นกกระยางเจ้าเล่ห์ (พกชาดก)

๏ ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ล่อลวงถือเอาผ้าจีวรรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า ...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ที่สระน้ำแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใหญ่มากนัก มีปลาอาศัยอยู่มาก ในฤดูร้อน น้ำในสระจะลดน้อยลงจนเกือบแห้งขอด ทำให้ปลาอยู่อย่างลำบาก ในที่ไม่ไกลจากสระนี้ มีนกกระยางอยู่ตัวหนึ่ง เห็นปลามีอยู่จำนวนมาก จึงคิดหาอุบายลวงกินปลาขึ้นมาได้อย่างหนึ่งแล้วไปยืนอยู่ที่ริมสระน้ำนั้น ทำทีเป็นเศร้าสร้อยหงอยเหงา ยืนเซื่องซึมอยู่ ปลาเห็นนกกระยางเป็นเช่นนั้นจึงถามว่า

" ท่านเป็นอะไร ถึงดูซึมเศร้าไป "

นกกระยางจึงบอกว่า

" เรากำลังสลดใจ สงสารพวกท่าน ที่น้ำในสระนี้มีน้อย มีที่เที่ยวน้อยและความร้อนมีมาก ในที่ไม่ไกลจากนี้ มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่งทั้งลึก มีน้ำมากและมีดอกบัวเต็มสระ ถ้าพวกท่านไว้ใจเราๆ จะอาสาพาพวกท่านไปด้วยจงอยปาก คาบพวกท่านไปทีละตัว "

ปลากล่าวว่า

" เจ้านาย ไม่เคยได้ยินว่า นกกระยางคิดดีต่อปลาเลย ท่านต้องการกินปลาทีละตัวมากกว่า พวกเราไม่เชื่อท่าน "

นกกระยางกล่าวว่า

" ถ้าพวกท่านไม่เชื่อเรา พวกเจ้าจงส่งปลาตัวหนึ่งไปดูสระน้ำพร้อมกับเราซิ "

ปลาจึงคัดเลือกได้ปลาดำใหญ่ตัวหนึ่ง ที่มีความสามารถทั้งทางน้ำและทางบก เป็นตัวแทนไปดูสระน้ำนั้นกับนกกระยาง นกกระยางได้นำปลาตัวนั้นไปชมสระน้ำนั้นบินวน ๓ รอบ แล้วนำกลับมาปล่อยยังสระเดิม ปลานั้นได้พรรณนาถึงสระน้ำที่ไปเห็นมาให้ปลาทั้งหลายฟัง พวกปลาจึงตกลงใจจะไปอยู่ที่สระใหม่ตามคำแนะนำของนกกระยางนั้น

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นกกระยางก็คาบปลาทีละตัวไปและกินเสียที่ต้นไม้กุ่มใกล้สระนั้น จนปลาหมดสระ ในสระนั้นยังมีปูใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง นกกระยางอยากจะกินปูนั้น จึงไปใช้อุบายนั้นอีก ส่วนปูฉลาดกลับเสนอว่า เนื่องจากปูตัวใหญ่ เกรงว่านกจะคาบไปไม่ไหว จึงขอใช้ก้ามปูคีบคอนกไปแทนก็แล้วกัน ด้วยอำนาจแห่งความหิว ทำให้นกกระยางตกลงตามนั้น พอบินไปถึงต้นกุ่มนกกระยางก็ไปจับที่ต้นไม้นั้นหวังจะกินปู

ปูเห็นก้างปลาที่โคนต้นกุ่มนั้น กองอยู่อย่างมากมาย ทำให้ทราบความจริง จึงสั่งให้นกกระยางบินกลับไปส่งที่สระตามเดิม นกกระยางจะไม่ไป ปูจึงหนีบคอนกกระยางให้แน่นขึ้น พร้อมกับขู่จะหนีบคอนกให้ขาด นกกระยางกลัวตายจึงบินกลับไปที่สระน้ำนั้น พอบินไปถึงกลางสระน้ำ ปูจึงตัดสินใจหนีบคอนกกระยางขาดตายกลางสระนั่นเอง

รุกขเทวดา เห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

" บุคคล ผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น จะพบความสุขอยู่ได้ไม่นาน
เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้
เหมือนนกกระยางถูกปูหนีบคอตาย ฉะนั้น "



นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ไม่ควรใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น เพราะจะประสบความพินาศในภายหลัง

    ๛

: หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

 9,813 
DT0005 DhammathaiTeam

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย