ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ซึ่งไกลจากกิเลส
ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

สาธุ สาธุ สาธุ
[๑๖๑] ดูกรอัมพัฏฐะ ถึงเราก็กล่าวเช่นนี้ว่า
กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร
ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
ในหมู่เทวดาและมนุษย์.

เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
ปุจฉา..??
จรณะ คืออะไร
********************
"จรณะ" คือ ปฏิปทา ข้อปฏิบัติ
ประพฤติวัตร ฝึกตน พ้นตัณหา
สิบห้าประการ เพื่อเป็นทาง สู่วิชชา
น้อมสัทธา นำพา มรรคางาม
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 1 / หิ่งห้อยน้อย / 29 ม.ค. 2554 เวลา 02:20 น.
.......
[๑๖๓] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ จรณะนั้นเป็นไฉน วิชชานั้นเป็นไฉนเล่า.
**********************
ดูกรมหานาม
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้ประมาณในโภชนะ
ประกอบความเพียรเครื่องตื่น
ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ
เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุข
ในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 2 / หิ่งห้อยน้อย / 29 ม.ค. 2554 เวลา 04:59 น.
จรณสมฺปนฺโน : ๑. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์
มีปาติโมกข์อันสมบูรณ์ อยู่เถิด
จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์
ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร อยู่เถิด
จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด
** ศีล ปาติโมกข์ **
ศีล คือ ข้อต้องสำรวม มั่นระวัง
มิให้พลั้ง ทั้งกาย ถ้อย ร้อยรังสรรค์
สำรวมกาย วาจา พาสุขพลัน
เพียรบากบั่น ถ้าละเมิด เกิดอกุศลกรรม
ปาติโมกข์ คือประมวล สิกขาบท
ภิกษุจด และจำ ย้ำอุปถัมภ์
สองร้อยยี่สิบเจ็ด ของภิกษุ ที่ต้องทำ
สามร้อยสิบเอ็ด งามล้ำ ของภิกษุณี
สิบประการ ของสามเณร ต้องประพฤติไว้
แปดประการไซร้ อุบาสก อุบาสิกา พาเสริมศรี
ห้าประการ ของสาธุชน หมู่คนดี
ปาฏิโมกข์นี้ การสำรวม กาย วาจา
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 3 / หิ่งห้อยน้อย / 30 ม.ค. 2554 เวลา 00:15 น.
** อาจาระ โคจร **
อาจาระ คือ ความประพฤติดี มีมารยาท
มิได้ขาด จากจิต ปลิดมิจฉา
งามทั้งกาย มารยาท และวาจา
สมคุณค่า พุทธบริษัท ขจัดธุลี
ทั้งบุคคล และสถานที่ ที่เหมาะสม
คามนิคม ควรใกล้ ได้ศักดิ์ศรี
เรียกกันว่า โคจร จำให้ดี
ทั้ง อาจาระ โคจร นี้ พึงสังวร
ผู้มีศีล สีลา ปาฏิโมกข์
ปรารถนาไกล ความโศก วิโยคถอน
ได้มองเห็น วัฏฏะภัย ใคร่หลีกจร
นี่คือศีล สังวร แห่งจรณธรรม
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 4 / หิ่งห้อยน้อย / 30 ม.ค. 2554 เวลา 00:18 น.
จรณสมฺปนฺโน : ๒. เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
อินทรีย์สังวร หรือการสำรวมอินทรีย์
อินทรีย์คือ ความเป็นใหญ่ หรือสภาพที่เป็นใหญ่ หรือเจ้าการในการครอบงำ
การสำรวมอินทรีย์ หรือ อินทรีย์สังวร คือการสำรวมในอายตนะภายในทั้ง ๖
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ
อินทรีย์สังวร เป็น ๑ ใน ๓ ของ อปัณณกปฏปทา คือการปฏิบัติที่ไม่ผิด
ทวาร คือ ประตู หรือช่อง ในที่นี้หมายถึง ทางรับรู้อารมณ์
ทวารในอินทรีย์ หมายถึง ทางรับรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์
ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม
อันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ .....
ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ฯลฯ .....
ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ .....
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ .....
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต โดยอนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์
ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม
อันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 5 / หิ่งห้อยน้อย / 30 ม.ค. 2554 เวลา 21:03 น.
** อินทรีย์ **
ประการสอง สำรวมอินทรีย์ไว้
ในทุกลม หายใจ ไม่แปรผัน
ประคองไว้ ในจินตนา ทุกวารวัน
จิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไป ให้ห่างตน
อินทรีย์ หรือ นั่นคือ ความเป็นใหญ่
เข้าใจไว้ เพื่อให้ ไม่สับสน
ทำหน้าที่ กิจการ งานของตน
จึงมิพ้น อายตนะ ในกายเรา
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 6 / หิ่งห้อยน้อย / 1 ก.พ. 2554 เวลา 04:44 น.
** อินทรีย์ ๖ **
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ที่เป็นใหญ่ เกินคิด จึ่งชิดเขลา
ตาเห็นรูป ก็ปรุง ฟุ้งว่า เรา
นั่นของเขา นี่ของเรา กล่าวตู่ไป
หูยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นชิมรส
บ้างรันทด บ้างสดชื่น มิผลักไส
กายสัมผัส ชอบชื่นจิต สนิทใน
คืออินทรีย์ ที่เป็นใหญ่ ตามนัยธรรม
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 7 / หิ่งห้อยน้อย / 1 ก.พ. 2554 เวลา 04:46 น.
หนึ่งในสาม อปัณณกปฏิปทา
ที่สองใน จรณะสิบห้า พาสู่สัมม์
คุ้มครองใน ทวารอินทรีย์ ที่ควรทำ
จิตจะพ้น ความระกำ สู่สัมมา
เช่นเมื่อตา เห็นรูป จมูกได้กลิ่น
หูได้ยิน กายสัมผัส ลิ้นลิ้มรสา
ไม่สนใจ ในนิมิต ที่รับมา
อนุพยัญชนะ นานา ไม่ปรุงไป
แม้จิตไม่ สำรวมแล้ว มิแคล้วพลาด
สู่ความประมาท อภิสังขาร พาลยิ่งใหญ่
ความอยากได้ อภิชฌา มาทันใด
ความยินร้าย โทมนัสสา มาครอบพลัน
นี่คือด่าน ประการที่สอง ของจรณะ
ที่จะละ ความยินดี ที่รังสรรค์
ความยินร้าย ก็จะละ ผละได้พลัน
ร่วมรังสรรค์ ญาณทัสสนะ ละกามคุณ
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 8 / หิ่งห้อยน้อย / 2 ก.พ. 2554 เวลา 00:16 น.
[๙๕] ดูกรพราหมณ์
ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่
เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
...สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว
ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า
ดูกรภิกษุ
มาเถิด เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ อันมีการเห็นรูปเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์เถิด
เธอได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ อันมีการได้ยินเสียงเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาโสตินทรีย์ถึงความสำรวมในโสตินทรีย์เถิด
เธอดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ อันมีการได้ดมกลิ่นเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาฆานินทรีย์ถึงความสำรวมในฆานินทรีย์เถิด
เธอลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ อันมีการได้ลิ้มรสเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษาชิวหินทรีย์ถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์เถิด
เธอถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ อันมีการได้สัมผัสเป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษากายินทรีย์ถึงความสำรวมในกายินทรีย์เถิด
เธอรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว
จงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ อันมีการรู้ธรรมารมณ์เป็นเหตุ
ซึ่งบุคคลผู้ไม่สำรวมอยู่ พึงถูกอกุศลธรรมอันลามกคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์เถิด ฯ
เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
# 9 / หิ่งห้อยน้อย / 2 ก.พ. 2554 เวลา 00:19 น.