ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

 wincha    13 มี.ค. 2555

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรพวกเธอทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรประพฤติส่วนที่สุด ๒ ประการคือ

การเสวยสุขในกามคุณอารมณ์ เป็นข้อประพฤติของชาวบ้านเป็นธรรมเลว เป็นธรรมของปุถุชน มิใช่ธรรมของพระอริยะ เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การเบียบเบียนตนให้ลำบาก (ทรมานตน) เป็นทุกข์ มิใช่ธรรมของพระอริยะ เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

ดูกรพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้ทางสายกลาง ที่ไม่เข้าถึงส่วนที่สุด ๒ ประการนั้นแล้ว ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความยิ่งรู้ เพื่อความรู้แจ้ง และเพื่อดับทุกข์ ทางสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ การกล่าวชอบ ๑ การกระทำชอบ ๑ การเลี้ยงชีพชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ และความตั้งมั่นชอบ ๑

ดูกรพวกเธอทั้งหลาย ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ตถาคตตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ ทุกขอริยสัจ ๑ ทุกขสมุทยอริยสัจ ๑ ทุกขนิโรธอริยสัจ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑

ทุกขอริยสัจ ได้แก่ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์

ทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันก่อให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในภาพและอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ความผูกพันในกามคุณ อารมณ์ ภวตัณหา ความผูกพันที่มีความเห็นผิดว่าภพเที่ยง วิภวตัณหา ความผูกพันที่มีความเห็นผิดว่าภพขาดสูญ

ทุกขนิโรธอริยสัจ ได้แก่ ความดับสนิทซึ่งตัณหา ความสละตัณหา ความปล่อยตัณหา ความวางตัณหา ความไม่พัวพันตัณหานั้นทั้งหมด

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ มรรคอันเป็นทางดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ การกล่าวชอบ ๑ การกระทำชอบ ๑ การเลี้ยงชีพชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ และความตั้งมั่นชอบ ๑

ดูกรพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้วแก่ตถาคต ในธรรมไม่เคยสดับมาก่อนว่า นี้คือ ทุกขอริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ อันตถาคตได้กำหนดรู้แล้ว

ดูกรพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้วแก่ตถาคต ในธรรมไม่เคยสดับมาก่อนว่า นี้คือ ทุกขสมุทยอริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมที่ควรละ อันตถาคตได้ละแล้ว

ดูกรพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้วแก่ตถาคต ในธรรมไม่เคยสดับมาก่อนว่า นี้คือ ทุกขนิโรธอริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง อันตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว

ดูกรพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้วแก่ตถาคต ในธรรมไม่เคยสดับมาก่อนว่า นี้คือ ทุกขนิโรธมินีปฏิปทาอริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมที่ควรให้เจริญ อันตถาคตได้เจริญแล้ว

พวกเธอทั้งหลาย ปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ของตถาคตหมดจดดีแล้ว ตถาคตจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในเหล่าสัตว์มีสมณพราหมณ์พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ ชาตินี้ของตถาคตเป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่มิได้มีอีกต่อไป

ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดา ได้ป่าวประกาศว่า ท่านผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี อันเป็นธรรมที่สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดในโลกจะปฏิวัติมิได้

เทวดาชั้น จาตุมหาราช ได้ยินเสียงของภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป ฯลฯ

เทวดาชั้น ดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว....ฯลฯ

เทวดาชั้น ยามา ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว .....ฯลฯ

เทวดาชั้น ดุสิต ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นยามาแล้ว.........ฯลฯ

เทวดาชั้น นิมมานรดี ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นดุสิตแล้ว ........ฯลฯ

เทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นนิมมานรดีแล้ว........ฯลฯ

เทวดาที่นับเนื่องในหมู่ พรหม ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือผู้ใดในโลกจะปฏิวัติมิได้

ชั่วขณะกาลครู่หนึ่งนั้น เสียงแพร่สะพัดขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้ ทั้งหมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน แสงสว่างอันโชติช่วงหาประมาณมิได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย

ในบรรดา ปัญจวัคคีย์ เหล่านั้น เมื่อท่านโกณฑัญญะส่งญาณไปตามกระแสของพระธรรมเทศนา เวลาจบพระสูตรได้ดำรงอยู่ใน พระโสดาปัตติผล พร้อมกับ พรหม ๑๘ โกฏิ

ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า

อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ

แปลว่า ท่านผู้เจริญ บัดนี้โกณฑัญญะได้รู้แล้ว

ด้วยเหตุนี้ อัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นสมญานามของพระโกณฑัญญะสืบมา   


ที่มา : http://www.larnbuddhism.com/grammathan/thammajak.html

DT012523

wincha

13 มี.ค. 2555
 เปิดอ่านหน้านี้  5293 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย