สมาธิภาวนา


สมาธิและกิเลส

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

คำถาม

คนที่สามารถฝึกแล้วจิตตื่น ,รู้สึกเบิกบานตลอดเวลา และสามารถคุมกิริยาของร่างกาย ให้เคลื่อนไหวอย่างงดงามได้ และรู้ว่าเวลามีกิเลสเกิดขึ้นนั้น มันเหมือนมีอะไรมาเกาะใจให้เจ็บ เรียกว่าอยู่ในขั้นสมาธิขั้นใด

และหลังจากนั้นเมื่อไม่ได้บำเพ็ญภาวนาอีก ปรากฏว่าจิตหลับไป ไม่เบิกบานเหมือนเดิม และสามารถคุมกิริยาการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ และรู้สึกร้อนรุ่มเบื่อหน่ายต่อโลกเป็นประจำ แต่ในบางครั้งก็รู้สึกเป็นสุขเหมือนตัวลอยๆ และรู้สึกไม่อยากยึดติดกับอะไรนั้น เรียกว่ามีพลังสมาธิอยู่ในขั้นใด

ตอบ

ขอตอบคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. จากข้อมูลเท่าที่ให้มานี้ คงยากที่จะบอกได้นะครับว่าทำสมาธิได้ถึงขั้นใด เพราะสมาธิในทุกๆ ขั้น ก็ล้วนทำให้เกิดผลอย่างนี้ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ความประณีต เบาสบายของจิต จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามขั้นที่สูงขึ้นไป แต่อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่าขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) ถ้าจะให้ทราบชัดเจนกว่านี้ ก็ต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียดครับ เพราะสมาธิเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตที่มีความละเอียดอ่อนมาก ถ้าวิเคราะห์โดยไม่ทราบรายละเอียดมากพอ จะผิดพลาดได้ง่ายมากครับ

อาการที่จิตตื่น, รู้สึกเบิกบานตลอดเวลา เป็นผลจากสมาธิครับ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้วจะทำให้นิวรณ์ทั้ง 5 สงบลงไป (ดูรายละเอียดได้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ)) ในที่นี้ก็คือถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอนครับ

อาการที่สามารถคุมกิริยาของร่างกาย ให้เคลื่อนไหวอย่างงดงามได้นั้น เกิดจากสติที่มีกำลังเพิ่มมากขึ้นครับ

ส่วนการที่รู้ว่าเวลามีกิเลสเกิดขึ้นนั้น มันเหมือนมีอะไรมาเกาะใจให้เจ็บนั้น เกิดจากการที่ได้สัมผัสกับสภาวะจิตที่ประณีตขึ้นจากการทำสมาธิแล้ว (ดูเรื่องลำดับขั้นของจิต และเรื่องพุทธวิธีพัฒนาจิต ในหมวดบทวิเคราะห์ ประกอบ) เมื่อมีกิเลสเกิดขึ้น (จิตจะเร่าร้อน หยาบกระด้างขึ้น) จึงรู้สึกถึงความทุกข์จากกิเลสนั้นได้ชัดเจน เพราะเกิดจากการนำไปเปรียบเทียบกับจิตที่ประณีตในระดับสมาธิ

เหมือนคนที่เพิ่งออกจากห้องแอร์ ย่อมจะรู้สึกถึงความร้อน จากบรรยากาศภายนอกห้องแอร์ ได้ชัดเจนมากกว่าคนที่ไม่เคยอยู่ในที่เย็นๆ อย่างในห้องแอร์มาก่อน คือคนที่ไม่เคยอยู่ในที่เย็นๆ นั้นจะรู้สึกเคยชินกับบรรยากาศภายนอกห้องแอร์ จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปรกติ จึงไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์อะไรนัก

2. เมื่อไม่ได้บำเพ็ญภาวนาอีก ปรากฏว่าจิตหลับไป ไม่เบิกบานเหมือนเดิมนั้น เกิดจากการที่จิตรับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก (การกระทบกระทั่งกับสิ่งต่างๆ รอบตัว) และอิทธิพลจากภายใน คือกิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้จิตลดความประณีตลงเรื่อยๆ และนิวรณ์ต่างๆ ก็ค่อยๆ ครอบงำจิตได้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

การที่รู้สึกร้อนรุ่ม เบื่อหน่ายต่อโลกเป็นประจำ เพราะเกิดจากการเอาสภาวะจิตปรกติของโลก ซึ่งเร่าร้อน ไปเปรียบเทียบกับจิตในระดับสมาธิ ซึ่งประณีต เบาสบายครับ

การที่ในบางครั้งก็รู้สึกเป็นสุข เหมือนตัวลอยๆ และรู้สึกไม่อยากยึดติดกับอะไรนั้น เพราะได้สัมผัสกับสภาวะจิตทั้งในระดับโลกๆ และในระดับสมาธิมาแล้ว ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน และเห็นโทษของการยึดติดกับโลก จึงอยากจะพ้นจากโลกอันเร่าร้อนนั้นและในขณะใดที่จิตอยู่เหนือความยึดติดกับโลกได้ เมื่อนั้นจิตก็จะประณีตขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ถูกโลกครอบงำเอาไว้ เมื่อจิตประณีตขึ้น ก็จะรู้สึกเป็นสุข เบาสบายครับ

ซึ่งในกรณีนี้ก็เหมือนข้อที่ 1. นะครับ ที่ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นจิตขั้นใด จากข้อมูลที่ให้มานี้ ก็บอกได้แค่ว่าจิตประณีตกว่าระดับโลกๆ เป็นระยะๆ

ขอแนะนำเพิ่มเติมนะครับ ว่าอย่าไปยึดติดกับระดับขั้นของสมาธิให้มากนัก ควรจะสังเกตสภาวะจิตที่กำลังเกิดขึ้น และพัฒนาการที่เป็นไปมากกว่า เพราะเรื่องของสภาวะจิตนั้น ต้องสัมผัสเองถึงจะรู้ ยากที่จะอธิบายให้คนอื่นรู้ถึงสภาวะจิตที่เราเป็น ได้อย่างชัดเจนด้วยคำพูด หรือตัวหนังสือ นอกจากการกำหนดรู้ด้วยจิต (สำหรับคนที่รู้วาระจิตของผู้อื่นได้) เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากมาก ที่จะบอกลำดับขั้นของจิตของผู้อื่นได้ถูกต้อง ชัดเจน แน่นอน


บทความที่เกี่ยวข้อง


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย