"เล่าเรื่องหลวงปู่แหวน" (สมเด็จพระญาณสังวร)

 วิริยะ12  

 "เล่าเรื่องหลวงปู่แหวน"

" .. อำนาจความรักอย่างใหญ่ยิ่ง จริงใจ ใสสะอาด เคยปรากฏงดงามแล้วแก่จิตใจ ที่เคยได้ฟังเล่าจากผู้ประสบผลงดงามอย่างชื่นใจที่สุดคือ "ญาติโยมผู้หนึ่งเคยได้ยินกิตติศัพท์มหัศจรรย์ของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่"

ที่เล่าขานกันว่า "นายทหารอากาศเคยเห็นท่านลอยอยู่บนฟ้า ขณะที่ขับเครื่องบินผ่านวัดดอยแม่ปั๋ง" ญาติโยมผู้นั้นตื่นเต้น อยากที่จะได้ไปกราบนมัสการท่านที่สุด เช่นเดียวกับผู้ที่ชอบอิทธิฤทธิ์ทั้งหลาย วันหนึ่งก็ได้ไปกราบหลวงปู่ท่านสมปรารถนา ช่วงนั้นท่านยังไม่ชรานัก ยังเดินเหินพูดจาปราศรัยได้สะดวกดีมาก

ญาติโยมผู้นั้นกลับมาเล่าอย่างชื่นอกชื่นใจว่า "หลวงปู่ท่าน น่ารักที่สุด ยิ้มก็น่ารัก เสียงก็น่ารัก โดยเฉพาะนัยน์ตาในแว่นสี่เหลี่ยมขาวใสของท่านทำให้ญาติโยมผู้นั้นเล่าว่ากลับมาได้ ๕-๖ วันก็ต้องเดินทางไปดอยแม่ปั๋งกันอีก"

ทั้งที่สมัยนั้นการเดินทางเข้าไปให้ถึงวัดดอยแม่ปั๋งไม่ได้สะดวกสบายเช่นทุกวันนี้ ต้องแล่นรถเลียบเหวไปอย่างที่ทำให้ผู้หญิงทั้งหลายตัวเกร็งไปตามกันด้วยความอดเสียวไส้ไม่ได้ แต่ก็เทียวไปเทียวมานับไม่ถ้วนในช่วงนั้น "มีเหตุผลอย่างเดียวคือคิดถึงนัยน์ตาหลวงปู่ท่าน คิดถึงเสียงที่น่ารักชอบกลของท่าน" รักท่านจนไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเดินทางที่นับว่าไกลมากบ่อย ๆ แรก ๆ ก็เล่าเช่นนี้ ต่อมาเล่าถึงจุดสำคัญที่สุดในการไปกราบหลวงปู่ท่านครั้งแรก นำมาเล่าไว้ใน แสงส่องใจ เล่มนี้

เพื่อประกอบเหตุผลที่กล่าวไว้ว่า "ความรักมีอิทธิพลมาก รักใครชอบใคร โดยเฉพาะยิ่งเป็นพิเศษจะยิ่งเชื่อไปเสียทุกอย่างที่ใครคนนั้นพูด ใครคนนั้นบอก หรือแม้กระทั่งใครคนนั้นยุ ความรักความชอบมีอิทธิพลทั้งทางดีและทางไม่ดี ถ้าเป็นทางดีก็แสดงว่า ผู้เป็นที่รักเป็นคนดี"

หลวงปู่แหวนนั้น เป็นที่กล่าวถึงกันแทบทุกคนที่ได้ไปกราบ หรือแทบทุกคนแม้ไม่เคยได้กราบองค์ท่านเลย "แต่แทบทุกคนก็พากันกล่าวถึงท่านอย่างมั่นใจ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแน่" ญาติโยมคนหนึ่งที่ไปกราบท่านนับครั้งนับหนไม่ถ้วน "ด้วยเหตุผลที่ว่าเจ้าตัวเล่าว่า คิดถึงนัยน์ตาหลังแว่นกระจกขาวใสสี่เหลี่ยมของท่าน"

เรียกภาษาพูดไปก็คือ "รักหลวงปู่ท่านมากเสียแล้ว เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนดี เป็นพระดี ดีจริง ๆ ด้วย ดีด้วยธัมมะ" จนดังกล่าวแล้วว่า "ผู้ที่รู้จักท่านหรือเพียงได้ยินชื่อเสียงท่าน ก็มั่นใจจริงจังว่า ท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแน่"

ความรักท่านจึงมีผลดีงามสถานเดียว "บรรดาผู้มีท่านเป็นที่รักมากมายทั้งหลายจึงปลอดภัย ทั้งยังจะได้รับความดีงามยิ่งด้วยคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่จากท่านได้อีกด้วย" คนดีให้ได้แต่ความดี ความมีคุณมีประโยชน์ ตรงกันข้ามกับคนไม่ดีแน่นอน

ใครทั้งหลายที่มีบุญได้พบหลวงปู่แหวนท่าน "ได้ฟังธัมมะจากท่าน คงจะไม่ปล่อยให้ธัมมะนั้นหายเงียบไปเฉย ๆ คงจะได้ประโยชน์เป็นคุณแก่จิตใจไม่มากก็น้อย" แต่สำหรับญาติโยมที่นำมากล่าวถึง ความเมตตาที่หลวงปู่ท่านให้นั้นใหญ่ยิ่งที่สุด เป็นธรรมสูงที่สุด เป็นคุณเป็นประโยชน์สูงสุด

ครั้งแรกที่ได้กราบหลวงปู่ท่าน ประโยคแรกที่ท่านพูดด้วยก็คือ "อตีตาธัมเมา อนาคตาก็ธัมเมา ปัจจุบันเท่านั้นธัมโม เอาละ พอ" คำว่า พอ ของท่านทำให้ท่านพูดเรื่องอื่นต่อไป โดยไม่เกี่ยวข้องกับธัมมะเลยในครั้งนั้น

รวมทั้งทุกครั้งต่อมาที่ไปกราบท่าน "ผู้ที่ท่านเจาะจงให้ธัมมะสำคัญ อตีตาธัเมา อนาคตาก็ธัมเมา ปัจจุบันเท่านั้นธัมโม พอ" ยังเล่าให้ผู้ที่ควรได้รับรู้ว่า เสียงของหลวงปู่มีอิทธิพลเหนือชีวิตจิตใจมากจริง ๆ เป็นคุณประโยชน์แก่จิตใจสูงสุดจริง ๆ "เพราะทุกครั้งเมื่อจะคิดไปถึงอดีตที่มีทั้งทุกข์มีทั้งสุข เสียงที่น่ารักที่สุดของหลวงปู่ นัยน์ตาที่น่ารักที่สุดของหลวงปู่ ก็จะปรากฏขึ้นในใจ หยุดความคิดถึงอดีตได้อย่างเฉียบขาด"

ตามมาด้วยความรู้สึกที่บอกตัวเองว่า "หลวงปู่ท่านห้าม ต้องเชื่อท่าน" จิตใจที่สงบสบายของญาติโยมผู้นั้น เจ้าตัวเล่าว่าส่วนหนึ่งเกิดแต่คำของหลวงปู่จริง ๆ ได้ผลชะงัดจริง ๆ "อดีตไม่ใช่ธัมมะ อนาคตก็ไม่ใช่ธัมมะ ปัจจุบันเท่านั้นธัมมะ" หรือ "อตีตาธัมเมา อนาคตาก็ธัมเมา ปัจจุบันเท่านั้นธัมโม"

ผู้ที่รักหลวงปู่ท่านและไม่เคยได้รับธัมมะนี้จากท่าน ก็ขอฝากไว้ "เพื่อให้ได้มีโอกาสดี ได้มีจิตที่สงบสบายไม่วุ่นวาย ที่เป็นยอดปรารถนาของทุกคนแน่นอน"

"คำทรงสองในสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความลุ่มลึกพ้นจะกล่าวให้ถูกต้องได้ง่าย ๆ มีความประณีตและลึกซึ้ง" ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใดได้ยินแล้วได้อ่านแล้ว จะสามารถเข้าใจได้ถูกต้องถ่องแท้เสมอไป จะเข้าใจพระธรรมคำทรงสอนแห่งองค์สมเด็จพระบรมครูได้ถูกต้อง

"ต้องรอบคอบในการคิดในการตีความ คนไม่ใช้ความรอบคอบในการคิดพิจารณาทุกข้อคำที่ทรงสอนไว้อย่างละเอียดประณีตลึกซึ้ง" ย่อมยากจะได้ความรู้ถูกที่ล้ำลึกและงดงาม เพราะแต่ละข้อคำที่ทรงสอน "ผู้ไม่รอบคอบละเอียดเฉียบแหลมในการคิดการอ่านพระธรรมคำทรงสอน ย่อมยากจะเข้าใจในคำทรงสอน" หลายอย่างหลายประการ

ตัวอย่างที่หลวงปู่แหวนท่านสอนญาติโยมคนหนึ่งนั้น คือ "อตีตาธัมเมา อนาคตาก็ธัมเมา ปัจจุบันเท่านั้นธัมโม" ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา ย่อมไม่ถือเอาคำสอนจากปากหลวงปู่แหวนอย่างผิด ๆ คืออย่างไม่สนใจถึงอดีตเลย "อดีตที่ท่านมุ่งให้เห็นว่าไม่ใช่ธัมมะ คืออดีตที่เมื่อคิดแล้วให้ความวุ่นวายความสกปรก เศร้าหมองแก่จิตใจ"

แต่แน่นอนเมื่อทรงสอนเช่นนี้ "สมเด็จพระบรมครูมิได้ทรงมุ่งให้เห็นคุณงามความดีที่เคยได้รับมาแต่อดีต จากคนนั้นบ้าง จากคนนี้บ้างว่าไม่ใช่ธัมมะ เป็นธัมเมา" ที่ไม่พึงย้อนไปฝังใจจำและระลึกถึงอยู่ "การไม่จดจำรำลึกถึงคุณความดี หรือที่เรียกว่าบุญคุณ ที่ท่านทำแล้วแก่ตนจะเป็นการก่อให้เกิดธรรมสำคัญของการเป็นคนดีได้อย่างไร"

"เพราะจะไม่มี กตัญญูกตเวที ไม่มีการรู้คุณที่ท่านทำแล้วแก่ตนและย่อมไม่ได้ตอบแทนคุณท่าน อันคุณธรรมสำคัญทั้งสองนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกล่าวว่า เป็นเครื่องหมายของคนดี" ที่หาได้ยาก

"เพราะฉะนั้นอดีตที่ได้รับพระคุณน้ำใจจากใคร ก็ตอบไม่ใช่อดีตที่เป็นธัมเมา" นอกจากว่าจะนึกถึงแล้วปฏิเสธว่าเป็นบุญคุณและน้ำใจที่ตนได้รับจากผู้นั้นบ้างผู้นี้บ้างเท่านั้น "การไม่คิดถึงพระคุณที่ได้รับแล้วจากท่าน เป็นคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง การไม่คิดถึงพระคุณท่านนั่นเองที่เป็นความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นบัณฑิต" และไม่เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิต .. "

แสงส่องใจ อาสาฬหบูชา ๒๕๔๗
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙
 

5,621







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย