วิปัสสนา


ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ


วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญา ความรู้ ความเห็นแจ้งด้วยตนเองถึงธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม (ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ) อันเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนา ซึ่งเมื่อความรู้ ความเห็นแจ้งนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนการมองโลก ของผู้ปฏิบัติ เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้นของปัญญานั้น ทีละมากบ้างน้อยบ้าง จนในที่สุดก็จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อันเป็นต้นเหตุแห่งกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง ลงไปอย่างถาวรในขณะแห่งมรรคญาณ และจะเห็นผลของการทำลายนั้นได้อย่างชัดเจน ในขณะแห่งผลญาณ

ลำดับขั้นของพัฒนาการเหล่านี้ ได้รับการแบ่งเป็นขั้นย่อยๆ เอาไว้หลายแนวทาง เช่น

- แบ่งตามแนวของวิสุทธิคุณ 7 ได้เป็น 7 ขั้น
- แบ่งตามแนวโสฬสญาณ หรือ ญาณ 16 ได้เป็น 16 ขั้น
แต่ถ้าสังเกตให้ดีแล้ว จะเห็นว่าผู้ดำเนินการไม่เคยเขียนรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้เอาไว้เลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ขออธิบายถึงข้อดีข้อเสียของเรื่องเหล่านี้ ดังนี้ :

ถึงแม้ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้เกี่ยวกับลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณเลย แต่ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้ว วิปัสสนาญาณก็ย่อมจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับอยู่แล้ว และแน่นอนว่าผลอันสืบเนื่องจากวิปัสสนาญาณนั้น ก็ย่อมจะเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย และพัฒนาการต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นไปตามขั้นตอน ตามวาสนา บารมี และอุปนิสัย อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เพราะต้นเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็คือความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้งในธรรมชาติของรูปนามด้วยปัญญาของตนเอง อันเกิดจากการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ไม่ใช่เกิดจากระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใครวางเอาไว้เลย จะมีก็แต่กฎเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้น

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติรู้เรื่องรายละเอียดของวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ล่วงหน้า ก่อนที่ความเห็นแจ้งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นด้วยปัญญาของตนเองจริงๆ แล้ว ผลเสียที่อาจจะเกิดตามมาก็คือ

1. การปฏิบัติจะก้าวหน้าได้ช้า เพราะผู้ปฏิบัติมัวแต่คอยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติของตน กับทฤษฎีอยู่ และอาจถึงขั้นทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่อยู่กับสภาวะอันเป็นปัจจุบันเฉพาะหน้า จนปัญญาไม่เกิดเลยก็ได้
2. ผู้ปฏิบัติอาจเกิดอติมานะ คือความเย่อหยิ่งถือตนว่าปฏิบัติได้สูงกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง และอาจมีผลสืบเนื่องให้กิเลสตัวอื่นๆ เกิดตามมา
3. อาจเกิดญาณเทียมขึ้นมาได้ เพราะผู้ปฏิบัติรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปควรเกิดความรู้ และความรู้สึกอย่างไรขึ้นมาบ้าง และด้วยความที่อยากจะก้าวหน้าไปเร็วๆ จึงเกิดการน้อมใจไปสู่ความรู้สึกเช่นนั้น หรือเกิดการสะกดจิตตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ปัญญาเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่อาศัยสัญญาคือการจำมาจากตำรา หรือจากผู้อื่น

(ซึ่งสัญญาจะทำได้ก็เพียงข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น ไม่สามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่น และกิเลสต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมกิเลสก็จะแสดงตัวออกมาใหม่)

จนทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ตนเองก้าวหน้าไปถึงขั้นนั้นแล้วจริงๆ และอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงขั้นเกิดมรรคผลเทียมขึ้นมาเลยก็ได้
ในสมัยโบราณ (ถ้าจำไม่ผิด ผู้ดำเนินการเคยอ่านเรื่องนี้ในอรรถกถาของพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ ที่มี 91 เล่ม) มีภิกษุ 2 รูป เข้าใจผิดว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว มีผู้ที่รู้ว่าท่านทั้งสองยังเป็นปุถุชนอยู่ ปรารถนาจะช่วย จึงใช้วิธีให้ทำเป็นช้างวิ่งตรงเข้าไป จนจะชนภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นตกใจ กลัวตาย จึงรู้ตัวว่าตนยังเป็นปุถุชนอยู่ ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งใช้วิธีให้นั่งเพ่งนางอัปสร ไม่นานกามราคะของภิกษุรูปนั้นก็แสดงตัวออกมา จึงรู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชนอยู่เช่นกัน ต่อมาท่านทั้งสองจึงทำความเพียร เจริญวิปัสสนาต่อไป จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสองรูป

การเข้าใจผิดเรื่องผลของการเจริญวิปัสสนานั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะธรรมดากิเลสนั้นนอกจากจะถูกทำลายอย่างถาวรด้วยวิปัสสนาปัญญาแล้ว ยังอาจถูกกด หรือข่มเอาไว้ได้หลายวิธี เช่น ด้วยอำนาจของสมาธิ การพิจารณาแล้วข่มเอาไว้ การข่มด้วยสติ การน้อมใจแล้วข่มเอาไว้ ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะซ่อนกิเลสเอาไว้ได้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสบโอกาสที่เหมาะสมกิเลสเหล่านั้นก็จะแผลงฤทธิ์ออกมาได้ใหม่

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องระวังให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วญาณเทียมจะเกิดขึ้นได้ การปฏิบัติโดยการรับรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ไม่ต้องสนใจผลที่จะเกิดในอนาคต และไม่ต้องไปเทียบชั้นญาณกับทฤษฎีจะปลอดภัยกว่า ขอให้ศึกษาวิธีการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างชัดเจนเป็นใช้ได้ หลังจากนั้นก็คอยดู คอยสังเกตสภาวะที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ ในขณะนั้น แล้ววิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นเอง อย่าใจร้อน ถ้ามีกัลยาณมิตรคอยแนะนำตามสมควรก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก



วิปัสสนา
ทุกข์เกิดจากอะไร กิเลสเกิดจากอะไร กิเลสดังได้อย่างไร วิปัสสนาคืออะไร ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สัญโยชน์ 10 พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา อริยบุคคล 8 ประเภท อานาปานสติสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ อย่าทำวิปัสสนา-เพื่อหวังเกิดเป็นอะไร อริยบุคคล7ประเภท(ตามการบรรลุ) โพชฌงค์ 7 โยนิโสมนสิการ อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่ รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น โทษของกาม ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ศีลเป็นฐานของอริยมรรค ดอกไม้อริยะ สมถะกับวิปัสสนา การเจริญสัญญา 10 ประการ สมัยพุทธกาลมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที สุญญตาแนวเถรวาท การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของชีวิต อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย