อินทรีย์ ๕ สื่อให้เกิดความร้อน

 tongsamut  



อาทิตตะ ปริยายสูตร พระพุทธตรัส
ทรงชี้ชัด เรื่องตา พาให้หมอง
รูปารมณ์ เข้าตา มาตามคลอง
หากจิตข้อง ไม่ระวัง ทุกขังตน

พระองค์ตรัส เปรียบเทียบ เฉียบคมนัก
เอาหลาวปัก แทงเนตร เล็ดถลน
เจ็บปวดแสน โอดโอยทรุด สุดเหลือทน
ดีกว่าคน ไม่หยุดยั้ง ระวังตา

เพราะเป็นเหตุ ผลเผ็ดร้อน ตอนตายได้
ตกอบาย นรกใหญ่ ไร้กังขา
หรือเกิดเป็น ดิรัจฉาน ไร้มารยา
องค์พุทธา ทรงชี้ชัด จึงตรัสเตือน

พระองค์ตรัส จักขุเช่น เป็นของร้อน
ให้สังวรณ์ ระวังใจ ไม่ฟั่นเฟือน
สติจับ ประทับวาง ไม่ลางเลือน
พระองค์เตือน ให้รับรู้ ดูเป็นกลาง

อย่าหลงใหล รูปที่พบ ประสบเห็น
วางใจเช่น สักว่าเห็น เป็นสิ่งว่าง
กำหนดดู รู้แล้วจบ กำหนดวาง
ไม่สร้างทาง เพื่อติดยึด ประพฤติเบา

ให้พิจารณา สู่ไตรลักษณ์ ประจักษ์แจ้ง
เพิ่มด้วยแรง ปัญญา ไม่บ้าเขลา
มองให้เห็น เป็นอนิจจัง ดุจดังเงา
ทุกขังเฝ้า อนัตตาชิด อย่าติดมัน

เพียงแค่นี้ จิตสะอาด สลัดได้
ชนกกรรม นำไป ให้สุขสันต์
ไม่ตกไป ในอบาย ร้ายอนันต์
จงจำกัน จักขุนทรีย์ เท่านี้เอย

ส่วนเรื่องหู จมูก ลิ้นกายใจ
ก็จงให้ ระวังหนา อย่านิ่งเฉย
สติดู รู้เท่าทัน เช่นดังเคย
หากละเลย จะเป็นบ่อน ร้อนดังไฟ

หูจะร้อน จมูกไหม้ กายใจรุ่ม
ดุจไฟสุม กองมหึมา พาร้องไห้
เสียงเข้าหู กลิ่นเข้าจมูก ทุกข์ร่ำไป
ไม่สนใจ ระวัง พังลูกเดียว

กายถูกต้อง อ่อนแข็ง แรงผัสสะ
ใจธรรมะ อธรรมใหญ่ ไม่แลเหลียว
ใจยินดี ยินร้าย ไปเพียวเพียว
เจอทางเลี้ยว สู่นรก ตกอบาย

มองทุกสิ่ง อย่างเข้าใจ ใช้สติ
จะมุตติ พ้นทุกข์ จะสุขใส
จะไม่ร้อน ทางอินทรีย์ ที่เอ่ยไป
จะผ่องใส ทั้งสองโลก ไม่โศกกันต์



ผู้เสวยอารมณ์ของอินทรีย์ ๕

ปัญหา อุณณาภพราหมณ์กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวร่วมของอินทรีย์ ๕ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และอะไรเป็นผู้เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนั้น ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้มีอารมณ์ต่างกัน มีทางโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นทางโคจรของกันและกัน....อินทรีย์ ๕ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (มโน) ย่อมเป็นที่ยึดเหนี่ยวร่วมของอินทรีย์ ๕ ประกานี้ และใจ ย่อมเสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ ประการนี้... สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งใจ วิมุติเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งสติ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวแห่งวิมุต ด้วยว่าพรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้วมีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มีนิพพานเป็นที่สุด....”


อุณณาภพราหมณสูตร มหา. สํ. (๖๒๘-๙๗๑ )
ตบ. ๑๙ : ๒๘๘-๒๘๙ ตท. ๑๙ : ๒๗๒-๒๗๓
ตอ. K.S. ๕ : ๑๙๒-๑๙๓

6,204







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย