สมาธิภาวนา |
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
คำถาม
ตอนนี้กุมบังเหียนใจตัวเองไม่ให้กระเพื่อมตามโลกธรรม 8 มากนักได้ดีขึ้น นั่งสมาธินิ่ง แต่เกิดกิเลส เวลานั่งแล้วไม่เอาแค่นิ่งแบบเดิม อยากได้นู่นนี่ เช่น อยากไปถึงสุข อุเบกขา ปฐมญาณ เข้าออกได้ตามใจ และเวลาเกิดอาการใดๆ ทั้งเก่าและใหม่ก็ดีใจชื่นชม (จริงๆนะคะ) ไม่เฉยๆ แบบเมื่อก่อน พยายามไม่ทำให้รู้สึก แต่ก็รู้สึกดีอยากทำ ความรู้สึกเหล่านี้ ดีหรือร้ายคะ ต้องแก้ไขหรือไม่ หากต้องแก้ ให้ทำอย่างไรคะ
ตอบ
1.) การควบคุมจิตได้ดีขึ้น และเข้าสมาธิได้เร็วขึ้นเป็นสิ่งดีครับ แต่การอยากได้นู่นได้นี่ จะทำให้จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน คือไปอยู่ที่อนาคต คือสิ่งที่อยากได้ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จะทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้า และอาจถอยหลังได้ครับ
ต้องตัดความรู้สึกอยากออกไป แล้วดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบัน คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วสมาธิถึงจะเกิดและก้าวหน้าไปได้ครับ ต้องคิดเอาไว้ว่าถ้ายิ่งอยากก็จะยิ่งไม่ได้ (สมาธิไม่เกิด) แต่ถ้าไม่อยากแล้วก็จะได้เองตามเหตุปัจจัยครับ (เพราะจิตจะรวมได้ง่าย)
อาการลักษณะนี้เกิดจากวิริยินทรีย์ (วิริยะ + อินทรีย์ = สิ่งที่เป็นใหญ่ในความเพียร) คือวิริยะ หรือความเพียรมีกำลังมากเกินไปครับ จะต้องข่มจิตลง คือลดความมุ่งมั่น หรือความอยากลง สมาธิถึงจะเกิดได้ง่ายขึ้นครับ (ไม่ใช่ให้ลดการนั่งสมาธิลงนะครับ แต่ให้ลดความรู้สึกมุ่งมั่นลง ทำใจให้ผ่อนคลายขึ้น คิดว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วดูมันไปเรื่อยๆ )
2.) เรื่องการจะได้ฌานนั้น เวลาทำสมาธิต้องคอยสังเกตทางไปของสมาธิ หรือทางดำเนินของจิตให้ดีครับ คือสังเกตว่าเมื่อทำจิตแบบไหน แล้วผลที่ได้เป็นยังไง เมื่อฉลาดในทางดำเนินของจิต และมีความชำนาญในการสร้างเหตุปัจจัย ให้จิตเป็นไปในสภาวะที่ต้องการแล้ว โอกาสได้ฌานก็จะมากขึ้นตามลำดับครับ
3.) ความรู้สึกดีใจชื่นชมเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังของวิริยินทรีย์ครับ ถ้าน้อยเกินไปก็หดหู่ ท้อถอย ไม่มีความเพียร แต่ถ้ามากเกินไปก็จะส่งผลอย่างที่อธิบายแล้วในข้อ 1. ต้องประคับประคองให้สมดุลถึงจะส่งผลดีที่สุดครับ คือ ต้องยกจิตเมื่อควรยก ข่มจิตเมื่อควรข่ม ประคองจิตเมื่อควรประคอง
การแก้ไข คือการข่มจิต อธิบายแล้วในข้อ 1. ครับ
4.) ขออธิบายเรื่องญาณ และฌานนิดนึงนะครับ
ญาณ คือปัญญา ความรู้แจ้ง โดยมากใช้กับปัญญาที่เกิดจากการทำวิปัสสนา คือความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนาญาณ
ฌาน ตามศัพท์แปลว่าการเพ่ง ใช้กับการทำสมาธิ ผู้ที่ได้ฌาน จะต้องเข้าออกสมาธิในขั้นนั้นๆ ได้อย่างใจต้องการ และสามารถอยู่ในสมาธิขั้นนั้นได้นานตามต้องการด้วย เรียกว่าได้วสี คือความชำนาญ