มิลินทปัญหา ตอนที่ ๑๐

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๖


 ปัญหาที่ ๑ ถามถึงความรักร่างกายแห่งบรรพชิต

     พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
     “ ข้าแต่พระนาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลายหรือ? ”
     พระเถระตอบว่า
     “ ขอถวายพระพร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ทำไมบรรพชิตจึงยังอาบน้ำชำระกาย ถึอว่ากายของเราอยู่ ? ”
     “ ขอถวายพระพร ผู้เข้าสู่สงครามเคยถูกบาดเจ็บบ้างหรือไม่? ”
     “ อ๋อ...เคยซิ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร แผลที่ถูกอาวุธนั้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา ทาด้วยน้ำมัน พันด้วยผ้าเนื้อละเอียดแลหรือ ? ”
     “ ถูกแล้วพระผู้เป็นเจ้า ต้องทำอย่างนั้น ”
     “ ขอถวายพระพร บาดแผลนั้นเป็นที่รักของผู้นั้นหรือ? ”
     “ ไม่ได้เป็นที่รักของผู้นั้นเลย แต่ว่าเขาทำอย่างนั้น เพื่อให้เนื้อตรงนั้นงอกขึ้นเป็นปกติ ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย แต่บรรพชิตทั้งหลายรักษาร่างกายนี้ไว้ เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ อันว่าร่างกายนี้เปรียบเหมือนกับแผล บรรพชิตรักษาร่างกายนี้ไว้เหมือนกับบุคคลรักษาแผล”
     ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า
     “ กายนี้มีทวาร ๙ เป็นแผลใหญ่ อันหนังสดปกปิดไว้ คายของโสโครกออกโดยรอบ ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ”
     “ ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๒ ถามถึงเหตุที่ไม่ทรงบัญญติสิกขาบทไว้ล่วงหน้า

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู คือทรงรู้ทุกสิ่ง เป็นสัพพทัสสาวีคือทรงเห็นทุกอย่างจริงหรือ ? ”
     “ ขอถวายพระพร จริง ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าจริง...เหตุไฉนจึงทรงบัญญัติสิกขาบทไปตามลำดับเหตุการณ์แก่สาวกทั้งหลาย ทำไมจึงไม่ทรงบัญญัติไว้ก่อน ? ”
     “ ขอถวายพระพร แพทย์ที่รู้จักยาทั้งหมดในแผ่นดินนี้มีอยู่หรือ? ”
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร ก็แพทย์นั้นให้คนไข้กินยาแต่เมื่อยังไม่เป็นไข้ หรือเมื่อเป็นไข้แล้วจึงให้กินยา ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเป็นไข้แล้วจึงให้กินยา เมื่อยังไม่เป็นไข้ก็ยังไม่ให้กินยา ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ทุกสิ่งเห็นทุกอย่างจริง แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ยังไม่บัญญัติสิกขาบท ต่อเมื่อถึงเวลาจึงบัญญัติสิกขาบท สิกขาบทที่ทรงบัญญัตินั้นพระสาวกไม่ควรล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต”
     “ ถูกแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๓ ถามถึงลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ของพระพุทธมารดาบิดา

      “ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ และประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีสีพระกายดังทองคำ มีพระรัศมีสว่างรอบพระองค์ด้านละ ๑ วาเป็นนิจจริงหรือ? ”
     “ ขอถวายพระพร จริง ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระมาดารบิดาประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการกับประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีสีพระกายดังทองคำมีพระรัศมีข้างละ๑ วาหรือไม่ ? ”
     “ ขอถวายพระพร พระมารดาบิดาไม่เป็นอย่างนั้น ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน เมื่อพระมารดาบิดาไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเจ้าจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ เพราะธรรมดาบุตรย่อมคล้ายกับมารดาหรือคล้ายกับข้างบิดา? ”
     “ ขอถวายพระพร ดอกปทุม หรือดอกอุบล ดอกโกมุท ดอกปุณฑริก มีอยู่หรือ ? ”
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า เพราะดอกบัวเหล่านั้นเกิดอยู่ในน้ำ เกิดอยู่ในดิน แช่อยู่ในน้ำ ”
     “ ขอถวายพระพร ดอกบัวเหล่านั้นมีสี กลิ่น รส เหมือนดินกับน้ำหรือไม่? ”
     “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ถ้าอย่างนั้น ดอกบังเหล่านั้น มีสี กลิ่น รส เหมือนกับโคลนกับตมหรือไม่ ? ”
     “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ”
     “ พระผู้เป็นเจ้าเข้าใจแก้ เป็นอันแก้ถูกต้องดีแล้ว”

 ปัญหาที่ ๔ ถามถึงความเป็นพรหมจารีของพระพุทธเจ้า

     “ ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้าเป็นพรหมจารี คือเป็นผู้ประพฤติเหมือนกับพรหมจริงหรือไม่? ”
     “ ขอถวายพระพร จริง ”
     “ ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็เป็นศิษย์ของพรหมน่ะซิ”
     “ ขอถวาวพระพร ช้างทรงของมหาบพิตรมีอยู่หรือ ? ”
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ช้างทรงของมหาบพิตรนั้น มีเสียงร้องเหมือนเสียงนกกระเรียนในบางคราวหรือไม่? ”
     “ อ๋อ...บางคราวก็มีเสียงร้องเหมือนเสียงนกกระเรียน พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ถ้าอย่างนั้น ช้างของมหาบพิตรก็เป็นศิษย์ของนกกระเรียนน่ะซี”
     “ ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าประพฤติเหมือนพรหมจริง แต่ไม่ได้เป็นศิษย์ของพรหม”
     “ ขอถวายพระพร พรหมนั้นได้ตรัสรู้ด้วยตนเองหรือไม่”
     “ ไม่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ถ้าอย่างนั้น พรหมก็ต้องเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า”

 ปัญหาที่ ๕ ถามถึงการอุปสมบท ไม่อุปสมบท

    “ ข้าแต่พระนาคเสน การอุปสมบทดีหรือ...หรือว่าไม่อุปสมบทดี? ”
     “ ขอถวายพระพร อุปสมบทดี ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปสมบทของพระพุทธเจ้ามีอยู่หรือ? ”
     “ ถวายพระพร พระพุทธเจ้าเป็นผู้ได้อุปสมบทแล้ว ”
     เมื่อพระนาคเสนกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสประกาศขึ้นว่า
     “ ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ จงฟังถ้อยคำของเรา คือพระนาคเสนกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้อุปสมบทแล้ว เป็นอุปสันบัน คือเป็นผู้ที่บวชแล้ว
     ถ้าพระสมณโคดมเป็นอุปสัมบัน ใครเป็นอุปัชฌาย์ ใครเป็นอาจารย์ มีสงฆ์มานั่งหัตถบาสเท่าใด ? ”
     “ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีอาจารย์ ได้อุปสมบทเอง ตรัสรู้เอง ที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ พระองค์ได้เป็นผู้อุปสัมบันพร้อมด้วยพระสัพพัญญุตญาณ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระสมณโคดมไม่มี โยมก็เข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นอนุปสัมบัน คือผู้ที่ยังไม่ได้บวชเพราะเหตุไร...พระพุทธเจ้าจึงไม่มีอุปัชฌาย์ ไม่มีอาจารย์ ? ”
     เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอย่างนี้พระนาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สำเร็จปฏิสัมภิทาจึงย้อมถามไปว่า
     “ มหาบพิตร ทรงเสวยแล้วหรือ ? ”
     “ โยมกินแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ใครเป็นครูเป็นอาจารย์บอกให้เสวยล่ะ ”
     “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรก็เสวยไม่ได้ ? ”
     “ ได้...ไม่ใช่โยมกินไม่ได้ ถึงไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอน โยมก็กินได้ ด้วยเคยกินมาในวัฏสงสารนับไม่ถ้วน ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นขอให้มหาบพิตรเข้าพระทัยเถิดว่า พระพุทธเจ้าได้อุปสมบทแล้วที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ เพราะพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว”
     พระองค์อุปสมบทเอง ไม่มีอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้อุปสมบทพร้อมกับได้พระสัพพัญญุตญาณ เหมือนกับมหาบพิตรผู้เสวยโดยไม่ต้องมีอาจารย์ เพราะเคยเสวยมาในวัฏสงสารอันไม่ปรากฏเบื้องต้นอัศจรรย์วันอุปสมบทในเวลาที่พระพุทธองค์ได้เป็นอุปสัมบันที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ ด้วยอำนาจพระบารมีนั้นอัศจรรย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏขึ้นในโลก คือ
     คนตาบอดแต่กำเนิดก็กลับเป็นคนตาดี ๑ คนหูหนวกก็ได้ยินเสียง ๑ คนง่อยเปลี้ยก็เดินได้ ๑ คนใบ้ก็พูดได้ ๑ คนหลังค่อมก็ยืดตรงเป็นปกติได้ ๑ คนกำลังหิวข้าวก้ได้กินข้าว ๑ คนกระหายน้ำก็ได้ดื่มน้ำ ๑
     ผู้ที่อาฆาตต่อกันก็ตึกเมตตากัน ๑ ทุกข์ในแดนเปรตก็หายไป ๑ ยาพิษก็กลับเป็นเหมือนยาทิพย์ ๑ หญิงมีครรภ์แก่ก็คลอดได้สบาย ๑ สำเภาที่ไปต่างไปต่างประเทศก็กลับมาถึงท่าของตน ๑ กลิ่นเหม็นก็กลายเป็นกลิ่นหอม ๑
     ไฟในอเวจีมหานรกก็ดับ ๑ น้ำเค็มในมหาสมุทรก็กลายเป็นน้ำหวาน ๑ ภูเขาทั้งหลายก็เปล่งเสียงสะท้าน ๑ น้ำในมหานทีทั้งหลายก็หยุดไหล ๑ ผลจันทน์ทิพย์ดอกมณฑาทิพย์ก็ตกลงมาจากสวรรค์ ๑ เทพยดานางฟ้าทั้งหลาย ก็โปรยดอกไม้ทิพย์ลงมา ๑ พรหมทั้งหลายก็ตบมือสาธุการ ๑
     ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าผู้มีสีพระกายดังทองคำ ก็ได้อุปสมบทเองที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ อันเป็นเหมือนปราสาทแก้วจึงได้มีสิ่งอัศจรรย์ปรากฏขึ้นอย่างนี้
     ด้วยอานุภาพแห่งการอุปสมบทของพระพุทธเจ้านั้น ได้บันดาลให้พระยาเขาสิเนรุราชหมุนครวญคราง เหมือนกับกงรถกงเกวียนฉะนั้น
     พวกเทวดาในอากาศพร้อมกับบริวารก็มีใจเบิกบานยินดี ได้โปรยดอกไม้ทิพย์ลงมาบูชา จันทรเทพบุตรก็หยุดมณฑลรถไว้ที่อากาศ โปรยดอกไม้แก้วลงมาบูชาไม่ขาดสายเหมือนกับนมสดที่ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ฉะนั้น การอุปสมบทของพระตถาคตเจ้าย่อมปรากฏอย่างนี้
     “ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย ”

     อุปมาช้างพระที่นั่ง

     “ ขอถวายพระพร เมื่อมหาบพิตรขึ้นประทับนั่งบนคอช้างพระที่นั่ง มีผู้ใดผู้หนึ่งนั่งบนคอของพระองค์บ้างหรือไม่ ? ”
     “ ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า หากใครขึ้นนั่งบนคอของโยม ผู้นั้นจะต้องหัวขาด ”
     “ ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่มีผู้อื่นจัดการอุปสมบทให้พระพุทธเจ้า ถ้าผู้ใดจัดการอุปสมบทให้พระพุทธเจ้า ศีรษะของผู้นั้นต้องหลุดไปจากคอทันที
     เมื่อกี้นี้มหาบพิตรถามอาตมาภาพว่า พระพุทธเจ้าอุปสมบทด้วยสงฆ์นั่งหัตถบาสเท่าไรอย่างนั้นหรือ? ”
     “ อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าไม่ได้อุปสมบทด้วยสงฆ์ มีแต่ มรรค กับ ผล เท่านั้นที่เป็นสงฆ์ ”
ข้อนี้สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
     “ พระอริยบุคคล ๔ เหล่า คือ ผู้ตั้งอยู่ในมรรค ๔ ผล ๔ ผู้มั่นอยู่ในปัญญาและศีลเป็นสงฆ์ผู้ตรงแท้ แต่บุคคลบางเหล่าต้องอุปสมบทด้วยสงฆ์ ”
     “ น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหาอันละเอียดยิ่ง อันไม่มีส่วนเปรียบได้แล้ว ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปสมบทเป็นของดีหรือ ? ”
     “ ขอถวายพระพร อุปสมบทเป็นของดี ”
     “ ข้าแต่พระนาคเสน การอุปสมบทของพระพุทธเจ้ามีอยู่หรือไม่มี? ”
     “ ขอถวายพระพร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุปสมบทด้วยความเป็นพระสัพพัญญู ที่ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิแล้ว ไม่มีผู้ให้อุปสมบทแก่พระพุทธเจ้า เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงให้อุปสมบทแก่สาวกเลย ”
     “ แก้ถูกต้องดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 

 ปัญหาที่ ๖ ถามถึงความต่างกันแห่งน้ำตา

      “ ข้าแต่พระนาคเสน บุรุษคนหนึ่งร้องไห้เพราะบิดามารดาตาย อีกคนหนึ่งน้ำตาไหลเพราะความชอบใจธรรมะ น้ำตาของคนทั้งสองนั้น น้ำตาของใครเป็นเภสัช น้ำตาของใครไม่เป็นเภสัช ? ”
     “ ขอถวายพระพร น้ำตาของคนที่ร้องไห้ด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นน้ำตาร้อน ส่วนน้ำตาของผู้ฟังธรรมนั้น มีน้ำตาไหลด้วยปีติยินดีเป็นน้ำตาเย็น เป็นอันว่า น้ำตาเย็นเป็นเภสัช น้ำตาร้อนไม่เป็นเภสัช”
     “ ถูกดีแล้ว พระนาคเสน ”

 ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความต่างกันแห่งผู้เสวยรส

     “ ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ปราศจากราคะ กับ ผู้ไม่ปราศจากราคะ ต่างกันอย่างไร ?”
     “ ขอถวายพระพร ผู้หนึ่งยังมีความยึดถือ อีกผู้หนึ่งไม่มีความยึดถือ”
     “ ยึดถืออะไร...ไม่ยึดถืออะไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร คือผู้หนึ่งยังมีความต้องการ อีกผู้หนึ่งไม่มีความต้องการ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ปราศจากราคะ กับ ผู้ไม่ปราศจากราคะ ก็ยังต้องการของเคี้ยวของกินที่ดีงามอยู่เหมือนกัน ไม่มีใครต้องการสิ่งที่ไม่ดีงาม โยมเห็นมีแต่ต้องการสิ่งที่ดีงามเหมือนกันหมด”
     “ ขอถวายพระพร ผู้ปราศจากราคะ ยังรับรสอาหาร ยังกินอาหารอยู่เหมือนกันก็จริงแหล่ แต่ทว่าไม่ยินดีในรสอาหาร ส่วนผู้ไม่ปราศจากราคะ ยังยินดีในรสอาหารอยู่ ไม่ใช่ไม่ยินดีในรสอาหาร ”
     “ เข้าใจแก้ พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๘ ถามที่ตั้งแห่งปัญญา

      “ ข้าแต่พระนาคเสน ปัญญาอยู่ที่ไหน ? ”
     “ ขอถวายพระพร ปัญญาไม่ได้อยู่ที่ไหน ”
     “ ถ้าอย่างนั้นปัญญาก็ไม่มี ”
     “ ขอถวายพระพร ลมอยู่ที่ไหน ? ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่อยู่แห่งลมไม่มี ”
     “ ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้นลมก็ไม่มี ”
     “ ฉลาดแก้ พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสงสาร

     “ ข้าแต่พระนาคเสน คำว่า สงสาร ได้แก่อะไร ? ”
     “ ขอถวายพระพร สัตว์โลกเกิดในโลกนี้ก็ตายในโลกนี้ ตายจากโลกนี้แล้วก็ไปเกิดในโลกอื่น เกิดในโลกนั้นก็ตายในโลกนั้น ตายจากโลกนั้นแล้วก็เกิดในโลกอื่น การเวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้แหละ เรียกว่า สงสาร ”
     “ ขอนิมนต์อุปมาด้วย ”
     “ ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งกินมะม่วงสุก แล้วปลูกเมล็ดไว้เมล็ดมะม่วงนั้น ก็เกิดเป็นต้นมะม่วงใหญ่ขึ้นจนกระทั่งมีผลมะม่วง บุรุษนั้นก็กินมะม่วงสุกจากมะม่วงต้นนั้น แล้วปลูกเมล็ดมะม่วงไว้อีก เมล็ดมะม่วงนั้นก็เกิดเป็นต้น มะม่วงใหญ่โตขึ้นจนมีผล ต้นแก่ก็ตายไป ที่สุดเบื้องต้นแห่งต้นมะม่วงเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏว่ามีมาเมื่อไร ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การเวียนตายเวียนเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏเบื้องต้นฉะนั้น ”
     “ แก้ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ”

 ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงเหตุที่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงแล้วได้

     “ ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปนานแล้วได้ด้วยอะไร? ”
     “ ได้ด้วย สติ ขอถวายพระพร ”
     “ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ล่วงไปนานแล้วสิ่งหนึ่ง บุคคลระลึกได้ด้วย จิต ต่างหาก ไม่ใช่ระลึกได้ด้วยสติ”
     “ ขอถวายพระพร มหาบพิตรทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้แล้ว ระลึกไม่ได้มีอยู่หรือไม่? ”
     “ มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า ”
     “ ขอถวายพระพร ในเวลานั้นพระองค์ไม่มีจิตหรือ ? ”
     “ จิตมี แต่เวลานั้นสติไม่มี ”
     “ ถ้าอย่างนั้น ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า บุคคลระลึกได้ด้วย สติ ไม่ใช่ระลึกได้ด้วย จิต ”
     “ ถูกดีแล้ว พระนาคเสน ”

- - - จบวรรคที่ ๖ - - -


  ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย