สมาธิภาวนา |
อานาปานสติ ก็เป็นการทำสมาธิอีกวิธีหนึ่ง โดยหลักการที่สำคัญก็คือการเพ่งลมหายใจเข้าออก คือจะรวมจิตไว้ที่การรับรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อไม่ให้จิตซัดส่ายคิดไปในเรื่องต่างๆ
โดยปรกติแล้วจะยึดจิตไว้ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากด้านบน ตรงจุดที่รู้สึกถึงการกระทบ ของลมหายใจ ที่ชัดเจนที่สุด
(อาจารย์บางท่านแนะนำว่า ผู้ชายให้ยึดจิตไว้ที่จุดกระทบของลมหายใจจากรูจมูกข้างขวา
ผู้หญิงให้ยึดจิตไว้ที่จุดกระทบของลมจากรูจมูกข้างซ้าย)
แล้วคอยสังเกตลักษณะของลมหายใจอยู่ที่จุดนั้น โดยไม่ต้องเลื่อนจิตตามลมหายใจ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียว ไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียว ก็จะรู้ทิศทาง และลักษณะของลมได้เช่นกัน
การสังเกตนั้น คือสังเกตว่ากำลังหายใจเข้าหรือออก ลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจเย็นหรือร้อน ลมหายใจหยาบหรือละเอียด (ดูเรื่องอานาปานสติสูตร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)
พร้อมกันนั้นก็มีคำบริกรรมประกอบไปด้วย เช่น หายใจเข้าบริกรรมว่าพุท หายใจออกบริกรรมว่าโธ หรืออาจจะบริกรรมตามลักษณะของลมหายใจในขณะนั้น เช่น เข้า-ออก หรือ ยาว-สั้น หรือ เย็น-ร้อน หรืออาจจะใช้วิธีการนับเลข 1 - 10 ก็ได้ ( ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ ในตอนกลางๆ ค่อนไปทางท้าย เกี่ยวกับวิธีแก้ไขอุทธัจจกุกกุจจะ จะมีคำอธิบายวิธีนับลมหายใจอธิบายเอาไว้อย่างละเอียด )