วิปัสสนา

เรื่องที่ ๓๐ : ๑๑ วันธรรมบรรยาย ( ๑๖ )
โดย : ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า


เมื่อคนเราเริ่มเข้าใจคำว่า อนิจจัง หรือความไม่เที่ยง จากภายในกายตนแล้วก็จะส่งผลให้มี ปัญญามองเห็น อนัตตา อันได้แก่ ความไม่มีตัวตน ไม่มีของตนทั้งภายในกาย และภายในจิตใจ ว่า ไม่มีอะไรที่คงทนอยู่ได้เกินชั่วขณะหนึ่งไม่มีอะไรที่คนเราจะสามารถชี้ได้ว่า จะไม่เปลี่ยน แปลง ไม่ว่าจะเป็นกายหรือจิตใจเพราะถ้ามีอะไรสักอย่าง ทึ่เป็นของเราจริงๆแล้ว เราก็จะต้อง สามารถเป็นเจ้าของได้ ควบคุมและรักษาไว้ได้ แต่แท้จริงแล้ว คนเราไม่สามารถที่จะควบคุม และรักษาอะไรไว้ได้เลย แม้แต่ร่างกายของเราเอง อวัยวะทุกส่วนมีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะปรารถนาที่จะยื้อยุดให้คงทนไว้อย่างไร เมื่อได้เข้าใจ และมองเห็น อนิจจังและอนัตตา แล้วต่อไปปัญญาขั้นที่สามก็จะพัฒนาขึ้นมา ทำให้เห็นทุกขัง คือความทุกข์ หากคนเราต้องการเป็นเจ้าของ หรือยึดถือในสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลง ที่เราไม่อาจจะควบคุม ได้เราก็จะเพิ่มความทุกข์ให้กับตนเองมากขึ้น

โดยทั่วไป คนเรามักจะแบ่งแยกว่า ความทุกข์เป็นประสบการณ์ด้านที่ไม่ดีไม่สบาย แต่แท้ จริงแล้ว ความรู้สึกที่ดี ที่สบาย ก็อาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เช่นเดียวกัน ถ้าเราไปยึดติด กับมันเข้า เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เที่ยงแท้เช่นกัน การยึดติดอยู่กับสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ย่อมจะ ก่อให้เกิดความทุกข์เสมอเมื่อมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาแล้ว การใช้ ชีวิตประจำวันก็จะเป็นไปด้วยปัญญา ทำให้เราได้เรียนรู้ ที่จะมองเจาะผ่านผิวนอก เข้าไปถึง ภายใน สามารถมองเห็นแก่นที่แท้จริง โดยไม่มีภาพลวงตาใดๆหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะทำให้เรามี ความสุขในชีวิต ภาพลวงตาต่างๆ เกิดขึ้นจากสิ่งหลายสิ่งที่มาปรากฏให้เห็น แล้วรวมตัวกัน ประกอบกันขึ้นมา ให้ดูเหมือนกับว่า เป็นสิ่งที่เป็นจริง เช่นภาพ ลวงตาที่ทำให้แลเห็นความงาม ของร่างกายเป็นต้น

ความจริงนั้น ร่างกายจะดูงามได้ ก็ต่อเมื่อมีอวัยวะส่วนต่างๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย แต่ส่วนต่างๆของร่างกายนี้ หากนำมาแยกออกทีละส่วน ก็จะไม่ชวนมอง ไม่มีความงามหลง เหลืออยู่ เรียก ว่าเป็นอสุภะ ความงามของร่างกาย จึงเป็นแต่เพียงสมมติสัจจะ คือความจริงใน ระดับผิวเผิน หรือความจริงที่สมมติกันขึ้นมา มิใช่ปรมัตถสัจจะ หรือความจริงอันสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การเข้าใจในธรรมชาติของภาพลวงตา คือความสวยงามของร่างกายนั้น ก็หา ได้ ทำให้เกิดความเกลียดชัง ไม่พอใจในตัวผู้อื่นไม่ เพราะเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น จิตใจก็จะเข้า สู่ความสมดุลตามธรรมชาติ ไม่ยึดติด มีความบริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่อผู้ อื่น การที่เราได้พบกับความจริงภายในตนเอง จะนำให้เราพ้นจากภาพลวงตา พ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความสงบสุข




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย