มนุษย์ธรรมที่ ๔



.
 "มนุษย์ธรรมที่ ๔"

"มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการกล่าวเท็จ"

" .. "เท็จหรือมุสาคือไม่เป็นความจริง" กล่าวเท็จคือพูดไม่จริง "หรือพูดปดเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิด" ไม่รู้ ไม่เห็นพูดว่ารู้ว่าเห็น ไม่ได้ทำพูดว่าทำ หรือได้รู้ได้เห็นได้ทำพูดปฏิเสธเสีย ไม่ใช่พูดด้วยปากเท่านั้น เขียนหนังสือเท็จปดเขา หรือแสดงอาการให้เขาเข้าใจผิด เช่น "เขาถามว่าเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ไหม ความจริงก็เห็นแต่สั่นศรีษะ เพื่อให้เข้าใจว่าไม่เห็น" เรียกว่า "กล่าวเท็จหรือมุสาวาทเหมือนกัน"

"การแสดงความเท็จนั้น มักใช้กันเป็นส่วนมาก จึงเรียกว่ามุสาวาท" แต่ก็หมายถึงทุก ๆ วิธี ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดจากความจริง เช่น ที่เรียกว่า : -

- "ปด" ได้แก่มุสาจังๆ เพื่อให้แตกกัน เพื่อหลอก เพื่อยอยก เพื่อประจบสอพลอ เป็นต้น
- "ทนสบถสาบาน" เพื่อให้เขาเชื่อในคำเท็จ
- "ทำมารยา" เช่น ไม่เป็นอะไรแกล้งทำเป็นไข้
- "ทำเลศนัย" เช่น ทำกลอุบายหลอกหลวง หรือล่อให้เขาตายใจให้เชื่อผิด ๆ หรือทำแย้มพรายให้เขาคิดต่อไปผิดๆ
- "เสริมความ" คือขยายให้มากกว่าความเป็นจริง เช่นคนที่หนึ่งพูดเพียงว่า ไปเยี่ยมเพื่อนป่วย คนที่สองพูดต่อไปว่าเพื่อนคนนั้นป่วยมาก คนที่สามพูดต่อไปอีกว่า เพื่อนคนนั้นป่วยมีอาการร่อแร่
- "อำความ" คือพูดไม่หมด เว้นความบางตอนไว้เสียเพื่อปกปิด เช่นกลับบ้านผิดเวลาผู้ปกครองถามว่าไปไหนมา ก็ตอบว่าไปบ้านเพื่อน ไปบ้านเพื่อนจริงเหมือนกัน แต่ก็ได้พากันไปเที่ยวที่อื่นอีกด้วย

เพราะศีลข้อนี้ประสงค์ให้รักษาประโยชน์ของกันและกันด้วยความจริง "คือมุ่งหมายให้ไม่เบียดเบียนกันด้วยวาจา" อาศัยความมุ่งหมายดังกล่าว เมื่อพูดทำลายประโยชน์ของกันและกัน เช่น "พูดถึงด้วยเจตนาร้าย เป็นการทับถม ส่อเสียดนินทาว่าร้าย เพื่อกดให้เขาเลวลงบ้าง ยกตนขึ้นบ้าง" ถึงจะเป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นการผิด เพราะผิดความมุ่งหมายของศีลที่บัญญัติขึ้น

มีกล่าวไว้ว่า "พระพุทธเจ้าเองตรัสวาจาที่จริงและมีประโยชน์ ทั้งถูกเหมาะแก่การเวลา" และนอกจากที่ทรงบัญญัติศีล ให้เว้นจากพูดมุสาแล้ว "ยังตรัสให้เว้นการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ด้วย"

มุสาวาททุกวิธีที่กล่าวนี้ "มีโทษน้อย ปานกลางหรือมาก" ตามระดับแห่งเรื่องที่มุสาจะก่อให้เกิดขึ้นได้เพียงไรและเจตนา(ความจงใจ) แรงเท่าไร กิริยาที่ประกอบมุสาวาท ใช้พยายามเท่าไร เวรมณี คือความเว้นจากมุสาทุกอย่าง เป็นศีลข้อ ๔ นี้

- ถ้าเว้นด้วยตั้งใจรับศีลไว้ก่อนเป็น "สมาทานวิรัติ"
- ถ้าเว้นด้วยตั้งใจขึ้นเดี๋ยวนั้นเอง ในขณะที่พบโอกาสจะพูดเท็จได้ เป็น "สัมปัตตวิรัติ"
- ถ้าเว้นได้จนเป็นปกตินิสัยจริงๆ ก็เป็น "สมุจเฉทวิรัติ"

เมื่อรับศีลข้อนี้ไว้แล้ว "ทำอย่างไรศีลจึงจะขาด" ให้กำหนดมองดูลักษณะดังนี้ คือ

"จิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริงทั้งรู้อยู่" มีความพยายามจากจิตนั้น และคนอื่นรู้เข้าใจความ เช่นพูดกันด้วยภาษาไทยแก่คนที่รู้ภาษาไทย เขาฟังออกว่าพูดอย่างไร "หรือใช้กิริยาสั่นศรีษะ" เขาเห็นแล้วเข้าใจความประสงค์ว่าปฏิเสธ "ใช้กิริยาพยักหน้าเขาก็เข้าใจว่ารับรอง" ถ้าคนอื่นไม่รู้เข้าใจความหมาย เหมือนอย่างพูดปดด้วยภาษาไทย แก่คนไม่รู้ภาษาไทย เขาฟังไม่รู้ว่าอะไร ศีลก็ยังไม่ขาด

ผู้ที่ตั้งใจรักษาศีลข้อนี้ "ควรเว้นจากมุสาวาทโดยตรง" ดังเช่นที่กล่าวแล้ว "ควรเว้นจากมุสาวาทโดยทางอ้อมด้วย" เช่น "พูดส่อเสียด พูดเสียดแทง ประชดหรือด่า พูดสับปรับ เหลวไหล เมื่อทำสัญญากันไว้แล้วก็รักษาสัญญา ไม่บิดพลิ้วทำให้ผิดสัญญา"

เมื่อให้สัตย์แก่กันไว้แล้วก็รักษาสัตย์ "ไม่กลับสัตย์หรือเสียสัตย์" เมื่อรับคำแล้วไม่คืนคำ รวมความว่า "ให้รักษาสัจวาจา" คือ "ให้พูดจริงและให้ทำจริงดังพูด" การพูดจริงนั้นง่ายกว่าพูดเท็จ เพราะไม่ต้องคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงเรื่อง พูดตรงไปตามเรื่องเท่านั้น

"แต่การพูดเท็จต้องคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงยากที่จะโกหกได้สนิท มักมีพิรุธให้จับได้ไม่ช้าก็เร็ว" แต่การทำจริงดังพูดอาจยากสำหรับคนที่ชอบพูดอะไรพล่อย ๆ แต่ไม่ยากสำหรับคนที่ตริตรองแล้วจึงพูด ใครก็ตามจะรักษาสัจวาจาได้ต้องมีธรรมที่คู่กับศีลข้อนี้ในจิตใจ คือความมีสัตย์

"ธรรมที่คู่กับศีลข้อ ๔ คือ ความมีสัตย์" ได้แก่มีความจริง ความตรง คนที่มีความจริง จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ย่อมเป็นคนซื่อตรงต่อมิตรสหาย สวามิถักดิ์คือจงรักภักดีในเจ้าของตน "มีความกตัญญูกตเวทีในท่านผู้มีพระคุณ มีความยุติธรรมหรือเที่ยงธรรม" รู้จักผิดรู้จักถูกและว่าไปตามผิดตามถูกในบุคคลในเรื่องทั่วไป กล่าวโดยเฉพาะ ก็เป็นคนมีวาจาสัตย์ พูดป็นที่เชื่อถือได้

"ศีลคือมุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการกล่าวเท็จ) และธรรมคือความมีสัตย์นี้ จำเป็นแก่สังคมมนุษย์ทุกสังคม" เป็นต้นว่าในระหว่างเพื่อน ในระหว่างสามีภรรยาหรือครอบครัว ขึ้นไปจนถึงในระหว่างประเทศ เมื่อต่างมีศีลและธรรมคู่นี้ จึงอยู่ด้วยกันเป็นปกติเรียบร้อย เชื่อถือกันได้ ไว้ว่างใจกันได้

ผู้ปกครองประชาชนตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันนี้ "เมื่อรักษาศีลและธรรมคู่นี้อยู่ เป็นที่เชื่อถือทั้งในประเทศและทั้งต่างประเทศ" คือ ภายในประเทศ ก็ไม่หลอกหลวงประชาชน รักษาสัตย์ต่อประชาชน สำหรับที่เกี่ยวกับต่างประเทศ ก็รักษาสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน เป็นต้น

"พระมหากษัตริย์ตั้งแต่โบราณกาลมา ปรากฏในเรื่องต่าง ๆ ว่าได้ทรงรัษาวาจาสัตย์อย่างกวดขัน" บางพระองค็แม้จะรับสั่งพลั้งพระโอษฐ์ออกไปก็ไม่ทรงคืนคำ ด้วยทรงถือเป็นพระราชธรรมว่า "เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ" .. "

"มนุษยธรรม"
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
 

4,296







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย