วัดกลาง วรวิหาร


พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2299
วันรับวิสุงคามสีมา : 10/01/2528


วัดกลาง วรวิหาร

สมุทรปราการ


วัดกลางวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวัดสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดตะโกทอง ในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร อาณาเขตของวัดมีพื้นที่ 25 ไร่ (ไม่นับรวมที่ธรณีสงฆ์ 49 ไร่)

วัดกลางวรวิหารตั้งเป็นวัดราว พ.ศ. 2299 ตามตำนานกล่าวว่า แต่เดิมเป็นเพียงกุฏิเล็กมุงใบจากของภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ พระอาจารย์ซู ภายหลังชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาท่าน จึงได้สร้างวัดถวาย ตั้งอยู่ระหว่างกลางระหว่างวัดนอกกับวัดใน โดยในการสร้างวัดครั้งแรกมีอุบาสิกาหม้ายสามคนเป็นธุระหาที่ดินสร้างวัด โดยการสละที่ดินของตนที่เป็นใบจองสวนซึ่งมากกว่าที่ดินสองฝั่งคลองบางฆ้องที่เห็นพ้องว่าควรเป็นที่ตั้งของวัด โดยได้นำไปขอแลกกับเจ้าของที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านยังร่วมกันบริจาคทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก ระหว่างการปรับที่ดินได้พบกับแหวนทองโบราณใต้ต้นตะโก จึงได้เป็นที่มาของชื่อวัด การสร้างวัดได้ใช้เวลา 4–5 ปี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านได้อาราธนาพระอาจารย์ซูเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก สิ่งก่อสร้างในสมัยพระอาจารย์ซู ได้แก่ พระอุโบสถ โรงธรรม สระน้ำ กุฏิหมู่เล็ก ๆ ใกล้สระน้ำ ต่อมาพระอาจารย์ชีจากนครเขื่อนขันธ์ได้เข้ามาปกครองวัดหลังพระอาจารย์ซูถึงแก่มรณภาพ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียกรุง วัดกลางถูกทิ้งร้าง พระอาจารย์ชีหายสาบสูญ จนสมัยกรุงธนบุรี พระอาจารย์ดา ฉายา มหาอินทโชติ ซึ่งเป็นน้องพระอาจารย์ชี ได้เป็นผู้นำเข้ามาทำนุบำรุงวัด มีการหล่อพระพุทธรูปใหม่ขึ้นมา ได้ปลูกกุฏิขึ้นใหม่ ส่วนอุโบสถหลังเก่าที่สลักหักพังก็รื้อก่อใหม่ขยายออกเป็นสองเท่า เริ่มก่อราว พ.ศ. 2345 (ร.1) มีภิกษุผู้มีฝีมือทางการช่าง ได้สร้างกุฏิปลูกต้นไม้ดัด ท่านมีนามว่า พระอาจารย์เส็ง ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 4

เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 พระอาจารย์ฮวด (ฉายา ธรรมถีระ) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระครูสุนทรสมุทร ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญลงแทนหมู่กุฏิ และสร้างเจดีย์ ศาลาสรงน้ำปากสระ ปรกสำหรับอยู่บริวาสกรรม ศาลาท่าน้ำ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค มาพระราชทานพระกฐินครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2400 ต่อมาในสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ 6 หรือ พระปลัดเงิน ได้รับความศรัทธาจากผู้มีอันจะกิน ได้ทำการทำนุบำรุงวัด สร้างพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ในพระวิหาร สร้างถนน ศาลา พุทธเจดีย์ ธรรมเจดีย์ ฯลฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระกฐินครั้งหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จลงมาตั้งโรงเรียน ใช้ศาลาทำบุญกลางวัดเป็นสถานที่เรียนในตอนแรก ในปี พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 เสด็จเข้ามาประทับในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรพระสารีริกธาตุที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)ได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย

ในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธอภัยมงคลสมังคี •

พระอุโบสถหลังเก่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2345 ศิลปะรัชกาลที่ 3 พระประธานในพระอุโบสถปางมารวิชัย หน้าตัก กว้าง 205 ซม. สร้างด้วยศิลาแลงหุ้มปูนปิดทอง อัญเชิญมาจากวัดร้างกลางป่า อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี   
{ พระอุโบสถ }   
{ วิหารจตุรมุข }   
{ พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า }
พระพุทธรูปปางมารวิชัย   

 10,403


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย