กรรมกับการเผยแพร่ข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต



ปัจจุบัน มีการเขียน ,โพสต์( post ) , กระจายโดยการส่งต่อ ( forward ) ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ ,บทความ, ข่าวสารต่างๆ , รูปภาพนิ่ง หรือกระทั่ง ภาพเคลื่อนไหว ( video clip ) กันมากในโลกไซเบอร์หรือ อินเตอร์เน็ท ทุกวันนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก E-mail , Facebook, Twitter ,You Tube หรือแม้แต่ web page ต่างๆ ที่มีชื่อเสียง อาทิ พันธ์ทิพย์ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีดังกล่าวมีคุณอนันต์ ในขณะเดียวกันหากใช้ผิดวิธี ก็มีโทษมหันต์ เพราะเป็นช่องทางให้มนุษย์ยุคปัจจุบันทำกรรมดี ,กรรมชั่ว ครั้งละมากๆได้อย่างง่ายดาย ดังข่าวคราวต่างๆที่เราได้รับทราบทางทีวี,หนังสือพิมพ์ ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการหลอกลวง,การใส่ร้าย,โจมตี,ลงข้อความ หรือแพร่คลิปอันเป็นความจริงหรือเท็จที่มีผลทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย หรือ ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ,วิพากษ์วิจารณ์ด่าทอ ขณะเดียวกันผู้อ่านก็สามารถเขียนแสดงความคิดเห็น หรือกด like(ถูกใจ)และแสดงความเห็นด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการทั้งหมดได้ร่วมกันสร้าง กรรมหมู่ โดยไม่รู้ตัว



กรรม 3

การเขียน, โพสต์ หรือ การกระจายข่าวส่งต่อโดยการ forward เป็นการทำกรรม ครบถ้วนทั้ง 3 ทาง กล่าวคือ

1 เป็นมโนกรรม กรรมทางใจ เพราะก่อนเขียนหรือส่งต่อ หรือกด like ได้มีการคิดไตร่ตรอง หรือ มีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้นแล้ว ในกรณีเป็น อกุศลมโนกรรม เช่น โกรธ , ไม่พอใจ , สะใจ , สนุก ,หรือยินดี ,ยินร้ายกับเรื่องราว หรือกรณีเป็นกุศลมโนกรรม ก็ได้แก่ จิตเมตตา,กรุณา เป็นต้น

2 เป็นกายกรรม กรรมทางกาย คือใช้มือในการเขียนหรือส่งต่อ หรือกด like แสดงความเห็นด้วยหรือชื่นชอบ,สนับสนุน ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้กรรมเกิดขึ้นสมบูรณ์ตามความมุ่งหมายของมโนกรรม

3 เป็นวจีกรรม กรรมทางวาจา การเขียนให้คนอื่นอ่าน หรือการส่งต่อ ข่าวสารให้คนอื่นได้รับรู้ จัดเป็นวจีกรรม แม้จะมิได้พูดออกมาเป็นเสียงให้ได้ยินโดยตรง แต่คนอื่นก็ได้ยินในสิ่งที่เราคิด หรือคำพูดในใจเราผ่านตัวหนังสือ เช่นเดียวกับการเขียนจดหมาย


ความหนักเบาของกรรม

ความหนักเบาของกรรมที่เรากระทำด้วยการเขียน หรือส่งต่อ จะเป็นกรรมหนักเบาแค่ไหนขึ้นกับ

1 เจตนา หากผู้เขียน ,โพสต์,ส่งต่อ กระทำด้วยอกุศลเจตนาที่รุนแรง เช่นเต็มไปด้วย
โลภะ,โทสะ,โมหะ ที่รุนแรง กรรมย่อมหนัก เช่นเขียนด่าทอด้วยความโกรธที่รุนแรง,อาฆาต,พยาบาท หรือเจตนาส่งข้อความหรือรูปภาพ,หรือคลิปที่มีเจตนาที่จะทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย,อับอาย(แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริง) ด้วยแรงโทสะมาก, สะใจมาก กรรมก็ยิ่งหนัก ยิ่งถ้าเรื่องนั้นไม่เป็นความจริงหรือเป็นเรื่องเท็จ กรรมก็ยิ่งหนักขึ้นเพราะเป็นการผิดศีล ตรงกันข้ามหากกระทำการ เขียน,โพสต์,ส่งต่อ ที่มากด้วยด้วยกุศลเจตนา ,มากด้วยความเมตตา,กรุณา เช่น ต้องการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก อาทิตามหาคนสูญหาย , บริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้จำเป็นต้องใช้ฉุกเฉิน , ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเช่น การดูแลสุขภาพ,การระวังภัยต่างๆ ย่อมได้บุญมาก

2 ความพยายาม หากกระทำการเขียน,โพสต์,ส่งต่อ ด้วยการใช้ความพยายาม ใช้เวลา
ทำมาก , ทำบ่อยๆ บุญหรือบาปก็มากหรือหนักตามความพยายามในการกระทำ

3 บุคคลที่ได้รับผลกระทบ หากการเขียน,โพสต์ ,ส่งต่อ ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่มี
คุณต่อเราหรือต่อส่วนรวมมาก บุญหรือบาปย่อมหนักกว่ากระทำต่อบุคคลทั่วไป ผู้ที่มีคุณ
ต่อส่วนรวมหรือตัวเรามากได้แก่ พระพุทธเจ้า , พระอริยสงฆ์, พระมหากษัตริย์ , บิดา
มารดา , ผู้นำทางสังคม,ชุมชน,หรือองค์กร ซึ่งสร้างคุณประโยชนต่อผู้คนจำนวนมาก
อนึ่ง ปริมาณข่าวสารที่กระจายออกไปอาจไม่มีผลต่อความหนักเบาของกรรมโดยตรง แต่ย่อมส่งผลต่อปริมาณหรือจำนวนครั้งของวิบากกรรมที่ผู้เขียน,โพสต์,ส่งต่อ จะได้รับ เช่นการส่งข่าวสารที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย(ไม่ว่าเรื่องนั้นจะจริงหรือไม่จริง) หากกระจายไปสู่ สาธารณชนจำนวนมาก วิบากกรรมที่ผู้กระทำจะได้รับก็คือ จะถูกนินทาว่าร้าย(ไม่ว่าเรื่องจริงหรือไม่จริง) จากผู้คนจำนวนมากในอนาคตช่วงที่กรรมส่งผล

ยึดหลักปิยวาจา

ปิยวาจา เป็นหนึ่งใน สังคหวัตถุธรรม 4 ซึ่งเป็นธรรมที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งได้แก่ทาน(การให้),ปิยวาจา(พูดดี) ,อัตถจริยา (การทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นตลอดจนส่งเสริมจริยธรรม ) ,สมานัตตา (ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลายเหมาะแก่ฐานะ) การเขียน,โพสต์,ส่งต่อ ข้อความ,ข่าวสาร , ภาพหรือคลิป เกี่ยวข้องกับปิยวาจาโดยตรง หลักของปิยวาจาหรือการพูดดี มีอยู่ 5ประการคือ

1 พูดเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเท็จ
2 พูดด้วยคำไพเราะ ไม่ใช้คำหยาบ
3 พูดด้วยความเมตตา
4 พูดถูกกาละเทศะ
5 พูดเพื่อสานประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อให้แตกความสามัคคีหรือแตกกัน
จะเห็นว่าหลักปิยวาจา นอกจากที่จะต้องพูดความจริงแล้ว สิ่งที่พูดต้องไพเราะ,มีความเมตตา,ถูกกาลและสานประโยชน์ ดังนั้นการกระทำด้วยการเขียน,โพสต์,ส่งต่อ หากเรี่องนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ ใช้คำหยาบ , กระทำด้วยการขาดความเมตตา แต่ทำด้วยแรงพยาบาท, โกรธ, กระทำไม่ถูกกาลเทศะ หรือ กระทำให้แตกความสามัคคี ต่อส่วนรวม หรือ ทำให้คนแตกกัน ย่อมไม่จัดเป็นปิยวาจา ตรงกันข้ามกลับเป็นการสร้างอกุศกรรม หรือกรรมชั่วให้ติดตัวไปรับวิบากในอนาคต



ข้อแนะนำการเขียน,โพสต์,ส่งต่อ ในโลกอินเตอร์เน็ท

เนื่องจากการเขียน,โพสต์,ส่งต่อ ข้อมูล,ข่าวสาร,ภาพ,คลิป เป็นการกระทำกรรมที่มีผลกระทบต่อสังคมจำนวนมาก บางครั้งการเขียนหรือโพสต์ครั้งเดียว มีการส่งต่อหรือมีผู้รับข่าวสาร,อ่านข้อมูล,ดูคลิป เป็นพัน,หมื่น,แสนหรือล้านๆครั้ง ดังนั้นวิบากรรมก็จะกลับสู่ผู้กระทำในบริมาณที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสร้างบุญหรือบาปครั้งละมากๆ บางครั้งหนักหรือมากเกินกว่าที่ผู้กระทำจะคาดคิด ดังนั้นก่อนกระทำจึงควรใช้วิจารณญาณและคิดให่ถี่ถ้วนว่าจะเกิดผลดี,ผลเสียอย่างไรต่อผู้ได้รับผลกระทบหรือสังคมโดยรวม เพราะกรรมนั้นย่อมย้อนกลับมาสู่ผู้กระทำอย่างแน่นอนทั้งบุญและบาป เพียงแต่จะเร็วหนือช้าเท่านั้น เชื่อว่าวันหนึ่งๆเราทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ทมากมาย โดยเฉพาะอีเมล จึงขอให้คำแนะนำดังนี้คือ


1) ก่อนส่งต่อ ให้พิจารณาข่าวสารที่ได้รับก่อนว่า เรื่องนั้นจริงหรือไม่ ,น่าเชื่อถือหรือไม่, เป็นประโยชน์ต่อผู้รับหรือไม่ , สานประโยชน์หรือไม่ , มีผู้ได้รับผลกระทบในด้านเสียหรือไม่ หากคำตอบตือ “ ไม่แน่ใจ ” ข้อใดข้อหนึ่ง ไม่ควรส่งต่อ
2) ส่งต่อแต่เรื่องดีๆ เพื่อเป็นบุญหรือกุศลกรรมแก่ผู้ส่ง เช่น ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ เช่นประโยชน์ต่อการทำงาน,การดำเนินชีวิตและสุขภาพ,เรื่องคุณธรรม,จริยธรรม,ศาสนา ,หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม,ผู้ที่กำลังรอความช่วยเหลือ
3) อย่าส่งต่อแบบตะพืดตะพือ เอาสนุกเข้าว่าโดยไม่สนใจว่า ใครจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องไม่ดีของบุคคลสาธารณะที่เป็นที่สนใจของสังคม ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าหากเราถูกกระทำเช่นนั้นบ้างเราจะรู้สึกอย่างไร และระวังวิบากกรรมจะกลับสู่เราในอนาคต
4) อย่าส่งต่อ หรือ กด like เพราะตรงกับความรู้สึกของเราหรือตรงกับที่เราคิด โดยเฉพาะเรื่องการเมือง,ศาสนา, การขัดแย้งทางความคิดในสังคม,ชุมชน,องค์กร เพราะเรื่องความคิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ละคนตัดสินจากประสบการณ์, ข้อมูลที่ได้รับหรือที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งอาจไม่รอบด้าน , วิธีคิดและทัศนคติที่แต่ละคนสั่งสมมา อย่าลืมว่า ความคิดเป็นสมมุติบัญญัติ ไม่มีจริง เป็นมายา ฉะนั้นปล่อยวางเสียบ้าง มิฉะนั้นจิตจะสร้างกรรมไม่รู้จักจบสิ้น เป็นการผูกกรรมสืบต่อภพชาติ ยกตัวอย่างผู้ที่มีความคิดขัดแย้งทางการเมือง ทะเลาะกัน ฆ่ากัน เขาทะเลาะกันมาหลายยุคหลายสมัย,หลายภพชาติแล้ว หากยังไม่หยุด จิตจะผูกกรรมต่อเนื่องไปทะเลาะกันชาติหน้าต่อ ฉะนั้นหากเวลาได้รับข้อมูลประเภทนี้แล้วส่งต่อ ผู้ที่ส่งต่อข้อมูลก็เท่ากับเป็นผู้สนับสนุน ร่วมกันผูกกรรมกับเขากันต่อไป ลองคิดดูว่า เวลาเรารับข้อมูลความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา จิตใจเราตอนนั้นปลอดโปร่งโล่งเบาสบายมีความสุข หรือเต็มไปด้วยโทสะ,โมหะ,เครียดแค้นชิงชัง มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความทุกข์ใช่ไหม และเราก็รับวิบากทันทีคือเครียด , สุขภาพไม่ดีโรคภัยไข้เจ็บตามมา แล้วถ้าเรายังส่งต่อข้อมูลไปให้คนอื่นอีก ก็ยิ่งสร้างกรรมมากขึ้น ไปทำให้คนอื่นเครียดอีก ทุกข์อีก หากเราส่งต่อไปอีก ร้อยคน พันคน วิบากกรรมจะย้อนกลับมาหาเราขนาดไหน บางคนเป็นคนขี้โกรธ,เครียดง่าย อาจเป็นวิบากกรรมเก่าที่ทำให้คนอื่นโกรธ,เครียด วิบากจึงย้อนกลับมาหา ทำให้เป็นคนขี้โกรธ,เครียดง่าย และสิ่งที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บ หากใครที่มีปัญหาโรคภัยที่เกิดจากความเครียด (ซึ่งมีมากมาย) ลองปล่อยวางความคิด ลดอัตตาตัวตนลง โรคภัยไข้เจ็บอาจดีขึ้นอย่างคาดไม่ถึง แต่หากยังกระทำกรรมเช่นนี้ต่อ ก็ยิ่งสร้างกรรมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นกรรมหนักที่เรามองข้ามและนึกไม่ถึงจริงๆ

http://kuakiddeedee.blogspot.com/2011/09/blog-post_04.html
   

5,200







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย