พกาหมาพรหม เขียนโดย สืบ ธรรมไทย
ย้อนไปเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ มีอยู่คราวหนึ่งพญาวสวัตตีมารเห็นมหาพรหมองค์หนึ่งนามว่าพกาพรหม ชอบคุยโม้ว่าตนนั้นมีฤทธิ์เหนือผู้ใด เขาเกิดครึ้มใจขึ้นมาจึงเหาะไปยังวิมานของท้าวมหาพรหม จากนั้นก็ไปพูดยกยอปอปั้นต่างๆนานาว่า
“ ดูก่อนพกาพรหม ท่านนี้แลที่เป็นผู้เลิศกว่าใครในสามแดนโลกธาตุ มีฤทธานุภาพแลศักดานุภาพเหนือสัตว์ทั้งปวง เป็นที่เคารพของมนุษย์แลเทวดา เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของคนแลสัตว์ เนื่องจากมนุษย์และสัตว์ต่างก็ถูกท่านบันดาลขึ้นมา ไม่เพียงเท่านั้น ภูมิประเทศบนโลกไม่ว่าจักเป็นป่าไม้ภูเขาหรือว่าแม่น้ำทะเลก็ท่านอีกนั่นแหละที่เป็นผู้สร้าง คราใดเมื่อคุณธรรมของมนุษย์เสื่อมถึงกาลที่โลกจักต้องพินาศ ท่านก็เป็นผู้คอยดลบันดาลให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์เผาไหม้โลก ฉะนั้นหากจักกล่าวว่าท่านคือผู้ที่มีตบะเดชะเหนือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็คงไม่น่าเกินเลยกระมัง หรือท่านมีความเห็นใด? ”
หลังจากกล่าวคำสรรเสริญแล้ว พญามารก็อำลาท้าวมหาพรหมกลับยังที่อยู่แห่งตน ฝ่ายพกาพรหมผู้หลงตนพอฟังคำเยินยอของท้าววสวัตตีซึ่งเป็นคำพูดโคมลอย ไม่เป็นความจริง หาสาระมิได้ กระนั้นเขาก็ยังหลงเพลินอยู่กับคำลวงเหล่านั้นจนเกิดทิฐิวิบัติขึ้นในใจ “ ชะรอยหรืออาตมาจักเป็นดั่งที่พญามารว่า ด้วยอาตมานี้เป็นผู้ไม่แก่ ไม่เจ็บ แลไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าสัตว์ทั้งปวง พระนิพพานที่ว่าเป็นสถานที่อันบรมสุข ก็คงจักเป็นแต่เพียงคำกล่าวลมๆเท่านั้น หาได้มีสถานที่ดังว่าไม่ ”
ครานั้นเองด้วยความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนของพกาพรหมที่ว่าพระนิพพานเป็นสิ่งโคมลอย ไม่เป็นความจริง ก็ได้ทราบถึงพระศาสดาซึ่งกำลังประทับอยู่ที่โคนต้นรัง ณ ป่าสุภควัน เพื่อจักสงเคราะห์พรหมเขลาให้คลายจากทิฐิวิบัติ องค์บรมครูจึงเสด็จจากโลกมนุษย์ขึ้นมายังพรหมโลกด้วยเวลาเพียงชั่วบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนของเขาออก แล้วงอกลับเท่านั้น
ขณะนั้นพกาพรหมกำลังอิ่มอกอิ่มใจอยู่กับคำยอของพญามาร พอเห็นสมณรูปหนึ่งปรากฏเบื้องหน้าจึงให้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยกำลังอยากจักหาใครสักคนมาเป็นที่ระบายความในใจพอดี ดังนั้นจึงกล่าวว่า
“ ดูก่อนท่านผู้เป็นดั่งเรา การที่ท่านมายังวิมานของข้าพเจ้านี่ก็ดีแล้ว เราจักได้สนทนากัน ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนนิจจัง ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย ไม่มีสิ่งใดในสามโลกนี้สามารถดับทุกข์ที่มีอยู่ในใจของสรรพสัตว์ได้ ท่านเห็นเป็นเช่นไร? ”
สมเด็จพระศาสดาครั้นทรงสดับวาจาของท้าวพกาพรหมจึงตรัสเตือนสติเขาว่า “ ดูก่อนมหาพรหม! บัดนี้จิตท่านได้ถูกอวิชชาเข้าห่อหุ้มแล้ว สิ่งที่ท่านกล่าวมามันหาได้เป็นดั่งที่ท่านเข้าใจไม่! ” พกาพรหมพอฟังพระดำรัสขององค์ศาสดาก็ไม่พอใจ จึงโต้กลับไป “ นี่สมณ! สถานที่ที่ข้าพเจ้าอยู่ล้วนมีแต่ความสุข มีแต่ความเบิกบาน จักหาทุกข์ทั้งสี่ประการอันเกิดมาแต่ ชาติ ชรา พยาธิ แล มรณะ มิได้ แล้วอย่างนี้ท่านยังจักกล่าวว่าไม่เที่ยงได้อย่างไร? ” สมเด็จพระชินสีห์ครั้นทรงสดับถ้อยพาทีพรหมเขลาจึงตรัสว่า
“ ดูก่อนพรหม เรารู้ท่านนั้นมีอายุยืน ยาวยิ่งกว่าสัตว์ทั้งปวง เปี่ยมฤทธานุภาพแลศักดานุภาพอันยิ่งใหญ่ แม้แต่ดวงอาทิตย์แลดวงจันทร์ ที่มีรัศมีอันรุ่งเรือง ก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุเหมือนดั่งรัศมีกายของท่านไม่ แหละเราก็รู้อีกว่า บัดนี้จิตท่านกำลังถูกอัคคีของกิเลสเผาผลาญอยู่ แล้วอย่างนี้ท่านยังจักกล่าวว่ามีความสุขได้หรือ? อีกประการตัวท่านก็มักอ้างว่าตนนั้นมีฤทธิ์เหนือผู้ใด เราอยากถามว่าท่านพอจักบอกได้หรือไม่ถึงที่อยู่แห่งพรหมชั้นที่สูงไปกว่าท่าน อย่างเช่น อาภัสสราพรหม สุภกิณหาพรหม หรือเวหัปผลาพรหมเป็นต้น ”
ขณะนั้นปรากฏได้มีหมู่พรหมเป็นจำนวนมากพากันออกจากวิมานมาดูการโต้ตอบคำพูดของเพื่อนผู้อวดตนกับสมเด็จพระศาสดา พรหมดื้อเมื่อเห็นเพื่อนพรหมต่างมองมายังตนเหมือนจักเป็นการถามกันกลายๆว่าไฉนจึงยังไม่ตอบคำถามของพระสมณโคดมไปเล่า ก็ให้รู้สึกเสียหน้าแลอับอาย แต่ครั้นจักบอกออกไปก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจักตอบเช่นไร จึงแกล้งเฉไฉถามกลับไปว่า
“ ดูก่อนสมณะ! การที่ท่านกล่าวอย่างนี้ก็เหมือนดั่งว่ามีแต่ท่านเท่านั้น ที่รู้คติแลวิบากของสรรพสัตว์ คำพูดของท่านข้าพเจ้าหาได้เชื่อถือไม่ ขนาดข้าพเจ้าซึ่งมีฤทธิ์เหนือผู้ใดยังมิทราบ แล้วไฉนตัวท่านซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ผู้หนึ่งจึงจักทราบเล่า? ” สมเด็จพระศาสดาครั้นทรงสดับวาจาอวดตนของเขา จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสกับพกาพรหมว่า
“ ดูก่อนพกาพรหม! คำหนึ่งท่านก็ว่าตัวท่านนั้นมีฤทธิ์เหนือผู้ใด สองคำท่านก็ว่าท่านนั้นมีฤทธิ์เหนือผู้ใด เราอยากขอให้ท่านจงแสดงฤทธิ์สักอย่างให้เป็นที่ปรากฏแก่เราจักได้มั้ย อย่างเช่นจงกำบังกายอย่าให้เราเห็น ไม่ทราบท่านพอจักทำได้หรือไม่? ” พกาพรหมพอได้ฟังก็ให้นึกกระหยิ่มอยู่ในใจ “ กับเพียงแค่แสดงฤทธิ์หายตัว มันจักยากอันใด ” ว่าแล้วเขาก็เนรมิตกายให้หายไปจากที่นั้นทันที
บรรดาเพื่อนพรหมที่เฝ้าจับจ้องเพื่อนผู้อวดตน จู่ๆเห็นเขาหายวับไปต่อหน้า ต่างก็เหลียวหน้าเหลียวหลังมองหากันให้เลิ่กลั่ก แต่ไม่ว่าจะหาเท่าใดก็หาไม่เจอ แต่ถึงเขาจักหลบไปจากสายตาเพื่อนพรหมด้วยกันได้ก็จริง ทว่าก็หาได้รอดจากสายพระเนตรแห่งองค์พระสยัมภูไม่ ไม่ว่าจักไปซ่อนที่ไหนจอมมุนีก็ทรงชี้ตำแหน่งได้อย่างถูกต้องทุกครั้ง จนเขาไม่อาจหาที่หลบได้ สุดท้ายต้องเหาะไปนั่งหน้ามุ่ยแสดงกายให้เป็นที่ปรากฏอยู่ในวิมานตน
พรหมทั้งหลายเมื่อเห็นเพื่อนผู้อวดตนพ่ายให้กับสมเด็จพระศาสดา ต่างก็พากันแย้มยิ้มออกมา เหมือนจักว่าเยาะก็ไม่ใช่จักว่าเอ็นดูก็ไม่เชิง นั่นยิ่งทำให้พกาพรหมรู้สึกเสียหน้าเข้าไปใหญ่ ดังนั้นด้วยอารมณ์พาลเขาจึงกล่าวว่า “ เอาเถิดสมณ! ข้าพเจ้ายอมรับว่าท่านก็พอมีฤทธิ์อยู่บ้างเช่นกัน สามารถมองเห็นข้าพเจ้าได้ บัดนี้ขอท่านจงแสดงฤทธิ์หายตัวให้เป็นที่ประจักษ์แก่ข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าจักขอดูซิว่าท่านจักสามารถหลบไปจากสายตาของข้าพเจ้าได้หรือไม่ ”
องค์สมเด็จพระชินสีห์ครั้นได้ทรงสดับวาจาเสียดสีของท้าวมหาพรหม จึงทรงแสดงพุทธฤทธิ์หายไปจากที่นั้นทันที ฝ่ายพกาพรหมซึ่งเฝ้าจ้องมองพระองค์อย่างไม่กระพริบตา จู่ๆไม่เห็นจอมมุนีเสียยังงั้นก็ให้รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นล้นพ้น เขาไม่รู้ว่าทรงอันตรธานหายไปตั้งแต่เมื่อใด นอกจากตัวเขาจักมองไม่เห็น พรหมทุกรูปที่อยู่ ณ ที่นั้นก็หาได้มีรูปใดมองเห็นเช่นกัน
แล้วบัดนั้นทั่วทั้งพรหมโลกก็กังวานไปด้วยพระสุรเสียงขององค์จอมปราชญ์ตรัสเทศนาสั่งสอนเหล่าพรหม จนสมควรแก่เวลาพระองค์จึงทรงแสดงพระวรกายให้เป็นที่ปรากฏ จากนั้นก็ทรงมีพระพุทธบรรหารประทานแก่พกาพรหมเพื่อจักทรงสั่งสอนให้เขาคลายจากทิฐิวิบัติว่า
“ ดูก่อนพกาพรหม! ตัวท่านนั้นมืดบอดด้วยถูกอวิชชาเข้าครอบงำ แต่กลับกระทำดั่งว่าตนเป็นผู้เรืองปัญญา มากด้วยปรีชาสามารถ เปรียบไปก็ไม่ต่างจากบุรุษเข็ญใจได้ผ้าใหม่มาผืนหนึ่ง ก็สำคัญว่าตนนั้นมียศแลศักดิ์เหนือผู้ใด ท่านพอจักบอกได้มั้ยว่าตัวท่านนั้นมาจากที่ใด? ไฉนจึงมาอุบัติยังพรหมโลกได้? ” ท้าวพกาพรหมเมื่อเห็นพุทธฤทธิ์ที่ทรงเนรมิตพระวรกายให้หายไปจากสายตาของตนได้เขาก็เริ่มระย่อต่อฤทธิ์ของจอมมุนีแล้ว ครั้งนี้พอถูกถามจึงมิกล้าแสดงอาการเหิมเกริมอีก ค่อยๆยกมือพนมตอบองค์ศาสดาว่า
“ ข้าแต่มหาสมณะอันที่จุติแลปฏิสนธิของข้าพระบาทนั้นตัวข้าพระบาทเองก็ยังไม่แจ้งพระพุทธเจ้าข้า หากแม้นพระองค์ทรงทราบ ขอทรงประทานคำตอบให้แก่ข้าพระบาทด้วยเถิด ” สมเด็จพระพุทธองค์ครั้นทรงเห็นว่าเขาคลายจากพยศแล้ว จึงทรงมีพระพุทธฎีกาประทานแก่พรหมทั้งหลาย ณ ที่นั้นว่า
“ สมัยหนึ่งเมื่อโลกยังว่างจากพระศาสนา ครานั้นพกาพรหมผู้นี้ได้ถือกำเนิดอยู่ในตระกูลคหบดี วันหนึ่งเขารู้สึกเบื่อหน่ายเรื่องราวทางโลกขึ้นมา ด้วยเห็นถึงความไม่เที่ยงของกาย ไหนจักต้องแก่ ไหนจักต้องเจ็บ ไหนจักต้องตาย จึงปลีกกายไปบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญตบะบารมีอยู่ในป่า จนสำเร็จจตุตถฌาน ครั้นตายจากมนุษย์ด้วยกำลังแห่งฌานที่บำเพ็ญได้ จึงนำให้เขาไปเกิดยังพรหมโลกชั้นเวหัปผลา เสวยสุขจากผลฌานอยู่ชั้นนั้นเป็นเวลาช้านาน
จนกำลังแห่งฌานเสื่อมถอยจากจุตตถฌานมาอยู่ที่ตติยฌาน จึงจุติจากชั้นเวหัปผลามาเกิดเป็นสุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่ชั้นนี้ต่ออีกเป็นเวลาช้านานเช่นกัน กระทั่งกำลังแห่งฌานเสื่อมจากตติยฌานถอยมาอยู่ที่ทุติยฌาน จึงจุติจากสุภกิณหาพรหมมาบังเกิดเป็นอาภัสสราพรหม แลสุดท้ายกำลังแห่งฌานก็ได้เสื่อมจากทุติยฌานถอยมาอยู่ที่ปฐมฌาณ เขาจึงจุติจากอาภัสสราพรหมมาเกิดเป็นมหาพรหมอยู่ในชั้นนี้ ด้วยเหตุที่ท่องเที่ยวอยู่แต่พรหมโลกมาเป็นเวลาช้านาน ดังนั้นจึงเกิดมิจฉาทิฐิคิดว่าตนเที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ แลไม่มีตาย ทั้งนี้ก็เพราะสาเหตุดังกล่าวแล ”
พกาพรหมพอได้ฟังพระพุทธฎีกาก็ให้อัศจรรย์ใจเป็นล้นพ้น รู้สึกว่าพระสมณโคดมผู้นี้ทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลกยิ่งกว่าผู้ใด ทรงมีพระปัญญาเหนือสัตว์ทั้งปวง ทรงเป็นผู้รู้เหตุรู้ผล สมควรจักต้องเทิดทูนไว้ในตำแหน่งอันสูงสุด ดังนั้นเขาจึงนมัสการพระองค์ด้วยการเปล่งวาจาว่า “ สัมมาสัมพุทธัสสะ ” คำพูดที่พกาพรหมกล่าวครั้งนั้นพระสมัยโบราณท่านรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง จึงนำมารวมไว้ในคำขึ้นต้นบูชาคุณพระรัตนตรัยหรือที่เรียกกันว่า บทบุพภาคนมัสการ อันได้แก่ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ที่เรารู้จักดีนั่นเอง! ที่มาของวลีทั้งห้านี้ แต่ละตำราก็มีการอ้างเอาไว้ไม่เหมือนกัน แต่ที่จักแสดงไว้ ณ ที่นี้ พระสมัยก่อนท่านจารึกว่าเป็นคำกล่าวของพระเจ้าห้าพระองค์ คือ :
นะโม มาจากครั้งที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคประทับยังวิมานของอาฬวกยักษ์ ครานั้นมียักษ์สองตนนามว่า สาตาคิรายักษ์ กับ เหมวตายักษ์ ยักษ์ทั้งสองมีธุระจักต้องเหาะผ่านบริเวณนั้นพอดี ขณะที่ทั้งคู่กำลังเข้าใกล้วิมานของอาฬวกยักษ์ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ จู่ๆทั้งคู่ก็ร่วงจากฟ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ทั้งสองรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง จึงกำหนดจิตดู ทันใดก็ทราบว่าเวลานี้สมเด็จพระศาสดากำลังประทับอยู่ในวิมานของอาฬวกยักษ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความนอบน้อมต่อพระองค์ พวกเขาจึงเปล่งวาจาออกมาพร้อมกันว่า “ นะโม ” คำกล่าวของยักษ์ทั้งสองนี้พระในยุคโบราณท่านรู้สึกซาบซึ้ง จึงนำมาเป็นวลีแรกของคำขึ้นต้นบทบุพภาคนมัสการ.
ตัสสะ มาจากเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ครานั้นมีอสูรตนหนึ่งนามว่า อสุรินทราหู เป็นผู้มีกายสูงใหญ่กว่าเทวดาใดๆ เขามีจิตปรารถนาอยากจักเห็นสมเด็จพระผู้มีพระภาคสักครั้ง เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าทรงเป็นผู้เลิศกว่าใครในหล้า แต่พอมาคิดว่าตนนั้นมีกายที่ใหญ่โตผิดจากเทพทั่วไป การจะเข้าไปก้มมองพระองค์ที่เป็นมนุษย์ตัวกะจ้อยร่อยเห็นเป็นการมิบังควร ระหว่างทางมาสู่สำนักแห่งพระโลกุตรมาจารย์เขาก็เฝ้ารำพึงว่าจักทำอย่างไรดีหนอ จึงจักไม่เป็นการลบหลู่ต่อพระองค์สมเด็จพระศาสดาทรงทราบถึงความกังวลใจของอสูรตนนี้จึงตรัสให้พระอานนท์จัดพระแท่นบรรทมใหม่ แล้วพระองค์ก็ทรงเนรมิตพระวรกายในพุทธลักษณะสีหไสยาสน์มีขนาดใหญ่ปานว่าแทบจักถึงท้องฟ้าก็ว่าได้ พออสุริน-ทราหูมาถึงแทนที่เขาจักต้องก้มมองพระองค์ ที่ไหนได้กลับต้องแหงนคอตั้งบ่าทอดทัศนาแทน เมื่อเห็นถึงพระพุทธานุภาพอันประมาณมิได้ของสมเด็จพระทศพล เขาก็เกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างท่วมท้น จนถึงกับเปล่งวาจาว่า “ ตัสสะ ” คำกล่าวของอสุรินทราหูนี้พระในยุคโบราณท่านก็รู้สึกทราบซึ้งเช่นกัน จึงนำมาเป็นวลีที่สองของบทบุพภาคนมัสการ.
ภะคะวะโต มาจากคราวที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงเสร็จจากการเสวยธรรมปีติเป็นเวลา ๔๙ วัน สายวันนั้นมีพ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะผ่านทางมา ทั้งสองพอเห็นพระองค์ประทับอยู่ ณโคนต้น เกดก็เกิดศรัทธา จึงนำก้อนสตูข้าวแลสตูผงมาถวาย เพลานั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคมิได้มีภาชนะใดจักทรงใช้รับภัตตาหาร จึงทรงดำริขึ้นว่า“จักเคยมีไหมหนอที่พระพุทธเจ้ารับบิณฑบาตด้วยมือทั้งสอง?” ทันทีที่ทรงมีพระพุทธดำริดังนี้ ท้าวมหาราชทั้งสี่ซึ่งต่างทราบดีในพระพุทธอัธยาศัย แต่ละองค์ต่างก็ไม่รอช้า รีบนำเอาบาตรของตนเหาะมาจากทิศทั้งสี่ทันทีทันใด พอมาถึงต่างก็ยื่นบาตรของตนให้กับจอมมุนีเพื่อทรงใช้รับภัตตาหารแทนพระหัตถ์ทั้งสอง สมเด็จพระศาสดาเมื่อทรงเห็นพวกเขาต่างยื่นบาตรมาให้ เพื่อจักทรงรักษาศรัทธาพวกเขาไว้ จึงทรงยื่นพระหัตถ์ออกไปรับเอาบาตรทั้งสี่นั้นไว้ จากนั้นก็ทรงอธิษฐานจิตผสานให้บาตรสี่ใบรวมเป็นใบเดียว ยังความปลาบปลื้มใจให้กับท้าวมหาราชทั้งสี่เป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับเปล่งวาจาออกมาพร้อมกันว่า “ ภะคะวะโต ” คำกล่าวของท้าวจตุโลกบาลนี้พระในยุคโบราณท่านก็รู้สึกซาบซึ้งเช่นกัน จึงนำมาเป็นวลีที่สามของบทบุพภาคนมัสการ.
อะระหะโต มาจากเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ถ้ำอินทสาลเทือกเขาเวทยิก ติดกับหมู่บ้านอัมพสัณฑคาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงราชคฤห์ ครานั้นท้าวสักกะมีความสงสัยในข้อธรรมบางประการจึงเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาทูลถามปัญหากับพระองค์ สมเด็จพระชินสีห์ได้ทรงตอบข้อซักถามของจอมเทพผู้เลื่องชื่อจนหมดข้อสงสัย กระทั่งท้าวเธอทรงเกิดดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ณ ที่นั้นเอง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันประมาณมิได้ จอมเทพพระองค์นี้จึงตรัสสรรเสริญพระศาสดาว่า “ อะระหะโต ” คำกล่าวของเทพราชันพระในยุคโบราณท่านก็รู้สึกซาบซึ้งเช่นกัน จึงนำมาเป็นวลีที่สี่ของบทบุพภาคนมัสการ.
ส่วน สัมมาสัมพุทธัสสะ อันเป็นวลีที่ห้าก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าแล้ว คือพกาพรหมเป็นผู้เอ่ย ดังนั้นเมื่อรวมวลีทั้งห้าเข้าด้วยกันคือ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ก็จักได้บทบุพภาคนมัสการที่แปลว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ที่เราใช้เป็นคำขึ้นต้นก่อนจักสวดมนต์ หรือก่อนจักทำพิธีใดๆทางพุทธศาสนานั่นเอง
สืบ ธรรมไทย
ที่มา : พุทธชาดก / โลกทีปนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)