ธรรม ๗ ประการ

 เฟื่องฟ้า   31 ส.ค. 2554


 ธรรม ๗ ประการ

อ่านพระไตรฯ ครั้งใด ได้แง่คิด
นิ่งสนิท ผ่อนคลาย หายสงสัย
ธรรมทั้งเจ็ด ดีล้วน ควรใส่ใจ
พุทธองค์ ทรงบ่งไว้ ได้ชัดเจน

ภิกษุใด ประพฤติธรรม ล้ำทั้งเจ็ด
ดุจดั่งเพชร ส่องแสงสุก ทุกคนเห็น
คนเคารพ ไม่เว้นแต่ แม้ศิษย์เณร
มิโอนเอน ง่อนแง่น เนื่องแก่นดี

มีอะไร บ้างหนอ จะขอกล่าว
แค่คร่าวๆ เขียนยาวไป ก็ใช่ที่
เอาอย่างนี้ วานหิ่งห้อย น้อยเขียนที
ธรรมทั้งเจ็ด ที่ว่าดี มีอะไร

ขอบอกใบ้ ให้นิดหนึ่ง พึงตระหนัก
ทำอย่างไร คนสมัคร ใจรักใคร่
ทั้งเคารพ นับถือเคร่ง และเกรงใจ
ตอบได้ไหม แม่หิ่งห้อย น้อยคนดี ...เฟื่องฟ้า

มาทบทวนธรรมหน่อยจ๊ะแม่หิ่งห้อยน้อย 





ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
                     ผู้ซึ่งไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง





๐ ธรรมที่ว่า นี่หนา คืออะไร
เพราะเฟื่องฟ้า ตั้งไว้ เป็นปุจฉา
องค์ธรรมที่ มีเจ็ดองค์ ลงธัมมา
มีอยู่มาก หลากธัมมา น่าลองทาย

๐ บุพนิมิต อริยทรัพย์ หรือโพชฌงค์
ธรรมชี้ลง เจ็ดองค์ หากขยาย
แต่เฟื่องฟ้า ประทับใจ ไม่มีคลาย
ควรจะเป็น สหาย เป็นกัลยาฯ

๐ ธรรมเจ็ดอย่าง ที่เห็น เป็นนิมิต
ควรกระทำ ให้สถิต ใช่ปริศนา
ด้วย ปิโย น่ารัก ประจักษ์ตา
น่าเคารพ น่าสัทธา ด้วยทรงธรรม

๐ ฉลาดใน ถ้อยวาจา สาระพัด
มิ ตระบัด สัจจไซร้ ให้อุปถัมภ์
จิตหนักแน่น อดทน ต่อถ้อยคำ
ไม่ชักนำ ไปใน สิ่งไม่ดี

๐ ถ้อยวาจา พาที่ ที่ลึกซึ้ง
ล้วนคำนึง ประโยชน์ตน ดลสู่ศรี
อีกประโยชน์ ต่อผู้อื่น ดื่นมากมี
เจ็ดธรรมที่ เฟื่องฟ้า ปุจฉามา



[๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการควรเสพ
ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่

ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ ๑
เป็นที่เคารพ ๑
เป็นผู้ควรสรรเสริญ ๑
เป็นผู้ฉลาดพูด ๑
เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑
พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ๑
ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล
ควรเสพ ควรคบเป็นมิตร
ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ฯ


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








ทรัพย์ ๗ อย่าง

๐ ถ้อยวาจา พาที่ ที่ลึกซึ้ง
ล้วนคำนึง ประโยชน์ตน ดลสู่ศรี
อีกประโยชน์ ต่อผู้อื่น ดื่นมากมี
เจ็ดธรรมที่ เฟื่องฟ้า ปุจฉามา…หิ่งห้อยน้อย


ธรรมเจ็ดอย่าง ที่แม่เอ่ย เผยให้เห็น
เป็นธรรมเด่น ล้วนๆ ควรศึกษา
ขอขอบคุณ ที่แม่ฉัน นั้นเมตตา
รู้ไหมว่า คำตอบนี้ ดีจริงๆ

ยังมีอีก สูตรสำเร็จ ทรัพย์เจ็ดอย่าง
ถ้าแม่ว่าง กรุณา อย่าเฉยนิ่ง
ฉันชอบแม่ ที่แม่ใช้ พระไตรฯอิง
เพราะสิ่งนั้น สำคัญยิ่ง กว่าสิ่งใด

อันประโยชน์ ผู้ใด ได้กันแน่
ที่พระธรรม ถูกเผยแผ่ แม่รู้ไหม
ผู้ปุจฉา วิสัจชนา หรือว่าใคร
แล้วผู้อ่าน ผ่านเว็บไซต์ ได้ไหมบุญ...เฟื่องฟ้า

สวัสดีกัลยาณมิตรทุกท่าน ขอบคุณแม่หิ่งห้อยน้อย







ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
                     ผู้ซึ่งไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง




๐ เมื่อมีกัลยาณมิตร คอยชิดไกล
ช่วยผลักไส อธรรมให้ ไม่อุปถัมภ์
จึงเข้ามา ย้อนดูตน ดลกระทำ
แล้วน้อมนำ ที่เป็นธรรม เข้าสู่ตน

๐ ซึ่งจะช่วย อำนวย อวย ชีวิต
ให้สถิต สนิทธรรม นำกุศล
คือเพียรสร้าง อริยทรัพย์ จับจิตตน
ก่อกุศล ดลกำเนิด เกิดในใจ

๐ ศีลนำพา ให้ไปสู่ สุคติ
พึงดำริ สำรวมกาย วาจาไซร้
ศีลจะนำ โภคทรัพย์ มากมายให้
เป็นบันได พาดไป ในนิพพาน

๐ ศีลเป็นองค์ หนึ่งใน อริยทรัพย์
ที่ควรรับ มาบำรุง มุ่งผสาน
โภคทรัพย์ ย่อมใช้หมด ไปตามกาล
แต่วายปราณ อริยทรัพย์ กลับติดไป

๐ มีสัทธามั่น ใน พระไตรรัตน์
มุ่งกำจัด ความเขลา เงาคุณไสย ฯ
ก้าวเข้าสู่ พุทธะ ละผองภัย
สำรวมกาย วาจา ใจ และสัทธา

๐มี หิริละอาย การทำชั่ว
ไม่เกลือกกลั้ว กลัวบาป ที่หยาบช้า
โอตัปปะ ละชั่ว ด้วยเจตนา
เพียรสิกขา พาหุสัจจาน่าชื่นชม

๐ เสียสละ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ท่าน
มุ่งทำทาน จาคะยิ่ง อิ่มสุขสม
เกิดปัญญาเท่าทัน ในอารมณ์
หลุดจากตม ด้วยอริยทรัพย์ นับอนันต์

๐ เป็นทรัพย์เลิศ มิมี ใครชิงได้
ติดตัวไป ทุกชาติ ภพ สบสุขสันต์
อริยทรัพท์ ทั้งเจ็ด มีค่าอนันต์
มาสะสม บ่มเพราะมั่น ในจินตนา

เจริญในธรรม เจ้าค่ะ









ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
                     ผู้ซึ่งไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง




[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ทรัพย์ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ทรัพย์คือ
ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือศรัทธาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า
แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือศีลเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือหิริเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือโอตตัปปะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่าทรัพย์คือโอตตัปปะ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือสุตะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก
ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือจาคะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่
อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ
ยินดีในทานและการจำแนกทาน
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทรัพย์คือปัญญาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ
เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่าทรัพย์คือปัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ ๗ ประการนี้แล ฯ

ทรัพย์ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะและปัญญาเป็นที่ ๗
ทรัพย์เหล่านี้มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม ฯ


จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต




เจริญในธรรม เจ้าค่ะ









อนุโมทนาบุญ สาธุ




ชีวิตมนุษย์..เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง

ทรัพย์เจ็ดอย่าง กระจ่างจ้า ดั่งฟ้าเปิด
แสนดีเลิศ ประเสริฐแท้ แม่ว่าไหม
ใครได้อ่าน ก็ย่อม พร้อมเข้าใจ
เหมือนน้ำใส ทำให้เห็น เด่นธรรมา

ชีวิตคน เปรียบดั่ง ดังน้ำค้าง
ค่อยๆจาง แห้งหายไป ในไม่ช้า
แค่แดดผ่าน ก็มลาย ปลายหญ้าคา
นี่แหละหนา เราควรเคร่ง เร่งสร้างบุญ

ทุกวันนี้ ใครเตรียมพร้อม ย่อมได้เปรียบ
เดินทางเรียบ สู่จุดหมาย มิวายวุ่น
แม้หากใคร ปัญญาดี เหมือนมีทุน
ช่วยนำหนุน เสริมส่ง ตรงบั้นปลาย

ใครจาคะ ละตระหนี่ เหมือนมีทรัพย์
ช่วยเคลื่อนขับ บุญกุศล ดลสู่หมาย
ชีวิตคน สั้นนิดเดียว เดี๋ยวก็ตาย
น่าเสียดาย ถ้าหากใคร ไม่สร้างบุญ....เฟื่องฟ้า

สวัสดีแม่หิ่งห้อยน้อย สวัสดีกัลยาณมิตรทุกท่าน


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต




อรกานุสาสนีสูตร
[๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่ออรกะ เป็น
เจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็อรกศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคน
เธอแสดงธรรมแก่สาวกอย่างนี้ว่า ดูกรพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย
นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา
ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี
ดูกรพราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้เร็ว
ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง
ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึง
ถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิด
แล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ

ดูกรพราหมณ์ เมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็ว ตั้งอยู่
ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้น
เหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้อง
ได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมา
แล้วจะไม่ตายไม่มี ฯ




ความเพลิดเพลิน

ทำไมฉัน จึงอยากได้ ไม่จบสิ้น
เห็นนกบิน ทีไร ให้ฉงน
นึกเปรียบนก ว่าเกิดมา ดีกว่าคน
ที่ท่องไป ในทุกหน บนฟ้าไกล

ฉันอยากได้ เงินเสริม เพิ่มตำแหน่ง
อยากได้รถ ราคาแพง แข่งเหนือใต้
ใครดีกว่า นึกอิจฉา ระอาใจ
เพราะอะไร ฉันจึงเป็น เช่นดั่งนี้

ความปรารถนา และความใคร่ ใครกำหนด
ทำอย่างไร จึงละลด หมดทุกที่
แม่หิ่งห้อย ตอบได้ไหม ทำไงดี
อยากวิ่งหนี แต่ไฉน ใยวิ่งตาม...เฟื่องฟ้า







ความปรารถนา และความใคร่ ใครกำหนด
ทำอย่างไร จึงละลด หมดทุกที่
แม่หิ่งห้อย ตอบได้ไหม ทำไงดี
อยากวิ่งหนี แต่ไฉน ใยวิ่งตาม...เฟื่องฟ้า


๐ ทั้งอยากได้ อยากมี และอยากเป็น
ชี้ให้เห็น มโนทุจริต ชิดทั้งสาม
อีกพอใจ รักใคร่ ในกลกาม
ตัณหาตาม เฝ้าสะกิด เข้าชิดใจ

๐ อภิชฌา อยากได้ ไม่สิ้นสุด
ไม่มีสิ่งใด มาสะดุด ให้หยุดได้
นิวรณ์ซ้ำ ให้จิต คิดฟุ้งไป
กิเสสเจริญ ทันใด ในใจพลัน

๐ ติดรูป เสียง สัมผัส รส และกลิ่น
จึงถวิล หวนไห้ ให้ใฝ่ฝัน
มานะล้น มลทินเข้า เคล้าชีวัน
ความสุขสันต์ ก็หมด รันทดใจ

๐ ความปรารถนา และความใคร่ ใจกำหนด
อยากจะลด ต้องเดินตาม มรรคาใส
แปดอริยะ มรรคา ของภูวไนย
น้อมมาใส่ ในหทัย ทุกเวลา

๐ เพราะตราบใด ยังกินข้าว ต้องหิวข้าว
เบียดเนื้อสาว ก็เพลินติด ชิดรสา
ทรงให้ออก จากกล กามนานา
ส่วนริษยา ใช้มุทิตา เข้าโรมรัน

๐ เพราะดวงตา เต็มไปด้วย ธุลีผง
ที่ยืนยง คงแนบชิด ปลิดหฤหรรษ์
มันงอกงาม มานาน หลายกัปกัลป์
เพราะทรงธรรม์ จึ่งชี้ลง ตรงอริยมัคค์





[๑๐๒๑] ปุริสมละ ๙ เป็นไฉน
ปุริสมละ ๙ คือ
๑. โกธะ..............ความโกรธ
๒. มักขะ.............ความลบหลู่คุณท่าน
๓. อิสสา.............ความริษยา
๔. มัจฉริยะ..........ความตระหนี่
๕. มายา.............ความเจ้าเล่ห์
๖. สาเถยยะ.........ความโอ้อวด
๗. มุสาวาท.........พูดเท็จ
๘. ปาปิจฉา..........ความปรารถนาลามก
๙. มิจฉาทิฏฐิ........ความเห็นผิด

เหล่านี้เรียกว่า ปุริสมละ ๙
(หรือ มลทิน ๙ )


จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒
วิภังคปกรณ์


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ







ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
                     ผู้ซึ่งไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง





ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ลาภสักการะ และชื่อเสียง
ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย
เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ
ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ












 เปิดอ่านหน้านี้  5739 

  แสดงความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย