หนักแน่นในเวลาควรหนักแน่น อ่อนโยนในเวลาสมควรอ่อนโยน ฝึกอย่างนี้ยากมาก แต่สมควรฝึกอย่างยิ่ง



ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ”

ในโอวาทนี้ พระพุทธองค์สรุปหลักสำคัญๆ ของพระพุทธศาสนาให้พระอรหันต์กลุ่ม ๑,๒๕๐ รูปฟัง เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้เอาไปใช้เป็นคู่มือระหว่างการจาริกเผยแผ่พระธรรมวินัยของพระองค์

อีกตอนหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเริ่มดัวยหลัก

“การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย”

ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การไม่เบียดเบียน ไม่ว่าด้วยกาย หรือวาจา คือเอกลักษณ์และเครื่องสังเกตของนักบวชในพระพุทธศาสนา แม้แต่ฆราวาสก็ควรถือกันว่า ชาวพุทธใช้ความรุนแรงเพื่อชนะการถกเถียงกันในเรื่องศาสนาเมื่อไหร่ เป็นผู้หันหลังให้พระพุทธเจ้าอย่างน่าละอายเมื่อนั้น

ความรุนแรงไม่ใช่เครื่องหมายแห่งความจริงใจ
ความรุนแรงคือเครื่องหมายของกิเลส

การแสดงออกด้วยอารมณ์ง่ายมาก ใครทำได้ พาลทำได้ แต่พระพุทธศาสนาไม่สอนให้เราเป็นพาล ตรงกันข้ามธรรมะสอนวิถีของบัณฑิต ผู้พ้นจากความเป็นพาล ผู้ที่กำลังฝึกตนตามหลักของพระพุทธศาสนา จึงพยายามแสดงออกด้วยจิตที่ไม่ลำเอียง มีสติ ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา มีความหวังดีต่อทุกฝ่าย อดทน หนักแน่นในเวลาควรหนักแน่น อ่อนโยนในเวลาสมควรอ่อนโยน ฝึกอย่างนี้ยากมาก แต่ควรฝึกอย่างยิ่ง

พระอาจารย์ชยสาโร

-------------------------
ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชยสาโร/
Dhamma by Ajahn Jayasaro

3,123







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย