"หลวงปู่ขาว เล่าเรื่องเสือ"

 วิริยะ12  

 "หลวงปู่ขาว เล่าเรื่องเสือ"

" .. "หลวงปู่ขาวอนาลโย เล่าเรื่องเกี่ยวกับเสือในช่วงที่ท่านพักจำพรรษาที่ดงหม้อทอง" อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ดังนี้ ..

คืนหนึ่ง หลวงปู่ฯ กำลังให้การอบรมกรรมฐานแก่พระที่จำพรรษาอยู่ด้วยสามสี่องค์ "ก็ได้ยินเสียงนักเลงโตสามตัวลายพาดกลอน ดังกระหึ่ม ๆ ขึ้นข้าง ๆ บริเวณที่พัก" มันอยู่คนละด้าน

ต่อจากนั้นพวกมันก็มาพบกัน "ได้ยินเสียงคำรามขู่กันบ้าง เสียงกัดในลักษณะหยอกล้อกันบ้าง" สักพักก็เงียบหายไป นึกว่าพวกมันไปกันแล้ว ต่อมา ได้ยินเสียงขู่เข็ญ กัดกัน เล่นกัน ข้าง ๆ ที่พักนั้นเอง ดูมันจะใกล้กับที่พระนั่งภาวนาอยู่เรื่อย ๆ

"ประมาณสามทุ่ม เจ้าป่าทั้งสามก็พากันมาหยอกล้ออยู่ใต้ถุนศาลาที่พระกำลังนั่งสมาธิภาวนาฟังการอบรมจากหลวงปู่ฯ อยู่ศาลาหลังเล็ก ๆ นั้น" มีพื้นสูงเพียงเมตรกว่า ๆ เท่านั้นเอง โครงสร้างไม่ได้แข็งแรงอะไรเลย ปลูกพอได้พักอาศัยเท่านั้น

เสือสามตัวส่งเสียงกระหึ่มคำรามหยอกล้อกัดกัน เล่นกันอยู่ใต้ถุนศาลาหลังเล็ก ๆ นั้นส่งเสียงรบกวนพระโดยไม่สนใจอะไร "ดูท่ามันจะสนุกกันใหญ่ หลวงปู่ฯ เห็นว่า ไม่ควรปล่อยไว้เช่นนั้น" จึงพูดเสียงดังลงไปว่า ..

"เฮ้ย .. สามสหาย อย่าพากันส่งเสียงอื้ออึงนักซิ พระกำลังเทศน์และฟังธรรมกัน เดี๋ยวจะเป็นบาปตกนรกฉิบหายกันหมดนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอก ที่นี่ไม่ใช่ที่เอ็ดตะโรโฮเฮกัน จงพากันไปเที่ยวร้องครางที่อื่น ที่นี่เป็นวัดของพระ ที่ท่านชอบความสงบ ไม่เหมือนพวกแก รีบไปเสีย พากันไปร้องไปเล่นที่อื่นตามสบาย ไม่มีใครไปยุ่งกับพวกแกหรอก ที่นี่เป็นที่พระท่านบำเพ็ญธรรมจึงห้ามไม่ให้พวกแกส่งเสียงอื้ออึง"

พอได้ยินเสียงหลวงปู่ฯ ร้องบอกไป "พวกมันพากันสงบเงียบอยู่พักหนึ่ง" หลังจากนั้นอีกสักพัก ก็ได้ยินเสียงพวกมันเกี้ยวพาราสีกันซุบซิบอู๋อี๋เบา ๆ อยู่ใต้ถุนศาลา คล้าย ๆ กับจะเตือนกันว่า "พวกเราอย่าส่งเสียงดังนักซิ พระท่านรำคาญและร้องบอกลงมานั่นไงละ ทำเสียงเบา ๆ หน่อยเถอะเพื่อนเดี๋ยวเป็นบาปขี้กลากขึ้นหัวนะ"

เสียงเสือหยุดไปพักหนึ่ง "ต่อไปก็มีเสียงหยอกล้อกันอีกไม่ยอมหนีไปไหน แต่เสียงค่อยกว่าตอนแรก ๆ" พวกมันหยอกล้อเล่นกันสนุก ตั้งแต่สามทุ่มจนถึงสองยาม "บรรดาพระก็ตั้งใจทำสมาธิภาวนา แม้ใจไม่สงบนัก ก็ไม่กล้ากระดุกกระดิก กลัวเสือมันกัดเอา" พอถึงหกทุ่ม การอบรมธรรมก็จบลง พวกเสือแยกกันเข้าป่าไป พระก็แยกกันกลับกุฎิ .. "

"หนังสือบูรพาจารย์"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
 

5,579







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย