วัดดาวดึงษาราม กรุงเทพมหานคร





วัดดาวดึงษาราม กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2350
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2405


ประวัติความเป็นมา
วัดดาวดึงษาราม เจ้าจอมแว่น พระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๕๐ และนิมนต์พระอาจารย์อิน มาครองวัด จึงเรียกกันว่า วัดขรัวอิน
สมัยรัชกาลที่ ๒ ข้าราชการฝ่ายในชื่อ อิน ซึ่งเป็นญาติของเจ้าจอมแว่น ได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานนามวัดว่า วัดดาวดึงษาสวรรค์ หมายถึง สวรรค์ชั้นที่พระอินทร์สถิต
สมัยรัชกาลที่ ๓ พระมหาเทพ (ปาน) ได้บูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น พระอุโบสถ พระประธานในพระอุโบสถ และกุฏิสงฆ์เป็นต้น แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า วัดดาวดึงษาราม
สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์บ้าง ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ คุณหญิงกลาโหม ราชเสนา (มิปาณิกบุตร) ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถสำเร็จสมบูรณ์

สถานะและที่ตั้ง
วัดดาวดึงษาราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๘๗๒ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่
๑๐ ไร่


พระอุโบสถ
ลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องลด ๒ ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทำด้วยไม้สักจำหลักเป็นรูปดอกไม้ใหญ่ประดับกระจกปิดทอง พื้นปูหินอ่อน มีเฉลียงรอบ ภายในแบ่งเป็น ๓ ห้อง สองห้องหัวท้ายสกัดเป็นห้องแคบ ๆ ประตูหน้าต่างทำซุ้มประดับลายดอกไม้ปูนปั้น ติดกระจก บานหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำเล่าเรื่องทศชาติ
และพระพุทธประวัติ ประตูด้านนอกเขียนลายรดน้ำรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประตูด้านในเขียนรูปทวารบาลถือพระขรรค์
ยืนแท่นมียักษ์แบก ระบายสีงดงาม ผนังด้านหน้าของห้องแรก ระดับกรอบหน้าต่างเขียนเล่าเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ไปแปลพระไตรปิฎกที่ลังกา ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเล่าเรื่องมโหสถชาดก ผนังด้านหลังเขียนเล่าเรื่องพระเวสสันดรและผนังด้านหลังของห้องชั้นในเขียนเล่าเรื่องพระเจ้าทธิวาหนะ ส่วนบริเวณผนังโดยรอบระดับเหนือประตูหน้าต่างจรดเพดานเขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์รูปดอกไม้ล้อมพระโพธิสัตว์



พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตักกว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก ลงรักปิดทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓



หอระฆัง
หอระฆัง ลักษณะเป็นเครื่องก่ออิฐถือปูน รูปแบบสถาปัตยกรรมทรงตะวันตกที่นิยแพร่หลายในระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังตัวอย่างอาคารเล็กสำหรับไว้อัฐิเจ้านายในสุสานหลวงหลังวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม มีให้เห็นได้หลายหลัง หอระฆังสำหรับวัดนี้ทำขึ้นบนฐานสี่เหลี่ยม ล้อมด้วยเสาแพนกอย่างเสาฝรั่ง มีคูหาเข้าไปทั้ง ๔ ด้าน ต่อคอสองขึ้นไปชั้น ๑ จึงทำเป็นชานกั้นพนักเตี้ยๆล้อมหลังชานก่อเป็นหอ รูปทรงอย่างเรือนทรงสี่เหลี่ยมมีเสาประกบมุมทั้ง ๔ หน้าหอ แต่ละด้านทำเป็นคูหาเป็นช่องโค้งทะลุถึงกันทั้ง ๔ ด้าน ส่วนยอดทำเป็นทรงกระโจมสี่เหลี่ยมรวบปลายแหลม ในหอแขวนระฆังลงมาจากเพดานลูกหนึ่ง สำหรับตีบอกเวลา



มณฑปหลวงปูโว
เป็นสิ่งปูกสร้างขึ้นภายหลังลักษณะเป็นมณฑปโถมทรงจตุรมุขหลังคาลด ๒ ชั้นทั้ง ๔ ด้าน มุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันปูนปั้นเป็นเรือนแก้วประกอบลวดลาย ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เล็กๆ กรอบหน้าบันติดเครื่องสะดุ้ง คือ ช่อฟ้า รวยระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ เป็นต้น ประดับกระจก เครื่องยอดทำอย่างเครื่องยอดปราสาท ภายในมณฑปเป็นที่ไว้อัฐิพระครูโวทานธรรมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๘


รูปปั้นพระเทพปริยัติวิธาน (บุศย์ โกวิโท) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๔๖




11,125







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย