ปลดหนี้บรรเทากรรม

 lc-kukko    21 มิ.ย. 2555

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า นักโทษที่ถูกกักขังหรือจำคุกตลอดชีวิต ยังมีการลดหย่อนผ่อนโทษหรือปล่อยตัวก่อนกำหนด ถ้าหากว่านักโทษผู้นั้นประพฤติตัวดี แล้วกรรมร้ายที่เราก่อไว้พอจะมีทางลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาบางลงได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้บ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้ทั้งหมด ในหนังสือ วงจรชีวิต เขียนโดย พระครูธรรมธรไพบูลย์ ธมฺมวิปุโล ได้กล่าวว่าวิบากกรรมจะเบาบางลงเมื่อ

๑.กรรมนั้นส่งผลจนหมดกำลัง เปรียบเหมือนนักโทษที่ถูกจำคุกได้รับโทษสมกับความผิดของตน
แล้ว ก็ถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระไม่ต้องถูกจองจำรับโทษอีกต่อไป

๒.ขอขมาและอโหสิกรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชีวิตหนึ่งชีวิตที่เกิดมาในชาตินี้ ล้วนเคยผ่านการเวียนว่ายตายเกิดมานับครั้งไม่ถ้วน หากจะนับก็มากกว่าเม็ดทรายในทะเล และในชาติหนึ่งก็ได้สร้างกรรมทั้งดีและร้ายเอาไว้มากมายด้วย เช่น เคยฆ่าสัตย์ ลักทรัพย์ ผิดลูกผิดเมียคนอื่น ซึ่งเป็นการสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ผู้อื่น ทำให้เขาเคียดแค้นอาฆาตพยาบาทและตามทวงแค้น

ที่เรียกว่า เจ้ากรรมนายเวร สัตว์ทุกตัวที่ถูกฆ่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะฆ่าเอง หรือคนอื่นฆ่าเพื่อจำหน่ายก็ตาม ล้วนเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้บริโภค เช่น สัตว์บางตัวอาจจะสาปแช่งคนที่บริโภคเนื้อของเขาให้เจ็บป่วย เป็นโรคร้ายต่างๆ เป็นต้น การที่เราได้ขอขมาต่อเขาและขอให้เขาอโหสิกรรมต่อเรา จะเป็นทางช่วยลดผลแห่งกรรมร้ายให้หมดไปได้

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) แห่งวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ได้แนะนำวิธีขอขมาต่อเจ้ากรรมนายเวรไว้ว่าให้ตั้งใจ สวดมนต์บทมหาเมตตาใหญ่ และเจริญสมาธิ แผ่เมตตาให้เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เจ้ากรรมนายเวรยอมอภัยให้เราได้ เปรียบเหมือนผู้ต้องหาที่ทำความผิดสำนึกผิด ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ โทษที่หนักก็ลดหย่อนให้เบาลง

๓.สั่งสมบุญเอาไว้ให้มากๆ เพื่อตัดรอนวิบากของกรรมร้ายให้แสดงผลได้ไม่ถนัดหรือหมดโอกาส
ให้ผลไปเลย การกระทำเช่นนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อุปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นและอุปฆาตกกรรม กรรมเข้าไปตัดรอน คือสร้างกรรมดีเอาไว้มากๆ เพื่อลบล้างกรรมชั่วที่เคยทำไว้

เปรียบเหมือนผู้กระทำผิดแล้วยังไม่ถูกจับ ภายหลังได้สร้างความดีความชอบที่ยิ่งใหญ่จนสามารถลบล้างความผิดที่เคยทำไว้ทำให้ไม่ต้องรับโทษ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ป่วยเป็นโรคร้ายรักษาอย่างไรก็ไม่หาย ครั้นหันมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สวดมนต์ แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเป็นประจำ กลับทำให้หายเจ็บป่วยได้ เรียกว่า ทำความดีเพื่อหลีกหนีกรรมชั่ว สอดคล้องกับอมตธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ว่า


“กรรมในอดีต ไม่อาจลบล้างได้
กรรมดีในปัจจุบัน จะช่วยเจ้าเอง”


ซึ่งหมายความว่า กรรมในอดีตนั้น เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ แต่เราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วยการประกอบกรรมดีอย่างมีสติและปัญญา เพราะกรรมดีที่เราสร้างในปัจจุบันนี่เอง จะช่วยให้เรารอดพ้นจากบ่วงกรรมได้


   


ที่มา : เครดิต : หนังสือ "รู้ทันกรรม ตัดกรรมทันตา หน้า ๔๐-๔๑" ส่งเสริมคุณธรรม พัฒนาชีวิต นึกถึงธรรมะ คิดถึง พุทธะดอทคอม www.พุทธะ.com


 4,193 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย