พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ศากยกุมาร - ศิลปศาสตร์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ศากยกุมาร - ศิลปศาสตร์

ศากยกุมาร กุมารวงศ์ศากยะ, เจ้าชายวงศ์ศากยะ

ศากยตระกูล ตระกูลศากยะ, วงศ์ศากยะ

ศากยราช กษัตริย์ศากยะ, พระเจ้าแผ่นดินวงศ์ศากยะ

ศากยวงศ์ เชื้อสายพวกศากยะ

ศากยสกุล ตระกูลศากยะ, เหล่ากอพวกศากยะ

ศาสดา ผู้อบรมสั่งสอน, เป็นพระนามอย่างหนึ่งที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้า; ปัจจุบันใช้เรียกผู้ตั้งศาสนาโดยทั่วไป, ในพุทธกาล ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร ถ้าเรียกตามบาลีก็เป็นศาสดา ๖

ศาสตร์ ตำรา, วิชา

ศาสนา คำสอน, คำสั่งสอน; ปัจจุบันใช้หมายถึงลัทธิความเชื่อถืออย่างหนึ่งๆ พร้อมด้วยหลักคำสอน ลัทธิพิธี องค์การ และกิจการทั่วไปของหมู่ชนผู้นับถือลัทธิความเชื่อถืออย่างนั้นๆ ทั้งหมด

ศาสนูปถัมภก ผู้ทะนุบำรุงศาสนา

ศิลปะ ฝีมือ, ความฉลาดในฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การแสดงออกมาให้ปรากฏอย่างงดงามน่าชม, วิชาที่ใช้ฝีมือ, วิชาชีพต่างๆ

ศิลปวิทยา ศิลปและวิทยาการ

ศิลปศาสตร์ ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; ๑๘ ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่
๑. สูติ ความรู้ทั่วไป ๒. สัมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม ๓. สังขยา คำนวณ ๔. โยคยันตร์ การช่างการยนตร์ ๕. นีติ นิติศาสตร์ ๖. วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล ๗. คันธัพพา วิชาร้องรำ ๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย ๙. ธนุพเพธา วิชายิงธนู ๑๐. ปุราณา โบราณคดี ๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์ ๑๒. อิติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ ๑๓. โชติ ดาราศาสตร์ ๑๔. มายา ตำราพิชัยสงคราม ๑๕. ฉันทสา การประพันธ์ ๑๖. เกตุ วิชาพูด ๑๗. มันตา วิชามนต์ ๑๘. สัททา วิชาไวยากรณ์, ทั้ง ๑๘ อย่างนี้โบราณเรียกรวมว่าสิปปะ หรือศิลปะ ไทยแปลออกเป็นศิลปศาสตร์ (ตำราว่าด้วยศิลปะต่างๆ);

แต่ในสมัยปัจจุบัน ได้แยกความหมายศิลปะ กับศาสตร์ ออกจากกัน คือศิลปะ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความงาม เช่น ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์และจิตรกรรม เป็นต้น ศาสตร์ หมายถึง วิทยาการที่มีวัตถุประสงค์ตรงความจริง เช่น คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย