วัดตานีนรสโมสร


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2413
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2479


วัดตานีนรสโมสร

ปัตตานี


ประวัติและความสำคัญ

วัดตานีนรสโมสร สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2395 แด่เดิมย้ายจากบริเวณเมืองเก่าที่บ้านนา ตำบลกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สีตะวันกรมการเมืองปัตตานี สร้างขึ้นเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำมณฑลปัตตานี เดิมชื่อว่าวัดบางน้ำจืด แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่าวัดกลาง ในระยะแรกของการเริ่มสร้างวัดไม่มีถาวรวัตถุที่มั่นคง อีกทั้งพระสงฆ์จำพรรษาก็ไม่มีหลักฐานระบุแน่นอน จนถึงปี พ.ศ. 2430 ทางคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้พระครูธรรมโมลีวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา และคณะเดินทางมาจัดการปกครอง ซึ่งขณะนั้นเจ้าอธิการสุขเป็นเจ้าอาวาส ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิพัฒน์สมณกิจ และในปีนี้พระครูพิพัฒน์สมณกิจกับนางละนง แซ่เล่า ได้จัดสร้างพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบจีน

วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองปัตตานี ทรงทอดพระเนตรเห็นศาลาการเปรียญหลังคามุงจากมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงพระราชทานทรัพย์เพื่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ดังปรากฏในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ 5 “เสด็จพระราชดำเนินไปที่หอนั่งพระยาตานี และเสด็จกลับทางเดิม ทรงเรือพระที่นั่งล่องมาประทับขึ้นที่วัดตานี เสด็จทอดพระเนตรในโบสถ์ซึ่งพึ่งทำใหม่เป็นอย่างจีน พระพุทธรูปก็ทำใหม่พึ่งเสร็จ มีพระ 14 รูป ทรงทราบว่า การถือน้ำประจำปีเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำที่วัดนี้ทุกคราว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้ทำศาลาการเปรียญเป็นที่สำหรับเด็กเรียนหนังสือด้วย และให้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำ แทนศาลาหลังคาจากของเก่า (ประยูรเดช คณานุรักษ์, 2538, น. 42) ส่วนพระราชทรัพย์ที่ทรงพระราชทานเป็นจำนวนเงิน 5 ชั่ง ตามหลักฐานที่ระบุในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ตอนหนึ่งว่า “แล้วเสด็จมาทรงเรือพระที่นั่งมาประทับที่วัดของจีนจูหลาย กัปตันจีนสร้างมีพระสงฆ์อยู่ 14 รูป โบสถ์ทำอย่างจีน พระเจ้าบ้านแขกไม่ได้ รับสั่งให้นิมนต์มาถวายเงิน สมเด็จแม่ก็ถวายด้วย แล้วประทานเงินกัปตันจีนไว้ห้าชั่งให้ทำศาลาการเปรียญเป็นที่สำหรับเด็กเรียนหนังสือ ให้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองกรมการประชุมถือน้ำด้วย” (ประยูรเดช คณานุรักษ์, 2538, น. 47)

ต่อมาเมื่อคราวเสด็จเมืองหนองจิก วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 ขณะที่ประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหน้าเมืองหนองจิกนั้น ทรงทราบว่าศาลาการเปรียญที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่วัดบางน้ำจืด เมื่อคราวเสด็จตรังกานูเกือบเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 3 ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ดังนี้ “พระยาตานีมาคอยอยู่ 4 วันแล้วพึ่งกลับไปพระยาหนองจิกให้ไปบอก ก็ขึ้นมาพร้อมกับพระศรีบุรีรัฐ พระพิพิธภักดี หลวงจีนคณานุรักษ์ ทราบว่าศาลาการเปรียญที่วัดตานี ซึ่งฉันสร้างไว้นั้น เกือบเสร็จแล้ว จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีพอที่จะฉลองได้ จึงปล่อยให้พวกเมืองตานีกลับไปจัดการรับที่เมืองตานี” (ประยุทธ สิทธิพันธ์, 2524, น. 381)
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบางน้ำจืด โดยเรือพระที่นั่งบูรทิศในการพระราชพิธีฉลองการเปรียญ ทรงมีพระราชหัตถเลขา ในการพระราชพิธีดังกล่าวถึงเหตุการณ์ในการฉลองศาลาการเปรียญและได้พระราชทานนามวัดว่า วัดตานีนรสโมสร และได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีชนิดสามัญ นับเป็นอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2509

วัดตานีนรสโมสรกับจัดการศึกษาในจังหวัดปัตตานี
ในสมัยพระครูพิพัฒน์สมณกิจ (สุข) เป็นเจ้าอาวาส ปี พ.ศ. 2444 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทยตามหลักสูตรประถมศึกษา ซึ่งมีหลวงสุนทรธนารักษ์เป็นผู้ให้การสนับสนุนเป็นครั้งแรกตั้งชื่อโรงเรียนว่า สุนทรวิทยาทาน นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกในปัตตานี และในสมัยพระธรรมโมลีเป็นเจ้าอาวาสได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของเยาวชนจึงนำเงินที่ประชาชนบริจาคเพื่อบำรุงมาสร้างโรงเรียนสอนภาษาไทย 1 หลัง ทรงไทยตรีมุข กว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร มี 12 ห้องเรียนจัดเป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่เยาวชน (ปัจจุบันขยายเป็น 24 ห้องเรียน) และสร้างโรงเรียนนักธรรมบาลีด้วยทุนทรัพย์ของวัดเป็นทรงปั้นหยากว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร คอนกรีตเสริมเหล็ก วัดตานีรนรสโมสรจึงมีโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรด้วย เพราะฉะนั้นวัดตานีนรสโมสรจึงเป็นสถานที่การศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมให้กับนักเรียนชาวจังหวัดปัตตานี และจังหวัดใกล้เคียงมาเป็นเวลานาน

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร
1. พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (สุข) พ.ศ. 2430 – 2446
2. พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (เมิน) พ.ศ. 2446 – 2453
3. พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (บุญ ปุญญลาโภ) พ.ศ. 2453 – 2460
4. พระครูสโมสรสิทธิการ (แก้ว) พ.ศ. 2460 – 2477
5. พระครูธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร) พ.ศ. 2477 – 2540
6. พระครูศรีปัญญาวุธ (จรินทร์ ปญญธโร) พ.ศ. 2541 – 2554
7. พระครูศรีจริยาภรณ์ (ชรัช อุชุจาโร) พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย •


พระอุโบสถ
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยพระธรรมโมลี (ขณะเป็นพระญาณโมลี) พร้อมด้วยหลวงรัตนมนตรี (ฮวด คายนันท์) และพุทธศาสนิกชนร่วมกันก่อสร้างเป็นรูปทรงไทย กว้าง ๙ เมตร ยาง ๑๗ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กโบกปูน หน้าบันมีตราพระเกี้ยวกนกล้อมรอบ หน้าพระอุโบสถมีซุ้มประดิษฐานพุทธรูปปางมารวิชัย (ขนมต้ม) ศิลปะนครศรีธรรมราช หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) มอบให้พำนักวัดตานีนสโมสร ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัยหน้าตักกว้าง ๑ เมตร มีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยอยุธยาหรือละโว้ สูง ๒ เมตร สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ โปรดเกล้าให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระชายานำมาถวายวัดตานีนรสโมสร และมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ศิลปะสมัยทวาราวดี สูง ๒เมตร เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่วัด   

นพสงฆ์อนุสรณ์วัดตานีนรสโมสร
สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานของพระภิกษุสงฆ์ที่สำคัญในจังหวัดปัตตานี   

ศาลาการเปรียญ
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 พระธรรมโมลี (ขณะเป็นพระเทพญาณโมลี) และขุนธำรงพันธ์ภักดีร่วมกันสร้าง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กฉาบปูนสองชั้นหน้าบันมีตราพระเกี้ยวกนกล้อมรอบเช่นเดียวกับพระอุโบสถ กว้าง 16 เมตร ยาว 36 เมตร มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2557   

หอระฆัง
สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ โดยขุนธำรงพันธุ์ภักดี เป็นหอระฆังศิลปะไทย กว้าง ๔ เมตร สูง ๑ เมตร ระฆังเป็นศิลปะอิสลาม   

 10,401


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย