การเห็นธรรมชาติอันลึกซึ่ง คือการเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง


จะบอกหัวใจของพระพุทธศาสนา เหมือนกับพระองค์เล็กๆ แขวนไว้ได้ที่คอ คือคำว่า “ตถาตา” ถ้าไม่ชอบบาลี ก็ใช้คำว่า “เช่นนั้นเอง” ถ้าทุกคนแขวน เช่นนั้นเองไว้ที่คอก็เหมือนแขวนพระเครื่องอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าที่ไหนทั้งหมด ช่วยคุ้มครอง ป้องกันได้หมด และทำให้ก้าวหน้าสูงยิ่งๆ ขึ้นไป...

จะได้พิจารณากันต่อไปว่า คำว่า เช่นนั้นเอง จะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร

คำว่า ตถาตา เป็นบาลี แปลว่า เช่นนั้นเอง หรือ ความเป็นเช่นนั้น เป็นคำที่พระพุทธองค์ได้เคยตรัสไว้ว่า

“ตถาคตจะเกิด หรือจะไม่เกิดขึ้น ธรรมทาสนั้นก็มีอยู่แล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

บางทีพระองค์ก็ตรัสว่า “ธรรมทาส คือ ความที่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น”

และตรัส ปฏิจจสมุปปบาท ตั้งแต่ อวิชชา ปัชชญา สังขารา เป็นต้นไปจนจบ และสรุปความว่า นี้คือความเป็นอย่างนี้ คือ เป็นตถตา

อวิตถตา คือ ความไม่ผิดจากความเป็นอย่างนี้

อนัญญถตา คือ ไม่เป็นอย่างอื่นไปจากความเป็นอย่างนี้

ธรรมติถตา คือ เป็นความตั้งอยู่โดยธรรมดา

ธรรมนิญามตา คือ เป็นกฎตายตัวของธรรมดา

อิทัปปัตตยตา ปฏิจจสมุปปาโท เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้นเป็นการอาศัยซึ่งกันเกิดขึ้นดังนี้

คำพูดมีหลายคำแต่สรุปให้เหลือสั้นๆ คำเดียวก็คือคำว่า ตถาตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้น หรือ เช่นนั้นเอง

ความเป็นเช่นนั้นเองแสดงไว้ในหลายแห่ง

“เช่นนั้นเอง” นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็มี ทรงแสดงไว้ด้วย ปฏิจจสมุปปบาท ตลอดสายก็มี โดยท่านใช้คำว่า ตถาตา หรือ ตถตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้น...

ดูที่พระไตรลักษณ์ก่อนว่า สังขารไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ ธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา

ความที่มันไม่เที่ยง คือ มันเป็นเช่นนั้น

ความที่มันเป็นทุกข์ มันเป็นเช่นนั้น

ความที่มันเป็นอนัตตา คือ เป็นเช่นนั้น

คือความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ถ้าผู้ใดเข้าใจก็จะเห็นว่า ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา นั่นแหละ คือ ความเป็นเช่นนั้น จำไว้ก่อนว่า เป็นเช่นนั้น คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ความเป็นเช่นนั้นเอง มันอยู่ตรงที่ว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดผัสสะ อายตน อายตนให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดอุปาทาน

อุปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ ชาติให้เกิดทุกข์ทั้งปวง นี่ความเป็นทุกข์ทั้งปวงมันร่ายติดกันไปยาวหน่อย แต่สรุปมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ฉะนั้น ปฏิจจสมุปปบาท ทั้งปวงนั้น สรุปได้เหลือเป็นคำเดียว ว่า เป็นเช่นนั้น หรือ ตถตา อีกเหมือนกัน

ดูที่อริยสัจ ๔ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ หนทางแห่งความดับไม่เหลือเป็นอย่างนี้ ก็ชี้ชัดลงไปอย่างนี้ๆ ก็หมายว่ามันเป็นอย่างนั้น เป็นเช่นนั้นเอง เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ความทุกข์จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เหตุให้เกิดทุกข์จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ทางดับแห่งทุกข์ก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันจะเป็นแต่เช่นนี้ๆ อย่างที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ฉะนั้น จึงเรียกอริยสัจ ๔ นี้ว่า ตถา หรือ ตถตา ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น คำว่า ตถตา จึงได้แก่ พระไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปปบาท อริยสัจ ๔ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทำไมจะไม่เรียกว่า นี่คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งสรุปเข้ามาเหลือเพียงคำเดียวว่า ตถาตา คือ ความเป็นเช่นนั้น

จงจำคำนี้ไว้ให้แม่นยำ ให้มันคล่องปาก คล่องใจ ให้อยู่กับเนื้อกับตัว หรือจะเอามาแขวนไว้ที่คออย่างพระเครื่อง ก็จะคุ้มครองทุกอย่าง จะส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับไป จนบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน

พุทธทาสภิกขุ

3,079







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย