วัดกวิศรารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนเพทราชา ทางด้านทิศใต้ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ในเขตตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของลพบุรี ตามตำนานพระอารามหลวงนั้น บอกประวัติไว้สั้นๆ แต่เพียงว่า วัดนี้เดิมชื่อ วัดขวิด สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาใหม่ พระราชทานนามว่า วัดกรวิศยาราม และรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม
วัดกวิศราราม แต่เดิมคงเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา พระอุโบสถเดิม ซึ่งตามลักษณะเป็นพระอุโบสถ สมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราชนั้น เป็นพระอุโบสถขนาดย่อมแบบมหาอุด มีประตูเข้าออกทางเดียว ผนัง เจาะเป็นช่องไม่มีหน้าต่าง พระประธานซึ่งเป็นของเก่าแก่มาแต่เดิม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยอู่ทอง หลังคาของเดิมมุงด้วย กระเบื้องลอนแบบจีน ที่เรียกว่ากาบู
ภายในพระอุโบสถตกแต่ง โดยเขียนลายประดับเต็มทั่วทั้งที่ผนังและเสาทุกต้น สำหรับพระประธานนั้น นักโบราณคดีตรวจสอบแล้ว ให้ข้อสังเกตว่าพระประธาน ซึ่งเป็นพระขนาดใหญ่ ประดิษฐานในพระอุโบสถมาแต่ต้นนั้น พระพุทธรูป ซึ่งอาจอัญเชิญพระเก่ามาเป็นประธาน แต่ลักษณะของฐานชุกชี และ การประดิษฐานพระนั้น เป็นแบบที่อยู่ในความนิยมเมื่อครั้งก่อนสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาก บางทีอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรง ปฏิสังขรณ์ขึ้นก็เป็นได้ สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่า วัดนี้เป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงสร้าง และคงจะทำขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์นี้เอง แต่ฝีมือช่างตลอดจนลักษณะ และลวดลายนั้น ผิดแผกจากศิลปกรรมในรุ่นเดียวกัน อาจจะเป็นฝีมือช่างชาวลพบุรี จิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ วัดกวิศรารามเรียบร้อยแล้ว ทรงอาราธนาพระสงฆ์ รามัญนิกายมาอยู่จำพรรษา โดยมีเจ้าอาวาสสืบต่อกันมากี่องค์ ไม่ปรากฏ แต่เจ้าอาวาสทุกองค์มีสมณศักดิ์เป็น "พระครูรามัญสมณคุณ" ต่อกันมา จนกระทั่งเปลี่ยนจากวัดรามัญเป็นวัดมหานิกาย
{ พระอุโบสถ }
มีลักษณะเป็นพระอุโบสถมหาอุตม์ ภายในวัดมีพระอุโบสถที่มีประตูทางเข้าออกทางเดียวกัน หน้าต่างเจาะช่อง ศิลปแบบอยุธยา มีมุขเด็จอยู่ด้านหน้า ที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ต่อออกมาและขยายพัทธสีมาให้ใหญ่กว่าเดิม พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอู่ทอง
{ จิตรกรรมฝาผนัง }
เป็นลายรูปดอกไม้ที่มีความงดงามยิ่งนัก
{ พระเจดีย์ }
เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ ภายในเขตพัทธสีมา ชิดกับตัวพระอุโบสถ ตามธรรมเนียมความนิยม สร้างโบสถ์หรือวิหารหน้าสถูปหรือเจดีย์ เจดีย์องค์นี้น่าจะมีมาแต่เดิมแล้ว แต่ในลักษณะปัจจุบัน ได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 4
{ หอไตรริมบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หน้าพระอุโบสถ }
เป็นหอไตรขนาดพอเหมาะ มีลายหน้าบัน เป็นก้านขดสวยงาม และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เมื่อครั้งอดีตกาล
{ พระพุทธวรญาณ (ทองย้อย กิตฺติทินฺโน) }
เป็นที่นับถือ ของประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีโดยทั่วไป เป็นพระนักเทศน์ที่สอนให้ประชาชนนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ยังพยายามส่งเสริมให้เยาวชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยตั้งโรงเรียนวินิตศึกษา ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 นับเป็นโรงเรียนราษฏร์ขนาดใหญ่และได้มาตรฐานของจังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ยังจัดตั้งโรงเรียนนักธรรม - บาลี เพื่อเพิ่มพูนระดับการศึกษาให้แก่คณะสงฆ์ในจังหวัดลพบุรี พระพุทธวรญาณได้ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนาและการศึกษา มาโดยตลอด อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติ สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัตรที่พระพุทธวรญาณ