วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์


พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุติกนิกาย
วันตั้งวัด : วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2525


วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์

ชลบุรี


วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยใหญ่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ๒๐๒๖๐

สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๙ นายแพทย์ขจร และคุณหญิงนิธิวดี อันตระการ พร้อมด้วยบุตรธิดา มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินจำนวน ๑๐๐ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา แด่ สมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ - ปัจจุบัน) เพื่อสร้างวัดในพระพุทธศาสนา และปรารถนาให้มีนามตามทินนามสมณศักดิ์ของสมเด็จฯ วัดนี้จึงมีชื่อว่า "วัดญาณสังวราราม"

ในระยะแรกวัดนี้มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ และได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓ และรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรเมนทรมหาภูมิพลมหาราช ทรงพระมหากรุณารับไว้เป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดญาณสังวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ปัจจุบันอาณาเขตของวัดมีพื้นที่ ๓๖๖ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา นอกจากนี้ยังมีเนื้อที่ในเขตโครงการพระราชดำริประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่เศษที่ติดต่อกับอาณาเขตวัด

เนื่องจากบริเวณพื้นที่สร้างวัดเป็นที่ราบเชิงเขาห่างจากถนนสุขุมวิทช่วงระหว่างบางละมุง-สัตหีบ โดยแยกเข้ามาจากถนนทางหลวงประมาณ ๕ กิโลเมตร ทางการจึงได้ทำการตัดถนนเข้ามาจนถึงวัดทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น จึงได้มีการก่อสร้างปูชนียวัตถุสถานขึ้นตามลำดับ เช่น พระอุโบสถ, พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์, พระมหามณฑป พระพุทธบาท ภปร. สก., ศาลาอเนกกุศลขนาดใหญ่สองหลัง สว.กว. (ศรีสังวาลย์กัลยาณิวัฒนา) และ มวก.สธ. (มหาวชิราลงกรณ์ สิรินธร)

วัดญาณสังวรารามอาจถือเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องจากคณะผู้สร้างวัดได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ

วัดนี้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระกรุณานานัปการจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงอุปถัมภ์ในการก่อสร้างตลอดมา และทรงรับเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวัดในพระองค์อีกด้วย

   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์ พระประธานประจำอุโบสถ •

{ พระอุโบสถ }
- พระอุโบสถ สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยดัดแปลงจากแบบพระอุโบสถเก่าคณะรังษี วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร   
{ สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์ }
- พระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า "สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์" สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางเททองหล่อ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2523 ณ บริเวณมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถเก่าคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร   
{ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ }

- พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและราชวงศ์จักรี เริ่มดำเนินการสร้างมาตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ เพื่อการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ชั้นที่ 2 ประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยมีชนวนจากพื้นปฐพีถึงที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ด้านนอกชั้นที่ 3 มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ คือ พระ ภปร. (ด้านหน้า) พระไพรีพินาศ (ด้านขวาของพระภปร. ) และพระชินราชสีหศาสดา (ด้านซ้ายของพระ ภปร.) ส่วนชั้นที่ 2 เป็นซุ่มตราพระมหาจักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2528   
{ พระมหามณฑปพุทธบาท ภปร. สก. }

- พระมหามณฑปพุทธบาท ภปร. สก. สร้างขึ้นด้วยความซาบซิ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้าและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. และพระนามาภิไธยย่อ สก. ประดิษฐานที่องค์พระมหามณฑป   
- ศาลาอเนกกุศล สว.กว. เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2526 ใช้เป็นศาลาฉัน   
{ พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา }

- พระพุทธปฏิมา อปร.มอ. ประจำศาลาอเนกกุศล สว.กว. เป็นพระปางสมาธิแบบพระ ภปร. สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล "อปร." และพระนามภิไธยย่อในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกนาถ "มอ." ประดิษฐานที่ผ้าทิตย์   
พระเจดีย์พุทธคยาจำลอง
สร้างขึ้นตามพระดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่ต้องการให้มีศาสนสถานเป็นที่ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในวัดญาณสังวราราม อาคารนี้ออกแบบโดย ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี โดยอาศัยเค้าโครงเดิมจากพระเจดีย์พุทธคยาในประเทศอินเดีย

พระเจดีย์พุทธคยาจำลอง มีผังแบบสมมาตร รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง – ยาวเท่ากัน ด้านละ ๒๒.๕๐ เมตร ล้อมด้วยพระระเบียง และกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง ด้านนอกเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับ ตัดแต่งเป็นทรงเรขาคณิต

พระเจดีย์ประธาน ฐานกว้าง ๑๒ เมตร มีทั้งหมด ๗ ชั้น แต่ละชั้นสูง ๓ เมตร ซึ่งหากนับรวมฐานชั้นล่างด้วยจะเป็น ๙ ชั้น มีบันไดเวียนขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุดได้ ชั้นล่างมีนิทรรศการถาวร เรื่อง ‘พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?’ จัดแสดงไว้โดยรอบพระระเบียงด้านนอก และภายในพระเจดีย์ประธาน   
หอพระไตรปิฎก
ตั้งอยู่ใกล้กับหอกลองและพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ โดยสร้างตามคติโบราณ ซึ่งนิยมสร้างหอพระไตรปิฎกไว้กลางน้ำ เพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎก พระอภิธรรมคัมภีร์ต่างๆ ให้รอดพ้นจากมด แมลงที่จะกัดกิน

ตัวอาคารสร้างแบบไทยประยุกต์ ลักษณะคล้ายหอพระไตรปิฎกวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่   
- รายการวิถีไทย วิถีพุทธ ตอน วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี -   

- เจ้าอาวาส -
• พระโสภณคณาภรณ์ (ไชยวัฒน์ ชยวฑฺฒโน ป.ธ.๗) •


 10,465


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย