"การขอโทษ แก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

 วิริยะ12    12 ส.ค. 2566

.
 "การขอโทษ แก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้"

" .. "การรู้จักขอโทษนั้นเป็นมารยาทอันดีงามสำหรับตัวผู้ทำเอง" และเป็นการช่วยระงับหรือช่วยแก้โทสะของผู้ถูกกระทบกระทั่งให้เรียบร้อยด้วยดีในทางหนึ่ง หรือจะกล่าวว่า "การขอโทษ คือการพยายามป้องกันมิให้มีการผูกเวรกันก็ไม่ผิด"

เพราะเมื่อผู้หนึ่งทำผิด "อีกผู้หนึ่งเกิดโทสะเพราะถือความผิดนั้นเป็นความล่วงเกินกระทบกระทั่งถึงตน" แม้ไม่อาจแก้โทสะนั้นได้ ความผูกโกรธหรือความผูกเวรก็ย่อมมีขึ้น "ถ้าแก้โทสะนั้นได้ก็เท่ากับแก้ความผูกโกรธหรือผูกเวรได้" เป็นการสร้างอภัยทานขึ้นแทน

"อภัยทานก็คือการยกโทษให้" คือการไม่ถือความผิดหรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ "อันอภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ" เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ

"โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน" โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด "แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง" จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น .. "

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร    



DT014902

วิริยะ12

12 ส.ค. 2566
 เปิดอ่านหน้านี้  5325 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย