อาจารย์รุหกะ (รุหกชาดก)

๏ ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งผู้ถูกภรรยาเก่าหัวเราะเยาะเย้ย ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชา ครองเมืองพาราณสี ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม พระองค์มีปุโรหิตคนหนึ่งชื่อว่า รุหกะ เขามีภรรยาชื่อว่าปุรณีพราหมณี พระราชาได้พระราชทานม้าตัวหนึ่งพร้อมเครื่องประดับแก่ท่านรุหกะปุโรหิตนั้นไปใช้เป็นพาหนะว่าราชการ

วันหนึ่งท่านรุหกะปุโรหิตขี่ม้าไปราชการ ชาวบ้านที่พบเห็นได้พากันชมม้าของเขาว่า
"แม่เจ้าโว้ย ม้าต้วนี้ช่างงามแท้"

พอเขาได้กลับไปถึงบ้านพร้อมกับรอยยิ้มได้เรียกภรรยามาพูดอวดว่า
"นี่น้องม้าของพี่งามเหลือเกิน ไครๆ เขาก็ชมกันทั้งนั้นนะ น้องว่าจริงไหมจ๊ะ"

ภรรยาของเขาค่อนข้างจะมีนิสัยเป็นนักเลงอยู่บ้างจึงพูดตอบแบบกวน ๆ ว่า
"พี่..ม้าตัวนี้งามเพราะมันมีเครืองประดับหรอกจ๊ะ พี่ก็ลองเดินซอยเท้าเหมือนม้าไปเข้าเฝ้าพระราชาดูบ้างซิ พระองค์จะได้ทรงโปรดปราน ชาวบ้านก็จะพากันชื่นชมพี่ด้วยนะจ๊ะ"

ท่านรุหกะเป็นคนค่อนข้างบ้า ๆ บอๆ อยู่บ้าง พอได้ฟังภรรยาพูดยุเช่นนั้นก็ไม่รู้ว่านางพูดเย้ยหยัน มุ่งแต่จะได้ความงามอย่างเดียวจึงลองทำตามทำพูดภรรยาดู ชาวบ้านที่เห็นเขาก็พากันหัวเราะแล้วพูดเยาะเย้ยว่า
"ท่านอาจารย์งามแท้หนอ"

พระราชาเห็นท่านแล้วก็รับสั่งว่า
"อาจารย์..ท่านจิตใจไม่ปกติหรือ เป็นบ้าไปแล้ว หรือถึงได้ทำเช่นนี้"

ทำให้ท่านรุหกะได้สติและอับอายเป็นอย่างยิ่ง ท่านโกรธภรรยามาก นึกไว้ในใจว่า
"คอยดูนะนางตัวแสบ พอกลับถึงบ้านจะทุบตีมันสักป้าบสองป้าบแล้วค่อยไล่มันหนีไป"

ฝ่ายนางปุรณีพราหมณีทราบว่าสามีโกรธนางมากและกำลังกลับมาบ้าน ก็แอบออกทางประตูหลังบ้านเข้าพระราชวัง

พระราชาทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสกับท่านรุหกะในวันหนึ่ง
"อาจารย์..ธรรมดาผู้หญิงก็มีความผิดได้เหมือนกัน ควรยกโทษให้นางเสียเถิด ธรรมดาสายธนูที่ขาดแล้วยังต่อกันได้อีก ท่านจงคืนดีกับภรรยาเสียเถิด อย่าได้โกรธไปเลย"

ท่านรุหกะปุโรหิตจึงทูลตอบเป็นคาถาว่า
"เมื่อสายป่านยังมีอยู่ นายช่างผู้กระทำสายธนูก็ยังมีอยู่ ข้าพระองค์จักกระทำสายธนูใหม่ พอกันทีสำหรับสายธนูเก่า"

เมื่อกราบทูลแล้วก็กลับไปบ้านไล่นางปุรณีพราหมณีหนีไปแล้วแต่งตั้งภรรยาคนใหม่มาทำหน้าที่แทน

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : เป็นสามีภรรยาต้องรู้จักยอมกันบ้าง ยอมยกโทษให้กันและต้องเข้าใจกัน

    ๛

: หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

 7,661 
DT0005 DhammathaiTeam

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย