สมาธิภาวนา


นั่งแล้วตัวสั่นและขาขยับได้เอง

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

คำถาม

เมื่อผมนั่งสมาธิมันจะมีอาการที่เกิอขึ้นกับร่างกายแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลยครับ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ครั้งงนี้ที่ผมทำมันมีอาการแปลกๆครัล คือขณะที่นั่งไปได้ไม่นานนักจะมีอาการสั่นของร่างกายเกิดขึ้น นานพอสมควรหลังงจากนั้นจะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อขา(คล้ายกับเป็นตะคริว) หลังจากนั้นขาก็เหยียดออกและหดเข้า จากนั่งสมาธิชาขวาทับขาซ้าย เปลี่ยนไปเป็นนั่งสมาธิท่าอื่นๆ ซึ่งมันเกิดการเปลึ่ยนแปลงไปหลายท่า ซึ่งมันทำให้ผมเสียสมาธิพอสมควร แต่ผมก็พยายามกำหนดพุทโธไว้ ไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ตอบ

ความจริงอาการที่เล่ามานั้น ก็คืออาการที่รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติของมันให้เห็นนั่นแหละครับ คือแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความแปรปรวนไป ความไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ (ดูเรื่องรูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ *** อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวลใดๆ ทั้งสิ้น *** เพราะการทำสมาธิ หรือวิปัสสนาก็ตาม จะมีสิ่งแปลกๆ เกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งอาจจะแปลกอย่างไม่น่าเป็นไปได้เลยก็ได้ ถ้าไม่หายกลัวจริงๆ ก็หยุดนั่งก่อน แล้วไหว้พระสวดมนต์ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองเพื่อเป็นกำลังใจ เพราะถ้านั่งด้วยความกลัวอาจเสียสติได้ (ถ้านั่งไม่ได้ก็ใช้วิธีเดินจงกรมไปก่อน อย่าฝืนนั่งด้วยความกลัว หรืออาจนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ ด้วย)

เมื่อหายกลัวแล้วจึงนั่งต่อไป แล้วก็รับรู้ตามสภาพที่ปรากฏในขณะนั้น อาจใช้คำบริกรรมประกอบตามอาการที่กำลังเกิดขึ้นนั้นด้วย (เช่น สั่น เหยียดขา ฯลฯ เพื่อเพิ่มความหนักแน่นของจิต และสติ) แล้วก็คอยดูคอยสังเกตมันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะแสดงธรรมชาติของมันออกมาเรื่อยๆ ต่อไปอีก

ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องมีสติให้มั่นคง อย่าเผลอ ถ้ามีอาการทางกาย วาจา หรือทางใจอย่างไรเกิดขึ้น (ทั้งในขณะทำกรรมฐาน และเวลาอื่นๆ) ก็ให้มีสติยั้งคิด พิจารณาว่าสิ่งนั้นสมควรหรือไม่ ถ้าสมควรทำก็ทำ ถ้าไม่สมควรก็อย่าเผลอปล่อยกาย ปล่อยใจไปตามนั้น (เช่น ถ้าคิดว่ายังไม่ควรเหยียดขาก็อย่าเหยียดออกไป)

ถ้าห้ามไม่ได้จริงๆ ก็หยุดพักจากการนั่งสมาธิในครั้งนั้นก่อน แล้วเดินจงกรมแทน โดยมีสติอยู่ที่การเคลื่อนไหวของเท้า ซึ่งจะเรียกสติได้ง่ายกว่าการนั่งสมาธิ (ถ้าเผลอปล่อยให้เป็นไปโดยขาดสติ จะถูกจิตใต้สำนึก หรืออะไรก็แล้วแต่ครอบงำเอาได้ แล้วต่อไปจะแก้ได้ยาก อาจถึงขั้นเพี้ยนได้ง่ายๆ)

อาการสั่นของร่างกายนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็ขอให้ทำความรู้สึกตัวไปทั่วร่างกาย (มีสัมปชัญญะ) โดยเฉพาะจุดที่สั่นนั้น พร้อมกับมีสติประกอบด้วย แล้วทำความรู้สึกผ่อนคลายที่กล้ามเนื้อส่วนที่สั่นนั้น อย่าให้กล้ามเนื้อเกร็ง แล้วประคองสติเอาไว้ให้ได้ตลอด อย่าเผลอปล่อยกายใจไปโดยไม่ได้พิจารณาว่าควรหรือไม่ควร อย่าปล่อยให้จิตใต้สำนึก หรือสิ่งใดมาครอบงำจิตได้

ถ้าไม่หายก็ลืมตาสักพัก หรืออาจต้องเดินจงกรมสลับเป็นช่วงๆ (ก่อนนั่งทุกครั้งควรเดินจงกรมเพื่อฝึกสติก่อน) ถ้าอาการลักษณะนี้เกิดขึ้น อย่าได้เสียดายสมาธิครับ ต้องรีบเพิ่มกำลังของสติก่อน ก่อนที่จะมีปัญหาอื่นตามมา

เพราะอาการเช่นนี้มักเกิดจากการที่สติมีกำลังอ่อนกว่าสมาธิ จนตามสมาธิไม่ทัน ต้องฝึกสติโดยเดินจงกรมให้มากๆ ครับ รวมทั้งในชีวิตประจำวันก็ควรกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถที่กระทำ และมีสติยั้งคิด พิจารณาว่าควรหรือไม่ควรก่อนพูด ทำ คิดในสิ่งต่างๆ และคอยห้ามใจไม่ให้เผลอกระทำในสิ่งที่ไม่สมควร ก็จะเพิ่มกำลังของสติได้มาก เพื่อปรับอินทรีย์ให้สมดุลกัน (อินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้าสมดุลกันแล้วกรรมฐานก็จะเจริญก้าวหน้าได้ดี)


บทความที่เกี่ยวข้อง


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย