สมาธิภาวนา


กรรมฐานสำหรับแต่ละจริต

ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 21 ขุททกนิกาย
มหานิทเทส สาริปุตตสุตตนิทเทส

ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ ดังนี้

[๘๘๑] ...

[๘๘๙] ...... พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต.


พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาลอันควร ในการสนทนาธรรมตามกาลอันควร ในการอยู่ร่วมกับครู. ย่อมตรัสบอกอานาปานสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต. ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต.


วิเคราะห์/เพิ่มเติม

1.) การเจริญสมถกรรมฐานนั้นมีหลายวิธี ในพระพุทธศาสนานั้นได้รวบรวมเอาไว้ได้ถึง 40 วิธี (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องสมาธิ 40 วิธี ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) ซึ่งกรรมฐานแต่ละชนิดนั้นก็เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับจริต พื้นฐาน ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม เวลา โอกาส และบุญบารมีที่เคยสั่งสมมาของแต่ละคน การเจริญกรรมฐานที่เหมาะสมกับตน ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วกว่ากรรมฐานชนิดอื่น

2.) ผู้เป็นราคจริตนั้น เป็นผู้ที่มีกิเลสหนักไปทางด้านราคะ คือความเพลิดเพลินยินดี ซึ่งเป็นโลภะชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงให้กรรมฐานที่เป็นปฏิปักษ์กัน คืออสุภกรรมฐาน คือให้พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม เป็นของเน่าเหม็น น่ารังเกียจของสิ่งต่างๆ ตลอดไปจนถึงซากศพ ซึ่งเป็นสภาพที่จะต้องเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในอนาคต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดกิเลสด้านนี้ลงไป

3.) ผู้เป็นโทสจริตนั้น เป็นผู้ที่มีจิตใจเร่าร้อน มักโกรธ ขัดเคืองใจได้ง่าย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เจริญเมตตาภาวนา คือการแผ่เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ออกไปในทิศต่างๆ อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นสภาวจิตที่ตรงข้ามกับโทสะ เพื่อปรับพื้นฐานจิตให้เย็นขึ้น

ผู้เป็นวิตักกจริตนั้น จิตใจมักซัดส่ายไปมาอยู่เสมอ จึงทรงให้อานาปานสติ คือให้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องยึดจิตเอาไว้ ไม่ให้ซัดส่าย

ที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ เป็นการให้กรรมฐานตามจริต แต่ความเหมาะสมของกรรมฐานสำหรับแต่ละบุคคลนั้น นอกจากเรื่องของจริตแล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยในด้านอื่นๆ อีก ดังที่กล่าวแล้วในข้อ 1. ดังนั้น ชนิดของกรรมฐานจึงมีมากกว่าที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้


บทความที่เกี่ยวข้อง
นิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข หลักการทำสมาธิเบื้องต้น สมาธิ 40 วิธี พุทธานุสติ อานาปานสติ จริต 6 กรรมฐานสำหรับแต่ละจริต นั่งแล้วตัวสั่นและขาขยับได้เอง นั่งสมาธิแล้วเกิดปิติ นั่งสมาธิแล้วเกิดความอยากได้ นั่งสมาธิแล้วฟุ้งซ่าน การออกจากสมาธิกลางคัน นั่งสมาธิแล้วเหมือนแขนขาหายไป สมาธิและกิเลส



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย