การรักษาศีล

 alfred   27 ก.ย. 2560


รักษาศีลข้อที่ ๑ คือข้อปาณาฯ
การรักษาศีลข้อนี้คือห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย การฆ่าสัตว์ทำให้ศีลขาดนั้นมีองค์ประกอบ ๕ อย่าง ดังนี้ ๑. สัตว์นั้นมีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. มีความตั้งใจที่จะฆ่า ๔. มีความพยายามที่จะฆ่า ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น เมื่อครบด้วยองค์ ๕ นี้ศีลจึงขาด แต่ถ้า ๑ - ๔ ศีลยังไม่ขาด แต่มีความเศร้าหมองไม่สมบูรณ์ การฆ่าสัตว์นั้นทำให้ศีลขาดเท่ากัน แต่บาปกรรมนั้นไม่เท่ากัน สมมุติว่าฆ่าสัตว์ตัวที่มีบุญคุณแก่เรา มีส่วยช่วยเหลือช่วยงานแก่เรา ทำประโยชน์ให้แก่เรา เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า เป็นต้น ถ้าฆ่าธรรมดาก็มีบาปมากอยู่แล้ว ถ้าฆ่าด้วยความโกรธก็จะได้รับผลของบาปมากขึ้นเท่าตัว แต่ถ้าสัตว์ตัวที่ถูกฆ่านั้นเป็นพระโพธิสัตว์ลงมาใช้ชาติ ก็จะได้รับผลของบาปนั้น ๑๐ เท่าทีเดียว เมื่อตายไปก็จะได้ลงไปสู่นรกทันที จะได้รับกรรมถูกไฟนรกแผดเผาให้เกิดความทุกข์ทรมานยาวนานทีเดียว เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็จะได้มาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ให้เขาฆ่ามาเป็นอาหารหลายร้ายชาติ ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีวิบากกรรมติดตามมาสนองได้อีก เช่นทำให้อวัยวะไม่สมประกอบ จะทำให้ตาบอด หูหนวก ง่อยเปลี้ยเสียขา แขนหัก ขาขาด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามร่างกาย หาความสุขไม่ได้เลย หรือเป็นโรคนานาชนิด ทำให้ชีวิตทนทุกข์ทรมาน หรือเกิดมาแล้วมีอายุสั้นพลันตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ นี้คือผลกรรมที่ตามสนอง ถ้าฆ่าสัตว์อื่นที่ไม่มีบุญคุณแก่เรา ถ้าฆ่ามากไปก็ตกนรกได้ เมื่อพ้นจากนรกแล้วจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ทำให้ชีวิตหาความสุขไม่ได้ อายุยังไม่ถึงกาลเวลาของอายุขัยก็ตายไปเสีย ถ้าฆ่าสัตว์เล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดมาในชาติหน้าผลของบาปกรรมนั้นจะทำให้ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณหยาบกร้านมีโรคผิดหนังประจำตัว มีการเจ็บป่วยเมื่อยตัวเป็นประจำ ดังที่ได้อธิบายมานี้เป็นผลบาปกรรมในการฆ่าสัตว์นั่นเอง
การใช้ปัญญาพิจารณาในผลของบาปกรรมที่ผิดศีลข้อ ๑ นี้ ก็เพื่อให้เข้าใจในผลของกรรมที่ตามสนองให้ได้เกิดความกลัวในบาปกรรมนั้น ๆ ให้เกิดความสำนึกในชีวิตเขาและชีวิตเรา ที่มีความรักความหวงแหนในชีวิตเหมือนกับเรา สัตว์ทุกตัวตลอดเราด้วยก็ไม่อยากตายเพราะถูกฆ่าเหมือนกัน ฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะอ้างว่า สัตว์เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ แต่ถ้าจับตัวมนุษย์ที่ชอบพูดอย่างนี้ไปให้เสือกินไปให้จระเข้กินดูซิเขาจะว่าอย่างไร สัตว์ทุกตัวมีความกลัวต่อความตายทั้งนั้น เห็นมนุษย์อยู่ที่ไหนก็ต้องหลบหลีกปลีกตัวเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตของเขา ถึงขนาดนั้นก็พ้นเงื้อมมือมนุษย์ใจบาปนี้ไปไม่ได้ พากันตามไล่ตามฆ่าเอามาเป็นอาหาร ไม่มีความเมตตาสงสารเขาบ้างเลย แต่ละวันมีความสะดุ้งหวาดผวากลัวต่อความตายอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะออกหากินอะไรได้ตามใจ ถ้าเราตกอยู่ในสภาพอย่างนี้จะมีความทนทุกข์ทรมานขนาดไหน ถึงอย่างไรก็ขอให้คิดถึงชีวิตเขาชีวิตเราดูบ้าง หัวอกเขาอย่างไรหัวอกเราก็เป็นอย่างนั้น ไม่ควรเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ให้ถือว่าเขาเป็นญาติเป็นเพื่อนที่เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันกับเรา มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง แต่ขอให้สูงด้วยความรัก ให้สูงด้วยความสงสารต่อสัตว์ทั้งหลาย จึงจะชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม ให้สัตว์อื่นได้พึ่งบารมีสมกับที่ว่ามนุษย์มีจิตใจสูงนี้ด้วยเถิด ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาในลักษณะนี้อยู่บ่อย ๆ ใจเราก็จะค่อยเปลี่ยนแปลงไปในทางดี จะมีความเมตตาต่อสัตว์ มีความสงสารสัตว์มากขึ้น ในที่สุดเราก็จะไม่กล้าฆ่าสัตว์อีกเลย นี่คือมีปัญญาในการรักษาศีล หรือศีลเกิดขึ้นจากปัญญาก็ว่าได้ ถ้ารับศีลมาแล้ว แต่ขาดปัญญาในการรักษา ศีลนั้นจะขาดหายไปโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น สุตมยปัญญาและจินตมยปัญญา ต้องเกิดมาก่อนศีลแน่นอน นี้คือสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาความเห็นชอบในการรักษาศีลนั้นเอง

รักษาศีลข้อ ๒ คือ อะทินนาฯ
ศีลข้อนี้ก็เกิดขึ้นจากปัญญาเช่นกัน จงใช้ปัญญาพิจารณาอยู่บ่อย ๆ ว่า สิ่งของของคนอื่นเขาได้มาด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินด้วยแรงงานด้วยหยาดเหงื่อของเขาเอง หวังว่าจะได้อาศัยปัจจัยเหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป มีความรักทะนุถนอมดูแลเพื่อหวังความสุขในทรัพย์สินเหล่านั้น ถ้าเราไปลักไปปล้นเอาสิ่งของจากเขามาแล้ว เขาก็จะมีความเสียดาย คิดถึงสิ่งของของเขามาแล้ว เขาก็จะมีความเสียดาย คิดถึงสิ่งของของเขามากทีเดียว สมมุติว่ามีคนใดมาลักมาปล้นเอาสิ่งของของเราไป เราก็จะมีความเสียดายและคิดถึงเช่นกัน ให้คิดถึงหัวอกเขาหัวอกเราดูบ้าง เพราะของทุกอย่างใคร ๆ ก็มีความหวงแหนด้วยกันทั้งนั้น ไม่อยากให้คนใดมาลักเอาทรัพย์สินจากตัวเราไป เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราก็จะไม่กล้าไปลักเอาสิ่งของของผู้ใดทั้งสิ้น ศีลข้อนี้ก็จะอยู่เป็นคู่ของกายของใจเราตลอดไป นี้คือผู้มีปัญญาฉลาดในการรักษาศีล
ต้องใช้ปัญญาอบรมใจตัวเอง และสอนใจตัวเองอยู่เสมอ ให้คิดถึงบาปกรรม ที่จะตามสนองในชาติหน้าว่า จะเกิดในสถานที่ทุกข์จนขาดแคลนมาก ความสะดวกความสบายในทรัพย์ไม่มีเลย ตลอดที่อยู่อาศัยบ้านเรือน ที่จะซุกหัวนอนก็ไม่มี อาหารการกินสิ่งที่ดี ๆ มีโอชารสจะไม่ได้กินเลย มีแต่ไปหาเก็บเอาอาหารในถึงขยะกินไปพอประทังชีวิตเท่านั้น จะหางานหาเงินพอจะเป็นไปได้ก็ไม่ได้ พอจะก็มีไม่มี เหมือนคำว่า นกคาบมา อีกาคาบหนี ถึงจะมีทรัพย์สินอยู่บ้างแต่ก็จะถูกคนมาลักคนมาปล้นจากตัวเราไป หรือเกิดความฉิบหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็ผลของกรรมในการลักเอาสิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตน ให้เราพิจารณาในลักษณะนี้อยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อยเห็นโทษภัยที่จะมาถึงตนทีหลัง ใจก็จะเกิดความละอายและเกิดความกลัวต่อกรรมชั่วมากขึ้น นี้เรียกว่าตนเตือนตนด้วยตนเอง ฉะนั้นผู้รักษาศีลก็ต้องมีปัญญาในการรักษาดังนี้

ศีลข้อ ๓ คือข้อกาเมฯ

ศีลข้อนี้ก็ต้องมีปัญญารักษาเช่นกันใช้ปัญญาพิจารณาว่าเราเป็นมนุษย์ รู้จักความละอายในการกระทำของตนเอง ไม่ควรประพฤติตัวเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เพราะสัตว์ดิรัจฉานไม่มีปัญญาไม่มีความละอายในความประพฤติ เขาจึงทำกันไปแบบภาษาสัตว์ ใครเป็นพ่อใครเป็นแม่ใครเป็นลูกเขาไม่ถือกัน จะล่วงเกินเมียใครลูกใครเขาก็ไม่ละอาย เขาไม่รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร นี่เราเป็นมนุษย์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีสติมีปัญญาที่ดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ จึงไม่ควรฝึกตัวเอาแบบอย่างของสัตว์ดิรัจฉาน ความพอดีของมนุษย์คือผัวเดียวเมียเดียวก็พอแล้ว ถ้ามาฝึกตัวเหมือนสัตว์ เกิดชาติหน้าก็จะได้ไปเกิดเป็นสัตว์อีกต่อไป ดังภาษิตว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน ถึงร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตายไปก็จะได้ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานต่อไป เมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์วิบากกรรมก็ยังตามมา กรรมจะบันดาลให้ได้แต่คนนอกใจ ถ้ามีสามี สามีก็จะนอกใจ ถ้ามีภรรยา ภรรยาก็จะนอกใจ ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน เผลอเมื่อไร เป็นอันเกิดเรื่องทันที ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ จะไม่มีความสุขในครอบครัวนั้นเลย มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งตีกันฆ่ากันเดือดร้อนวุ่นวายกันไปหมด นี้คือบาปกรรมตามสนองผู้ชอบล่วงละเมิดศีลข้อกาเมฯ ฉะนั้นเราเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงมีสติปัญญาที่ดี ก็ให้มีศีลข้อนี้ประดับใจประดับกาย ใช้เป็นอุบายสอนใจอยู่เสมอ ๆ อีกสักวันหนึ่งใจก็จะเกิดความสำนึกตัวมีความละอายในการกระทำในสิ่งที่ผิดจากจารีตประเพณี นี้คือรักษาศีลด้วยปัญญา ถ้าปัญญาได้อบรมสอนใจตัวเองอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ ผู้นั้นจะไม่ผิดศีลข้อกาเมฯ นี้อย่างแน่นอน

ศีลข้อที่ ๔ คือข้อมุสาฯ

ศีลข้อนี้จะขาดไปเพราะคำพูด ฉะนั้นก่อนจะพูดต้องตรึกตรองใคร่ครวญในคำพูดให้ดีเสียก่อนจึงพูดออกไป ว่าการพูดในประโยคนี้จะเกิดความเสียหายกับตัวเองและคนอื่นหรือไม่ ถ้าเราพูดความไม่จริงออกไปจะเกิดความรู้สึกแก่ผู้รับฟังอย่างไร หรือเราได้รับฟังคำพูดไม่จริงจากคนอื่น ในความรู้สึกของเราก็จะขาดความเชื่อถือจากคนนั้นทันที หรือพูดส่อเสียดเบียดบังเปรียบเปรยในลักษณะเสียดแทงให้คนอื่นไม่สบายใจ การพูดออกไปอย่างนี้จะก่อให้เกิดความแตกแยกกัน สมมุติว่าแต่ก่อนมามีความรักกันมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เหมือนกับว่าฝากเป็นฝากตายกันได้ มีความเคารพเชื่อถือกันมาตลอด ไปไหนไปด้วยกันอยู่ด้วยกัน ความรักสมัครสมานสามัคคีมีต่อกันอย่างมั่นคง เป็นเพื่อนสนิทมิตรที่รักต่อกันมาแล้วตาม เมื่อได้รับฟังคำพูดที่ไม่จริง หรือเป็นคำพูดส่อเสียดเปรียบเปรยไปในทางทีเสียหาย ความรักกันความไว้ใจกันที่เคยมีมาทั้งหมดนั้นก็พังทลายลงทันที ความสามัคคีที่เคยมีต่อกันมาก็แตกแยกกัน แต่ก่อนเคยแสดงกิริยาในความรักความเคารพต่อกัน และมีความเชื่อถือต่อกันมายาวนานก็ตาม ความรู้สึกทั้งหมดนี้ก็หมดสภาพไป ถึงจะมีภาระหน้าที่พูดคุยกันก็ไม่สนิทสนมกันเหมือนที่เคยเป็นมา ถึงจะมีกิริยาออกมาในทางที่ดีต่อกันอยู่ก็ตาม ส่วนตัว อกิริยา ที่เจ็บใจฝังลึก ๆ ในความรู้สึกนั้นยังมีอยู่ อีกสักวันหนึ่งก็จะหาช่องทางระบายอารมณ์แห่งความแค้นนี้ออกไปให้ได้ จะเพ่งเล็งหาจุดอ่อนซึ่งกันและกันออกมาตอบโต้กัน ถ้าพูดต่อหน้าไม่ได้ก็ต้องพูดลับหลัง อาศัยคนใดคนหนึ่งเป็นสุขภัณฑ์เป็นผู้รับถ่ายเท ระบายความในในที่ไม่พอใจกับคนคนนั้น ด้วยวิธีใดก็จะระบายออกมาอย่างเต็มที่ นี้เรียกว่าพูดโจมตีกันลับหลัง หรือกล่าวคำนินทาว่าร้ายออกมาให้สนใจ เมื่อเริ่มต้นเป็นมาอย่างนี้ ต่อไปนี้จะเกิดความอิจฉาตาร้อนต่อกัน หาคำพูดที่จะเอาชนะกันด้วยวิธีต่าง ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นพยาบาทอาฆาตจองเวรต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ศีลข้อที่ ๕ คือข้อสุราฯ

ศีลข้อนี้ก็มีความสำคัญอยู่มากทีเดียว จึงได้บัญญัติเอาไว้ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นทีหลัง เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ยาม้า เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ใจเกิดความลืมตัว กล้าทำกล้าพูดในสิ่งที่ไม่ควรทำควรพูด ถ้าเมาลงไปเมื่อไรจะไม่คิดถึงในคุณธรรมที่ดีงาม จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดโกหกมดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเหลวไหลไม่มีสาระ หมดความละอาย จะทำจะพูดอะไรไม่มีความสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบในการทำการพูดของตนเอง ตามปกติแล้วมนุษย์เรามีนิสัยบ้าบอคอแตกอยู่ในตัวอยู่แล้ว เมื่อได้เสพสิ่งที่ว่ามาผสมลงไป ใจก็จะเกิดเป็นบ้าเพิ่มขึ้นหลายท่า มีกิริยาทางกาย กิริยาทางวาจา ที่แสดงออกมานั้นไม่น่าดูไม่น่าฟัง ดังเห็นกันอยู่ในที่ทั่วไป ย่อมก่อเหตุก่อภัยขึ้นมานานาประการ เกิดความเสียหายให้แก่ตัวเองและคนอื่นเป็นอย่างมาก จะเป็นผู้นำในครอบครัวหรือเป็นผู้นำในการบริหารงานต่าง ๆ ไม่ได้เลย พวกขี้เมาทั้งหลายนี้จะพัฒนาในสิ่งใดให้ดีขึ้นไม่ได้เลย มีแต่จะก่อให้เกิดความหายนะล้มเหลวล่มจม เสียหายในทรัพย์สินเงินทอง ไม่รู้จักในการเก็บรักษาและไม่รู้จักหาสมบัติเข้ามาเพิ่มเติม มีแต่จ่ายให้หมดไป ไม่รู้อนาคตของตนเองว่าจะเป็นไปอย่างไร การกระทำของคนประเภทนี้ นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายไม่มีความสรรเสริญอีกต่อไป ในชาติหน้าเขาก็จะได้รับกรรมชั่วอย่างแน่นอน
เมื่อคนประเภทนี้ตายไปย่อมลงสู่อบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์วิบากกรรมย่อมตามมาให้ผล เช่นเป็นคนที่เสียจริตผิดมนุษย์ธรรมดา ที่เรียกว่าคนไม่เต็มบาทนั่นเอง คนประเภทนี้จะเห็นกันอยู่ทั่วไป คนพวกนี้หารู้ตัวไม่ว่าแต่ก่อนได้ทำกรรมอะไรมา ไม่รู้ตัวเลยเพราะกรรมมาปิดบังเอาไว้ เมื่อใครไม่อยากเป็นคนประเภทนี้ในชาติหน้า ในชาตินี้ก็อย่ากินเหล้าเมายาดังที่ได้อธิบายมาแล้ว หรือเคยกินอยู่แล้วก็ขอให้ลดน้อยลง ๆ จนน้อยที่สุด และจะไม่กินต่อไปจนตลอดวันตาย ถ้าคิดไว้อย่างนี้ ก็เริ่มจะเป็นคนดีได้บ้าง ถ้าไม่กินจริง ๆ ก็จะเป็นคนดีมีคุณค่าแก่ตัวเอง

ดังที่ได้อธิบายวิธีในการรักษาศีล ๕ มานี้เป็นเพียงหลักการเท่านั้น ส่วนวิธีการและระเบียบในการรักษาศีลนั้นเราจะตั้งขึ้นมาเอง ตามปกติแล้วการจะรักษาศีล ๕ ให้มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์พร้อมกันทั้ง ๕ ข้อนั้นรักษาได้ยากมาก เพราะสติปัญญาศรัทธาความเพียรเรายังไม่พร้อม การรักษาศีลกับการรับศีลนั้นต่างกัน การรับศีลนั้นรับเอาเวลาไหนก็ได้ แต่ถ้ารับไปแล้วไม่รักษาจะหาคุณค่าจากศีลได้อย่างไร จะรับศีลวันหนึ่งหลาย ๆ ครั้งย่อมทำได้แต่ก็เป็นพิธีรับศีลเท่านั้นเอง ส่วนการรักษาศีลนั้นต้องมี สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรให้พร้อม เริ่มต้นจะรักษาศีลสัก ๑ - ๒ ข้อก็ได้ เพื่อฝึกความพร้อมของตัวเองให้มีความกล้าหาญขึ้น จะรักษาศีลข้อใดข้อหนึ่งก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นจะรักษาเรียงตามตำรา ศีลข้อไหนที่จะรักษาได้ง่ายที่สุดก็ต้องรักษาข้อนั้น จะทิ้งช่วงในการรักษาห่างกันอย่างไร ก็ให้อยู่กับความสามารถของตัวเราเอง ต่อไปจะเพิ่มการรักษาข้อไหน ก็ให้เราเลือกเอง ใช้เวลาไม่นานนักเราก็จะมีศีล ๕ ได้อย่างสมบูรณ์ การรักษาศีลด้วยวิธีนี้จะไม่มีการเสื่อม และศีลก็ไม่ขาดด้วย เพราะมีสติปัญญาในการรักษา มีศรัทธาความเชื่อมั่นว่า กรรมชั่วย่อมเกิดขึ้นจากผู้ไม่มีศีล ความเพียรพยายามจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ก็เพียรพยายามอยู่เสมอ ดังคำว่าความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น นี้เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับศีล ๕ นั่นเอง


ศีล ๘ มีความแตกต่างกันดังนี้ สำหรับศีลข้อกาเมฯ ในศีล ๕ นั้น ศีล ๘ ให้เปลี่ยนเป็นอพรหมจริยาฯ ศีลข้อนี้ไม่เหมือนศีลข้อกาเมฯ เพราะศีลข้อกาเมฯ ร่วมกันได้เฉพาะคู่สามีภรรยาของตัวเอง ส่วนศีลข้ออพรหมจริยานั้นร่วมไม่ได้เลย ถ้าร่วมศีลก็ต้องขาดไป บางแห่งห้ามผู้หญิงและผู้ชายยื่นสิ่งของให้กัน ถ้ายื่นสิ่งของต่อมือกันถือว่าศีลขาด บางแห่งก็ว่ายื่นสิ่งของต่อมือกันได้ศีลไม่ขาด เพราะไม่ได้ร่วมกัน ศีลข้อนี้ห้ามร่วมกันเท่านั้น ทั้งสองอย่างนี้จะปฏิบัติต่อศีลข้อนี้อย่างไร ให้พิจารณาด้วยความเหมาะสมก็แล้วกัน ข้อสำคัญอย่าได้เกิดสีลพตปรามาสความลูบคลำความสงสัยในศีลของตน เมื่อความสงสัยเกิดขึ้นเมื่อไร ความเศร้าหมองของใจย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น หรือทำให้ศีลขาดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั่นเอง

ศีลข้อที่ ๖ วิกาลโภชนาฯ

ห้ามรับประทานอาหาร หรือสิ่งของที่จะแทนอาหารได้นับแต่ตะวันบ่ายไปแล้ว ขณะนี้ยังมีผู้ไม่เข้าใจในศีลข้อนี้เป็นจำนวนมาก คำว่าอาหารก็คืออาหารที่เรารับประทานกันตามปกตินั้นเอง จะรับประทานได้แต่เช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ถ้าตะวันบ่ายแล้วรับประทาน ศีลข้อนี้ขาดไป คำว่าอาหารรวมทั้งอาหารเสริมด้วย เช่น โอวัลติน นมสด นมส้ม นมกล่อง นมกระป๋อง ที่เขาผสมแป้งมันถั่วต่าง ๆ ไว้แล้ว ตลอดทั้งน้ำเต้าหู้ที่ผสมถั่วต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ถ้ารับประทานในตะวันบ่ายเมื่อไร ศีลจะขาดทันที เพราะเป็นอาหารเสริมสำเร็จ จึงไม่ควรรับประทานสิ่งเหล่านี้

ศีลข้อที่ ๗ นัจจคีตวาฑิตะ - มาลาฯ

ตามปกติแล้วเป็นศีลคนละข้อกัน แต่นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายพิจารณาเห็นสมควรเอามารวมกัน วิธีรักษาก็ใกล้เคียงกัน การรักษาศีลข้อนัจจคีตวาฑิตะฯ นั้นห้ามมีการเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน ให้เกิดความสนุกสนานร่าเริงอันเป็นเหตุเกิดความลืมตัว เช่น ร้อง รำ ทำเพลง ดีด สี ตี เป่า เป็นต้น คำว่า ร้อง คือตะโกนเสียงยาว ๆ ทำเป็นเสียงเล็กเสียงใหญ่ เรียกว่าร้องโห่ คำว่า รำ คือ เต้นรำในท่าต่าง ๆ หรือรำเป็นบทเป็นกลอน เพื่อความสนุกเพลิดเพลินหรือเรียกว่าหมอลำ คำว่า ทำเพลง คือร้องเพลงในบทเพลงต่าง ๆ ที่เห็นกันในที่ทั่วไป คำว่า ดีด คือดีดพิณหรือกีตาร์ คำว่า สี คือสีซอ คำว่า ตำ คือ ตำฆ้อง ตีกลอง ตีระนาคฆ้องวง เป็นต้น คำว่า เป่า คือ เป่าขลุ่ย เป่าแคน เป่าปี่ หรือเป่าอะไรก็ตาม ถ้าเพื่อความเพลิดเพลินไม่ได้เลย ข้อห้ามในศีลข้อนี้ คือห้ามทำอะไรเป็นสื่อเพื่อความสนุกรื่นเริงนั่นเอง

บทข้อ มาลาคันธวิเลปนะฯ

การรักษาศีลในบทนี้ คือห้ามแต่งตัวประดับประดา ทัดดอกไม้ ทาหน้า เจิมหน้าในลักษณะต่าง ๆ อันเป็นสิ่งจะก่อให้เกิดความรักสวยรักงาม และหลงตัวเองว่าเราสวยอย่างนี้ เรามีความงามอย่างนั้นไป และจะก่อให้เกิดความหลงรูปกายของตัวเอง และจะทำให้ไปหลงรูปกายของคนอื่นด้วย แต่ถ้าหากมีกิจในสังคม ที่จะต้องไปร่วมกับเขา ก็ให้รู้ว่า ปริสัญญู ในสังคมเขาแต่งตัวอย่างไร เราก็แต่งตัวไปตามนั้น เราไม่ได้ติดใจในการแต่งตัวของเรา แต่เราทำเพื่อสังคมบางครั้งบางคราวเท่านั้น การทำลักษณะอย่างนี้ศีลไม่ขาด

ศีลข้อที่ ๘ อุจจาสยนะฯ

ในศีลข้อนี้ ห้ามนั่งนอนในที่สูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี ศีลข้อนี้เดิมเป็นศีลของสามเณรและสามเณรี เมื่อมาถึงในยุคนี้ไม่มีสามเณรี (หมายถึงผู้หญิงบวชรักษาศีล ๑๐) แต่มีผู้หญิงต้องการจะออกบวช นักปราชญ์เจ้าทั้งหลายเห็นสมควรให้รักษาเพียงศีล ๘ เท่านั้นและสมควรว่าศีลข้ออุจจาสยนะฯ นี้ให้รวมอยู่กับศีล ๘ ด้วย ในคำว่าห้ามนั่งนอนในอาสนะใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลีนั้น มีคำถามว่า ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่ก็ตาม แต่ภายในยัดด้วยของอย่างอื่น เช่นใบไม้ เศษผ้า ฟองน้ำ เหล่านี้จะนั่งนอนได้ไหม ข้าพเจ้าก็จะตอบว่าได้ เพราะภายในไม่ได้ยัดนุ่นและสำลี จะยัดด้วยอย่างอื่นไม่เป็นไร ให้ข้อสังเกตว่า ทำไมจึงห้ามอย่างนี้ จะตีความหมายไว้ ๓ ประเด็น ๑. จะทำให้ติดที่นอนมากเกินไปจนลืมตัวลืมเวลาในการภาวนาปฏิบัติ เพราะที่นอนอ่อนนุ่มอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวไม่อยากจะลุกขึ้นปฏิบัติภาวนา นี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งในศีลข้อนี้ ๒. เป็นเพราะที่นั่งที่นอนดีเกินไป และเป็นสิ่งที่หายากมากในยุคนั้น แต่ถ้ามีแล้วจะทำให้ติดในที่นอนนั้น จะออกไปเที่ยวธุดงค์ภาวนาปฏิบัติในที่ต่าง ๆ ก็จะเกิดความกังวลในใจเรื่องสถานที่หลับนอน กลัวจะนั่งไม่เป็นสุข นอนไม่สบาย จึงได้ห้ามนั่งนอนในอาสนะที่ยัดด้วยนุ่นและสำลี นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งในการห้ามในศีลข้อนี้ ๓. เมื่อติดใจในการนั่งนอนอย่างนี้ ก็จะเกิดลืมตัวไปได้ ก็จะแสวงหานุ่นและสำลีมาทำเป็นที่นอนเป็นการใหญ่จนเกิดติดใจจนลืมตัว ในช่วงนั้นถ้าหากใจมีความกำเริบในเรื่องราคะตัณหาเกิดขึ้น ก็จะเอาที่นอนเป็นนิมิตหมาย สมมุติไปในเรื่องอารมณ์ที่มีความกำหนัด อยากจะสัมผัสนั่นสัมผัสนี่ไป และสมมุติไปต่าง ๆ นานานอกขอบเขต ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้รีบสิกขาลาเพศไปเสีย การเป็นไปในลักษณะนี้ย่อมเป็นไปได้ ถ้าสติปัญญาไม่ดีก็จะเพิ่มปัญหากับสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นการสัมผัสทางกายในลักษณะนี้ก็มีผลสะท้อนเข้าถึงใจได้ การห้ามในศีลข้อนี้ก็เพื่อตัดกระแสไฟแห่งราคะแต่ต้นมือนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน
ดังได้อธิบายวิธีการรักษาศีลมาในหมวดศีล ๕ และ ศีล ๘ นี้คิดว่านักปฏิบัติทั้งหลายพอจะเข้าใจ ถ้าเป็นศีล ๒๒๗ ของพระก็ต้องศึกษาวินัยให้เข้าใจ คำว่าศึกษาก็หมายถึงสุตมยปัญญา คือปัญญาในขั้นศึกษาตามปริยัตินั่นเอง ถ้าไม่มีปัญญาในการศึกษาจะเข้าใจในอาบัติได้อย่างไร อาบัติหนัก เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระทันที ไม่มีกฎหมายรองรับสู้คดีเหมือนในยุคนี้ เพราะรู้อยู่แก่ใจตัวเอง อีกอาบัติหนึ่งอยู่ปริวาสกรรมจึงพ้นจากอาบัติได้ อาบัติอีกอย่างหนึ่ง ต้องแสดงอาบัติ คือประจานตัวเองรับสารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์หรือบุคคล จึงพ้นจากอาบัติได้ ฉะนั้นการรักษาศีลจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็ตาม ก็ต้องมีสติปัญญาในการรักษาทั้งนั้น แม้แต่ทรัพย์สมบัติทางโลกก็ต้องมีปัญญาในการแสวงหา และมีปัญญาในการเก็บรักษาด้วย ศีลก็เช่นกัน เมื่อรับจากพระท่านมาแล้วก็ต้องมีปัญญาในการรักษาเช่นกัน
การรักษาศีลนั้นมิใช่ว่าจะรักษาเพียงกายและวาจาเท่านั้น เพราะต้นของศีลจริง ๆ แล้วอยู่ที่ใจ เรียกว่า เจตนา ส่วนรักษากายวาจานั้นเป็นเพียงให้เกิดกิริยาสวยงามให้เหมาะสมกับเพศที่แสดงออกมาภายนอกเท่านั้น ที่จริงแล้วศีลมีต้นเหตุอยู่ที่ใจ จึงเรียกว่า มูลฐานของศีลมี ๓ อย่าง ๑. ใจกับกาย ๒. ใจกับวาจา ๓. ใจ กาย วาจา ฉะนั้นใจจึงเป็น หลักใหญ่ให้ศีลเกิดขึ้น คำว่ารักษาศีลก็คือปัญญาความรอบรู้ในศีลของตนจึงจะรักษาได้ จึงเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาความเห็นชอบ ความรอบรู้และฉลาดในการรักษาศีล สัมมาสังกัปโป คือใช้ปัญญาดำริพิจารณาตรึกตรองในศีลข้อนั้น ๆ ว่าจะรักษาอย่างไรศีลจะมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ คำว่า ชอบคำเดียวนี้ก็มีความหมาย คือต้องมีปัญญาพิจารณาก่อนจึงพูด จึงเป็นวาจาชอบ มีปัญญาพิจารณาก่อนจึงทำงานนั้นจะไม่ผิดพลาด จึงเป็นการงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ คือ มีปัญญารอบรู้ในการเลี้ยงชีวิต จะหาอย่างไรจึงจะได้มาด้วยความชอบธรรมและเลี้ยงชีวิตอย่างชอบธรรม ฉะนั้น ปัญญาในสัมมาทิฏฐิจึงเป็นขั้นเริ่มต้นที่สำคัญ ถ้าเริ่มต้นถูกต้องชอบธรรมอันดับต่อไปก็จะถูกต้องชอบธรรม และจะเป็นแนวทางที่ชอบธรรมจนถึงที่สุด ถ้าเห็นผิดในขั้นเริ่มต้นนี้ ต่อไปก็จะเห็นผิดไปเรื่อย ๆ และเห็นผิดจนถึงที่สุดเช่นกัน ฉะนั้นการเรียนปริยัติ ต้องตีความหมายให้ชัดเจน ให้เข้าใจในเหตุผลและหลักความจริงอย่างแจ่มแจ้ง จึงจะไม่มีปัญหาในการภาวนาปฏิบัติต่อไป.







ที่มา : หนังสือสัมมาทิฏฐิ(หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ)

DT018126

alfred

27 ก.ย. 2560
 เปิดอ่านหน้านี้  3958 

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย