ศีลธรรมหรือสัจธรรม นั้นไม่ใช่อันเดียวกันแต่มันไม่แยกจากกันโดยเด็ดขาดได้ เรื่องโลกกับเรื่องธรรม ไม่ใช่อย่างเดียวกันก็จริง แต่ไม่อาจแยกกันได้เลย




คนเกิดมาในโลกนี้เหมือนกับการเดินทาง เดินทางในทะเลด้วยซ้ำไป มันต้องประสบอุปสรรคมาก หรืออันตรายมาก จนกว่าจะถึงเกาะที่เป็นที่พึ่งที่ถาวร หรือกว่าจนกว่าจะเลิกหยุดการเดินทางเสียได้ จะเป็นชีวิตแบบไหนมันก็มีแต่การเดินทางทั้งนั้น มันมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง และเราไปถึงจุดนั้นไม่ได้ เขาเรียกว่ายังไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ

แต่เมื่อกล่าวในหลักพระพุทธศาสนาแล้ว เราหมายถึงการที่ได้ไปถึง "สภาพที่จิตใจจะไม่มีความทุกข์เลยอีกต่อไป" ก็เป็นอันว่าถึงที่สุดไม่มียิ่งไปกว่านั้นแล้ว ใช้คำสมมติเรียกว่าอยู่ "เหนือโลก" ก็คือเหนือทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง

เนื่องจากเราอยู่คนเดียวไม่ได้ในโลก ฉะนั้นจึงต้องมีระเบียบระบอบ สำหรับประพฤติปฏิบัติ ทั้งที่เป็นไป "เพื่ออยู่กันมาก ๆ" นั้นส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "ศีลธรรม"

เรื่องมีระเบียบ คือ ระบอบปฎิบัติ "เฉพาะตัว" โดยเฉพาะที่จะให้ไปได้สูง นี่ก็อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "สัจธรรม"

ฉะนั้นในเรื่องระบอบของศีลธรรมจึงกว้าง โดยเห็นแก่ผู้อื่นด้วย หลักปฏิบัติ มันจึงมีเรื่องนึกถึงผู้อื่น คือต้องนึกถึงผู้อื่น และก็ข่มใจ บังคับตัวเองให้กระทำสิ่งที่ควรกระทำ หรือต้องกระทำ ฉะนั้นส่วนมากเรื่องศีลธรรมทั้งหลายจึงเป็นเรื่องการสำรวม การสังวร การระวัง ว่าข้อปฏิบัติมีอยู่อย่างไร หรือเห็นแก่เพื่อนมนุษย์แล้วจะต้องทำอย่างไร เรียกว่ามีความสำรวมสังวรเป็นส่วนใหญ่

ส่วนเรื่องสัจธรรมนั้น เป็นเรื่องไกลไปกว่านั้น สูงไปกว่านั้น เป็นเรื่องต้องใช้สติปัญญาและการปฎิบัติทางจิตทางใจ ในภายในล้วน ๆ เป็นส่วนใหญ่ มันจึงไปไกลลึกมากกว่า สูงกว่า มันเป็นคู่กันก็จริง แต่มันมุ่งหมายกันคนละทาง ในทางหนึ่งสำหรับไปโดดเดี่ยวไปในสู่ที่สูงกว่า จึงอยู่เหนือความทุกข์โดยสิ้นเชิง ส่วนระบอบศีลธรรมเหมือนกับรอไปพร้อม ๆ กัน...

เกี่ยวกับโลกก็คือพวกสังคมพวกศิลธรรม ที่เกี่ยวกับธรรมะก็คือเรื่องที่ไปมรรคผลนิพพาน แต่ว่าทั้งสองเรื่องต้องพร้อมกันไป ไม่เสียทั้งสองฝ่าย...

นี่เรียกว่าศิลธรรมหรือสัจธรรมนั้นไม่ใช่อันเดียวกันแต่มันไม่แยกจากกันโดยเด็ดขาดได้ เรื่องโลกกับเรื่องธรรมไม่ใช่อย่างเดียวกันก็จริงแต่ไม่อาจจะแยกกันได้เลย เพราะว่าโลกก็ต้องอาศัยธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก ธรรมะก็อาศัยโลกเพราะว่ามีโลกเป็นที่ตั้งอยู่หรือปรากฏ โดยหลักนี้ก็หมายความว่าเราท่านทั้งหลายทุกคนจะต้องเกี่ยวข้องกันทั้งโลกและธรรม

#การทำงานคือการปฏิบัติธรรม

...ในวิชาอื่น ๆ ที่เป็นวิชาโลกเหล่านั้นก็ยังต้องอาศัยธรรม ทั้งที่เป็นศีลธรรมและสัจธรรม อย่างเราจะใช้วิชาอาชีพอื่น ๆ ก็หมายความว่าเราก็ต้องเป็นอยู่ด้วยธรรม มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวธรรมะทั้งนั้นที่จะใช้มัน ที่จะปฏิบัติงานในออฟฟิศหรือจะเป็นงานอื่นนอกจากงานในออฟฟิศ หรืออาชีพอย่างอื่นก็ตาม เราก็ต้องใช้ธรรมะใช้ในการปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งนั้น จนกระทั่งให้หน้าที่การทำงานของเรา การปฎิบัติหน้าที่การงานของเราเจืออยู่ด้วยธรรมะเสมอไป

หมายความว่าในการทำการงานนั้นจะต้องมีปัญญา มีสติมีสัมปชัญญะเป็นอย่างน้อย นี่มันเป็นธรรมะใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ปัญญา สติ สัมปชัญญะนี่ ทีนี้ต้องมีความจริงใจ ความอดกลั้น อดทน ความเฉลียวฉลาด อย่างอื่นอีกมาก มีสัจจะ ความจริงใจ ทมะการบังคับตัวเอง ขันติความอดกลั้นอดทนรอได้คอยได้ จาคะสิ่งที่เป็นข้าศึกศัตรูออกไปออกไปอยู่เป็นประจำวันจากใจของเรา

แล้วทำไมชีวิตนี้จึงจะไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในตัวมันเอง

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ชื่อเรื่อง/ชุด ครั้งที่ ๑๐ ธรรมะกับตุลาการ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๔   




 2,698 


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย