ความสุขของชีวิต

 Mintra_52_69   23 ก.ย. 2553

มีก็ดีไม่มีก็ได้
คือ การมีสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตอยู่สะดวกสบายขึ้น ดีขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือมีก็ดีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกเวลาติดต่อสื่อสาร แต่ถ้าหากเราไม่มีเราก็ไม่ได้เสียอะไร ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ชีวิตเราก็ยังอยู่ได้ หรืออย่างเช่น รถยนต์ถ้ามีก็ดีไปไหนมาไหนสะดวก แต่หากเราไม่มีเราก็ขึ้นรถเมล์ได้ไม่จำเป็นต้องใช้อยู่ที่เราวางใจให้ทีความสุข

มีก็ได้ไม่มีก็ได้
เช่นเดียวกับข้างต้น หากเราวางใจว่ามีก็ได้ไม่มีก็ได้ ชีวิตเราก็มีความสุขไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาให้วุ่นวาย

มีก็ดีไม่มีก็ดี
มองในแง่ของประโยชน์หากเรามีก็เผ็นประโยชน์แก่เรา เช่น มีเงินมากเราก็สบาย แต่ถ้าเราไม่มีหรือมีน้อย ก็ให้มองว่าไม่มีก็ดี จะได้ไม่ต้องกังวลคิดมากว่าจะต้องรักษาไว้อย่างไรกลัวว่าจะมีคนมาแย่งมาขโมยของเราไปเราก็จะเครียด กลายเป็นความทุกข์ ดังนั้น ไม่มีก็ดี

มีก็ได้ไม่มีก็ดี
เช่นเดียวกัน หากเรามองว่ามีก็ได้ มันก็เป็นประโยชน์แก่เรา แต่ถ้าไม่มีก็ดี เช่น รถยนต์มีก็ได้เรามิได้เสียอะไรสะดวกสบายดี แต่ถ้าเราไม่มีก็ดีไม่ต้องเสียเงินเติมน้ำมัน เป็นต้น

สรุป
ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับการวางใจของเราถ้าเราพอใจในสิ่งที่มีอยู่และมีความสุขชีวิตของเราก็มีความสุขได้แล้ว    






ความสุขของชีวิตแบบเฟื่องฟ้า...

คิหิสุข ..

อันความสุข แบบคฤหัสถ์ ชัดแจ่มแจ้ง
มีสี่อย่าง จะแสดง แทงให้เห็น
สุขแบบนี้ ต้องสะสม บ่มบำเพ็ญ
พึงละเว้น จากความชั่ว กลั้วอบาย

หนึ่งมีทรัพย์ ด้วยขันแข็ง แรงหยาดเหงื่อ ( อัตถิสุข )
โดยไม่เบื่อ ไม่ระอา แม้ค้าขาย
ไม่เอาเปรียบ ด้วยวิธี ที่แยบคาย
ไม่แหนงหน่าย กับงานดี มีให้ทำ

ข้อที่สอง สุขด้วยการ เจือจานให้ ( โภคสุข )
ญาติผู้ใหญ่ ควรอุ้มชู เลี้ยงดูล้ำ
หมั่นทำบุญ เพื่ออุดหนุน ค้ำจุนธรรม
ใครระกำ ควรต้องช่วย ด้วยสมควร

ข้อที่สาม แสนสุขใจ ไม่มีหนี้(อนณสุข )
การกินอยู่ แต่พอดี สุขีล้วน
การเป็นหนี้ เหมือนกุ้งฝอย ลอยในอวน
จิตปั่นป่วน ความสุขใจ ย่อมไม่มี

ข้อที่สี่ ทำสิ่งใด ให้สุจริต ( อนวัชชสุข )
ทั้งความคิด การพูดจา อย่าป้ายสี
สิ่งใดชั่ว ไม่เกลือกกลั้ว มั่วราคี
ควรประพฤติ แต่กรรมดี มีศีลธรรม

นี่คือสุข ที่ควรสร้าง อย่างชาวบ้าน
แต่สุขนี้ ใช่ยาวนาน ชื่นบานล้ำ
ต้องสร้างบุญ หนุนบำเพ็ญ เป็นประจำ
จึงพ้นกรรม นำสุขี ที่ยั่งยืน...เฟื่องฟ้า


สุขของคฤหัสถ์ หรือ คิหิสุข หรือ กามโภคีสุข ๔ (สุขของชาวบ้าน, สุขที่ชาวบ้านควรพยายามเข้าถึงให้ได้สม่ำเสมอ, สุขอันชอบธรรมที่ผู้ครองเรือนควรมี )
๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงความขยันหมั่นเพียรของตน และโดยชอบธรรม)
๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์)
๓. อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร)
๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ ความภูมิใจ เอิบอิ่มใจ ว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ )

บรรดาสุข ๔ อย่างนี้ อนวัชชสุข มีค่าที่สุด...





RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย