม แต่นามรูปนั้นก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นเอง เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งกว่านี้อีก ”

อุปมาด้วยนมสด 

     “ ขอถวายพระพร เช่นเดียวกับบุรุษผู้หนึ่ง ไปซื้อนมสดจากมือนายโคบาล แล้วฝากนายโคบาลนั้นไว้ ด้วยคิดว่า พรุ่งนี้เช้าจึงจะมารับเอาไป ต่อมานมสดนั้นก็กลายเป็นนมส้ม เมื่อบุรุษนั้นมาก็บอกนายโคบาลว่า จงให้หม้อนมสดนั้นแก่เรา นายโคบาลนั้นก็ส่งหม้อนมส้มให้ ฝ่ายผู้ซื้อก็กล่าวว่า เราไม่ได้ซื้อนมส้มจากเจ้า เจ้าจงให้นมสดแก่เรา นายโคบาลก็ตอบว่า นมสดนั้นแหละกลายเป็นนมส้ม ลำดับนั้น คนทั้งสองได้โต้เถียงกันไม่ตกลง จึงพากันมาเฝ้ามหาบพิตร พระองค์จะทรงวินิจฉัยให้คนไหนละ ? ”
     “ โยมต้องวินิจฉัยให้นายโคบาลชนะ ”
     “ เพราะอะไร มหาบพิตร ? ”
     “ เพราะถึงบุรุษนั้นกล่าวอย่างนั้นก็จริง แต่นมส้มนั้นก็เกิดมาจากนมสดนั่นเอง ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงนามรูปที่มีต่อมาจนกระทั่งเวลาตายเป็นนามรูปอื่น ส่วนนามรูปที่ถือกำเนิดเป็นนามรูปอื่นก็ตามแต่ก็เกิดมาจากนามรูปเดิมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม ขอถวายพระพร ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”



 ปัญหาที่ ๗ ถามการเกิดอีกแห่งพระนาคเสน

     “ ข้าแต่พระนาคเสน ก็พระผู้เป็นเจ้าล่ะจะเกิดอีกหรือไม่ ? ” 
     “ อย่าเลยมหาบพิตร พระองค์จะต้องพระประสงค์อันใดด้วยคำถามนี้ เพราะอาตมภาพได้กล่าวไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าอาตมาภาพยังมีอุปาทานก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดถือแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” 
     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่ง ได้กระทำความดีไว้ต่อพระราชา พระราชาก็ทรงโปรดปรานเขา ได้พระราชาทรัพย์และยศแก่เขา เขาก็ได้รับความสุขในทางกามคุณ ๕ ด้วยได้พระราชาทรัพย์และยศนั้น ถ้าบุรุษนั้นบอกแก่มหาชนว่า พระราชาไม่ได้พระราชทานสิ่งใดแก่เรา มหาบพิตรจะทรงวินิจฉัยว่า บุรุษนั้นพูดถูกหรือไม่ ? ”
     “ ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร จะประโยชน์อันใดด้วยคำถามนี้ เพราะอาตมภาพได้บอกไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าอาตมภาพยังมีความยึดมั่นอยู่ ก็จักเกิดอีก ถ้าไม่มีความยึดมั่นแล้ว ก็จักไม่เกิดอีก ขอถวายพระพร ”
     “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 

 ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องนามรูป

     “ ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า นามรูป ที่พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วนั้นอะไรเป็นนามรูป ? ” 
     “ รูปใดเป็นรูปหยาบ รูปนั้นแหละเป็น “ รูป ” ส่วนสิ่งใดเป็นของละเอียด คือ จิตและเจนสิก สิ่งนั้นเรียกว่า “ นาม ” ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เหตุใดจึงถือกำเนิดแต่นาม ส่วนรูปไม่ถือกำเนิดล่ะ ? ”
     “ ขอถวายพระพร สิ่งเหล่านั้นอาศัยกันและกัน ย่อมเกิดด้วยกัน ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าแม่ไก่ไม่มีกลละ ( น้ำใส ๆ เล็ก ๆ ) ไข่ก็ไม่มี กลละกับไข่ทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดร่วมกันไปฉันใด ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตรคือถ้านามไม่มี รูปก็เกิดไม่ได้ นามกับรูปทั้งสองนี้อาศัยกัน เกิดด้วยกัน “ นาม ” กับ “ รูป ” ทั้งสองนี้ เวียนวนมาในวัฏสงสารสิ้นกาลนานนักหนาแล้ว ”
     “ สมควรแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องกาลนานยืดยาว

     “ ข้าแต่พระนาคเสน คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า “ สิ้นกาลนานนักหนาแล้วนั้น ” คำว่า “ นาน ” นั้น หมายถืงอะไร ? ” 
     “ ขอถวายพระพร หมายถึง กาล อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สังขารทั้งหลายมีอยู่นานทั้งนั้นหรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร บางอย่างก็มี บางอย่างก็ไม่มี ” 
     “ อะไรมี…อะไรไม่มี ? ” 
     “ ขอถวายพระพร สังขารที่ล่วงลับดับสลายไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ไม่มีส่วนสิ่งที่เป็นผลกรรม และสิ่งที่เป็นผลกรรมให้เกิดต่อไปนั้นยังมีอยู่นาน สัตว์เหล่าใดตายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นไปเกิดในที่อื่น สัตว์เหล่านั้นยังมีอยู่นาน ส่วนพระอริยบุคคลที่ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ไม่มีอยู่อีก เพราะปรินิพพานแล้วขอถวายพระพร ”
      “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

- - - จบวรรคที่ ๒ - - -



มิลินทปัญหา วรรคที่ ๓


 ปัญหาที่ ๑ ถามมูลเหตุแห่งกาลทั้ง ๓

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า 
     “ ข้าแต่พระนาคเสน อะไรเป็นมูลแห่งกาลนาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ? ” 
     พระเถระตอบว่า 
     “ ขอถวายพระพร อวิชชา เป็นมูลแห่งกาลนาน อันเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เพราะว่า อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ( ตั้งแต่ อวิชชา มาถึง อุปายาส รวมเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ) เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ปุริมโกฏิ คือ ที่สุดเบี้องต้นแห่งกาลนานย่อมไม่ปรากฏ ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว ” 

 ปัญหาที่ ๒ ถามที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสาร

     “ คำที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า “ ปุริมโกฏิไม่ปรากฏนั้น ” โยมยังสงสัยอยู่ อะไรเป็นปุริมโกฏิ กาลนานอันอันเป็นอดีตนั้นหรือเป็นปุริมโกฏิ ? ” 
     “ มหาราชะ ปุริมโกฏินั้นแหละ เป็นกาลนานอันเป็นอดีต ” 
     “ ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุไรปุริมโกฏิจึงไม่ปรากฏ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ปุริมโกฏิบางอย่างก็ปรากฏ บางอย่างก็ไม่ปรากฏ ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อย่างไหนปรากฏอย่างไหนไม่ปรากฏ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร สิ่งทั้งปวงที่ไม่เคยมีเบื้องต้นปรากฏเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา อันนี้แหละ เรียกว่า ปุริมโกฏิ คือที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ไม่เคยมีมามีขึ้นมีขึ้นแล้วกลับหายไป อันนี้แหละเรียกว่า ปุริมโกฏิ คือที่สุดเบื้องต้นปรากฏ ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏนั้น จะเปรียบเหมือนด้วยสิ่งใด ขอนิมนต์อุปมา”

อุปมาด้วยพืช

     “ ขอถวายพระพร พืชเล็ก ๆ ที่อาศัยแผ่นดินแล้วเกิดมีใบ มีดอก มีผล ถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ไปตามลำดับ ผลก็เกิดจากพืชนั้น ลำดับนั้น ต้นของพืชนั้นก็มีใบ ดอกผล ถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ไปตามลำดับ ที่สุดแห่งการสืบต่อแห่งพืชนี้มีอยู่หรือไม่ ? ”
     “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานไม่ปรากฏ ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมาด้วยแม่ไก่

     “ มหาราชะ ไข่ออกจากแม่ไก่ แม่ไก่ออกมาจากไข่ ไข่ก็ออกมาจากไก่อีก ที่สุดแห่งการสืบต่อแห่งไก่นี้มีอยู่หรือไม่ ? ” 
     “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ที่สุดเบื้องต้นแห่งกาลนานไม่ปรากฏ ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาด้วยกงรถ

     “ พระนาคเสนจึงขีดเป็นกงรถลงที่พื้นดินแล้วถามพระเจ้ามิลินท์ว่า ที่สุดแห่งกงรถนี้มีอยู่หรือไม่ ? ” 
     “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สมเด็จพระธรรมสามิสรตรัสไว้ว่า “ กงจักรเหล่านี้ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ” ขอถวายพระพร จักขุวิญญาณ ย่อมเกิดพราะอาศัย จักขุ กับ รูป เมื่อสิ่งทั้ง ๓ นั้นรวมกันก็เป็น ผัสสะ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา” 
     เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา 
     ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน 
     อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด กรรม 
     จักขุ ก็เกิดจาก กรรม อีก ที่สุดแห่งการสืบต่ออันนี้มีอยู่หรือไม่ ? ” 
     “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเสียงกับหู จมูกกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ มโนกับธรรมะ เมื่อสิ่งทั้ง ๓ รวมกันเข้าก็เป็น ผัสสะ แล้วทำให้เกิด เวทนา ตัณหา อุปทาน กรรม แล้ว โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน ก็เกิดจากกรรมนั้นอีก ที่สุดแห่งการสืบต่อนี้มีอยู่หรือไม่ ? ”
     “ ไม่มี พระผู้เจ้าเป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ขอถวายพระพร ”
     “ ชอบแล้ว พระนาคเสน ”

 

 ปัญหาที่ ๓ ถามความปรากฏแห่งที่สุดเบื้องต้น

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ที่สุดเบื้องต้นบางอย่างปรากฏ บางอย่างไม่ปรากฏ จึงขอถามว่า อย่างไหนปรากฏ อย่างไหนไม่ปรากฏ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร สิ่งทั้งปวงที่ไม่เคยมีเบื้องต้นปรากฏมาเมื่อก่อนนั้นแหละ เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นไม่ปรากฏ สิ่งใดไม่เคยมีแต่มีขึ้น ครั้งมีขึ้นแล้วก็หายไป อันนี้แหละ เรียกว่า ที่สุดเบื้องต้นปรากฏ ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งใดไม่เคยมีมามีขึ้น มีขึ้นแล้วหายไป ที่สุดเบื้องต้นอันขาดไปเป็น ๒ ฝ่าย ก็ได้ความแล้วไม่ใช่หรือ ? ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าที่สุดเบื้องต้นตัดออกไปเป็น ๒ ฝ่ายแล้วก็ได้ความ ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าอาจให้โยมเข้าได้เป็น ๒ ฝ่ายหรือไม่ ? ”
     “ ขอถวายพระพร อาจให้เข้าพระทัยได้ ”
     “ โยมไม่ได้ถามข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าอาจให้โยมเข้าใจได้โดยที่สุดหรือไม่ ? ”
     “ อาจ ขอถวายพระพร ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ” 
     พระเถระก็ได้ยกเอาต้นไม้ขึ้นอุปมาดังที่ว่ามาแล้วนั้น 
     พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า “ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ดีแล้ว ”

 

 ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความเกิดขึ้นแห่งสังขาร

     “ ข้าแต่พระนาคเสน สังขารบางอย่างเกิดขึ้นมีอยู่หรือ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร มีอยู่ ” 
     “ ได้แก่สังขารเหล่าไหน ? ” 
     “ มหาราชะเมื่อ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน มีอยู่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ก็มีอยู่ เวทนาอันเกิดเพราะ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ก็มีอยู่ เมื่อมีเวทนา ก็มีตัณหา อุปาทาน ภพชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสขึ้น เป็นอันว่า ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นมีขึ้นอย่างนี้ เมื่อจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโนไม่มี วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ นั้นก็ไม่มี เมื่อไม่มีเวทนา ก็ไม่มีตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นอันว่า ความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นมีขึ้นอย่างนี้ ขอถวายพระพร ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ”

 

ส่วนปัญหาที่ ๕ เป็นข้อต่อไป จะเป็นคำถามที่ตรงกันข้ามกับข้อที่ ๔ มีว่าอย่างนี้
 ปัญหาที่ ๕ ถามถึงความมีขึ้นแห่งสังขารที่ไม่มี

     “ ข้าแต่พระนาคเสน สังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น มีบ้างหรือไม่ ? ” 
     “ ขอถวายพระพร ไม่มี สังขารที่มีอยู่เท่านั้นมีขึ้น เช่น พระราชมณเฑียรที่มหาบพิตรประทับนั่งอยู่นี้ เมื่อก่อนไม่มี แต่มีขึ้น ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ในข้อนี้ได้ความว่าสังขารทุกอย่างที่ไม่มี แต่มีขึ้น….ไม่มี มีขึ้นเฉพาะที่มีอยู่เท่านั้น ”

อุปมาพระราชมณเฑียร 

     “ ขอถวายพระพร ไม้ที่นำมาทำพระราชมณเฑียรนี้ ได้เกิดอยู่แล้วในป่า ดินเหนียวนี้ได้มีที่แผ่นดิน แต่มามีขึ้นในที่นี้ด้วยความพยายามของสตรีและบุรุษทั้งหลาย เป็นอันว่า พระราชมณเฑียรนี้มีขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ ฉันใด สังขารบางอย่างที่ไม่มีแล้วมีขึ้น…ไม่มี มีขึ้นเฉพาะสังขารที่มีอยู่เท่านั้น ฉันนั้น ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาอีก ”

อุปมาด้วยต้นไม้่ 

     “ ขอถวายพระพร พืชเล็ก ๆ เกิดอยู่ในแผ่นดิน พืชเหล่านั้นย่อมมีใบ ดอก ผล ตามลำดับ พืชที่เกิดเป็นลำต้นเหล่านั้นไม่มีอยู่ แต่มีขึ้นหามิได้ ” 
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เป็นอันว่าต้นไม้เหล่านั้นเป็นของมีอยู่แล้ว จึงมีขึ้นได้อย่างนั้นนะ” 
     “ ขอถวายพระพร อย่างนั้นแหละ คือสังขารบางอย่างที่ไม่เคยมี แต่มีขึ้น..เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น ” 
     “ ขอนิมต์อุปมาให้ยิ่งขึ้น ”

อุปมาด้วยช่างหม้อ 

     “ ขอถวายพระพร ช่างหม้อขุดเอาดินจากแผ่นดิน แล้วมาทำเป็นภาชนะต่าง ๆ ขึ้นภาชนะเหล่านั้นยังไม่เคยมี แต่มีขึ้น จึงว่ามีขึ้นเฉพาะของที่มีอยู่เท่านั้น ฉันใด สังขารบางอย่างที่ไม่มี แต่มีขึ้น..เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น ฉันนั้น ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไป ”

อุปมาด้วยพิณ 

     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า เมื่อก่อนใบพิณไม่มี หนังขึ้นพิณก็ไม่มี รางพิณก็ไม่มี คันพิณก็ไม่มี ลูกบิดก็ไม่มี สายพิณก็ไม่มี นมพิณก็ไม่มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทำของบุรุษก็ไม่มี แต่มีเสียงขึ้นอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร เพราะใบพิณมี หนังขึ้นพิณก็มี รางพิณก็มี คันพิณก็มี ที่รองพิณก็มี สายพิณก็มี นมพิณก็มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทำของบุรุษก็มี จึงมีเสียงขึ้นอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น…เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่เท่านั้น ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมายิ่งขึ้นไปอีก ”

อุปมาด้วยไฟ 

     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่าแม่ไม้สีไฟไม่มี ลูกไม้สีไฟก็ไม่มี เชือกที่ผูกไม้สีไฟก็ไม่มี ไม้ที่จะหนุนขึ้นไว้ก็ไม่มี ปุ๋ยหรือฝอยในแม่ไม้สีไฟก็ไม่มี ความพยายามอันเกิดจากกการกระทำของบุรุษก็ไม่มี แต่มีไฟขึ้นอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่แม่ไม้สีไฟก็มี ลูกไม้สีไปก็มี เชือกรัดแม่ไม้สีไฟก็มี ไม้สำหรับหนุนแม่ไม้สีไฟให้สูงขึ้นก็มี ปุ๋ยหรือฝอยในแม่ไม้สีไฟก็มี ความพยายามอันเกิดจากการกระทำของบุรุษก็มี ไฟนั้นจึงมีขึ้นได้อย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือสังขารบางอย่างไม่มี แต่มีขึ้น…เป็นอันไม่มี มีขึ้นเฉพาะแต่ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น” 
     “ ขอให้อุปมายิ่งขึ้นไปกว่านี้ ”

อุปมาด้วยแก้วมณี 

     “ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนแก้วมณีไม่มี แสงแดดก็ไม่มี ขี้โคแห้งก็ไม่มี แต่ไฟเกิดขึ้นได้อย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร ก็เหตุที่แก้วมณีก็มี แสงแดดก็มี ขี้โคแห้งก็มี ไฟจึงมีขึ้นอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสังขารบางอย่างที่ไม่เคยมี แต่มีขึ้น..ย่อมไม่มีมีขึ้นแต่เฉพาะที่มีอยู่แล้วเท่านั้น ” 
     “ ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งไปกว่านี้อีก ”

อุปมาด้วยกระจกเงา 

     “ ขอถวายพระพร เปรียบเช่นกับกระจกเงาไม่มี แสงสว่างก็ไม่มี หน้าคนที่จะส่องก็ไม่มีแต่มีหน้าคนเกิดขึ้นที่กระจกเงานั้นอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่กระจกเงาก็มีอยู่ แสงสว่างก็มีอยู่ หน้าคนที่ส่องกระจกนั้นก็มีอยู่ เงาหน้าคนจึงปรากฏที่กระจกอย่างนั้นหรือ ? ” 
     “ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ” 
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสังขารบางอย่างที่ยังไม่เคยมี แต่มีขึ้น…ย่อมไม่มีมีขึ้นเฉพาะที่เคยมีอยู่แล้วเท่านั้น ขอถวายพระพร ” 
     “ ผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว ” 

( ฎีกามิลินท์ อธิบายคำว่า “ มีอยู่ ” หมายถึงมีอยู่แล้วในอดีตกาล )


  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย