ศีล
โดย : พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์

เรื่องที่ ๒๑ : มุสาวาท ๗ อย่าง


ตอนนี้ เรากำลังพูดถึงศีลข้อที่ ๔ เกี่ยวกับเรื่องการมุสา บางท่านอาจคิดว่า การมุสา ก็คือการ พูดโกหก แต่ในทางตำราแล้ว อาการของมุสา ท่านยังได้แยกย่อยไปถึง ๗ อย่างด้วยกัน ซึ่งถ้า ใครไปกระทำเข้า ก็เข้าข่ายผิดศีลข้อที่ ๔ ฉะนั้น ฟังไว้ เพื่อเป็น การประดับความรู้ ก็จะเป็น ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ในทางคัมภีร์พุทธศาสนา

ท่านแสดงอาการที่เข้าข่ายมุสาไว้ ๗ อย่าง ดังต่อไปนี้

๑. ปด ได้แก่การโกหกชัดๆ ไม่รู้บอกว่ารู้ ไม่เห็นบอกว่าเห็น ไม่มีบอกว่ามี หรือรู้บอกว่า ไม่รู้ เห็นบอกว่าไม่เห็น มีบอกว่าไม่มี อย่างนี้เรียกว่าปด

๒. ทนสาบาน คือทนสาบานตัว เพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ การสาบานนั้น อาจมีการสาปแช่งด้วย หรือไม่ก็ตาม ท้ายที่สุด คนที่อยู่ด้วยกันมากๆ เช่นนักเรียนทั้งชั้น เมื่อมีผู้หนึ่งทำความผิด แต่ จับตัวไม่ได้ ครูจึงเรียกประชุม แล้วก็ถามในที่ประชุม และสั่งว่า ใครเป็นผู้ทำผิดให้ยืนขึ้น นักเรียนคนที่ทำผิดไม่ยอมยืน นั่นเฉยอยู่ เหมือนกับคนที่เขาไม่ผิด ทำอย่างนี้ก็เป็นการมุสา ด้วยการทนสาบาน เรียกว่า "ทวนสาบาน" ก็ได้

๓. ทำเล่ห์กะเท่ ได้แก่การอวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์เกินเหตุเกินความจริง เช่นอวดรู้วิชา คงกระ พัน ว่าฟันไม่เข้ายิงไม่ออก อวดวิชาเสน่ห์ยาแฝด ว่าทำให้คนรักคนหลง อวดความ แม่นยำ ทำนายโชคชะตา อวดวิเศษให้หวยเบอร์ ผู้อวดนั้น มักจะพร่ำแสดงเกินความจริง ใจของตน ซึ่งเป็นการทำเล่ห์กะเท่คนใจบาปบางคน หมดทางหากิน จึงโกนผม นุ่งห่ม ผ้าเหลือง แสดง ว่าตัว เป็นพระ เพื่อให้ชาวบ้านเขาเลี้ยงดู การกระทำดังตัวอย่าง ที่ยกมานี้ เรียกว่าทำเล่ห์

๔. มารยา ได้แก่แสดงอาการหลอกคนอื่น เช่นเจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก ข้าราชการบางคน ต้อง การจะลาพักงาน แต่ถ้าลาตรงๆ เกรงผู้บังคับบัญชาจะไม่เห็นใจ จึงแกล้ง ทำหน้าตา ท่าทาง ว่ามีทุกข์ เอามือกุมขมับ แสดงว่าปวดศีรษะ กุมท้อง แสดงว่า ปวดท้อง เด็กบางคน อยากเก โรงเรียน เอามือล้วงคอโอ้กอ้าก แสดงว่าคลื่นไส้ ให้พ่อแม่ได้ยิน จะได้ผ่อนผัน

๕. ทำเลศ คือใจอยากจะพูดเท็จ แต่ทำเป็นเล่นสำนวน พูดคลุมเครือให้ผู้ฟังคิดผิดเอาเอง เช่นคนอยู่อยุธยา เดินทางเข้ามาในกรุงเทพ เพื่อนที่กรุงเทพถามว่า "ทางอยุธยาฝนตกไหม ?" "คุณนี่ถามได้ แดดออกเปรี้ยงอย่างนี้ ยังถามหาฝนอีก" พูดอย่างนี้ เรียกว่า ทำเลศ

๖. เสริมความ ได้แก่เรื่องจริงมี แต่มีน้อย คนพูดอยากจะให้คนฟังเห็นเป็นเรื่องใหญ่ จึงพูด ประกอบกิริยาท่าทาง ให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่โต เช่นเห็นไฟไหม้เศษกระดาษนิดเดียว ก็ตะโกน ลั่นว่า "ไฟไหม้ๆ" คนอื่นได้ยินเสียงตะโกนเข้า เขาก็เข้าใจว่า เกิดไฟไหม้บ้านเรือน อย่างนี้ เรียกว่าเสริมความ ไม่พ้นศีลขาด แม้ว่ามูลเดิมจะมีอยู่จริงก็ตาม คนโฆษณาขายสินค้า ที่มัก พรรณนาสรรพคุณเกินความจริง ยาขนานเดียวแก้โรค ได้สารพัดทุกสิ่ง อย่างนี้ก็นับ เข้าใน กิริยา เสริมความ

๗. อำความ ตรงกันข้ามกับเสริมมความ เสริมความ ทำเรื่องเล็กให้ใหญ่ ส่วนอำความ คือทำ เรื่องใหญ่ให้เล็ก ยกตัวอย่าง ข้าราชการที่ไปปกครองท้องถิ่นห่างไกล จะต้องปกครอง ประชาชนให้สงบสุข ครั้นมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น เช่นมีโจรร้ายปล้นสะดม จำต้องรายงาน ต่อผู้ใหญ่ ถ้าจะรายงานตามเป็นจริง ก็กลัวจะถูกเพ่งเล็ง ว่าเป็น ความบกพร่องต่อหน้าที่จึง ทำข้อความในรายงานให้เบาลง ให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่อง เพียงเล็กน้อย แทนที่จะเห็นว่า เป็น การปล้นสะดม ก็เข้าใจเพียงเป็นการชิงทรัพย์ ดังนี้เป็นต้น




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย