วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุติกนิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2396
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2467


วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร

อุบลราชธานี


วัดสุปัฏนารามวรวิหาร หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดสุปัฏน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปัจจุบันมีท่านเจ้าคุณ พระวิบูลธรรมาภรณ์(ชาย ชาคโร )เป็นเจ้าอาวาส

ประวัติวัดสุปัฏนารามวรวิหาร อุบลราชธานี
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีและเป็นวัดแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลทางด้านทิศใต้ของตัวเมืองอุบลราชธานี มีพื้นที่ทั้งหมด 21 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา โดยในราว พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้นให้สร้างวัดถวาย เจ้าเมืองและคณะกรรมการเมืองอุบลราชธานี จึงได้เลือกพื้นที่ท่าน้ำที่มีคุ้งน้ำลึกริมฝั่งแม่น้ำมูลตั้งอยู่ระหว่างตัวเมืองอุบลและบ้านบุ่งกาแซวเป็นสถานที่สร้างวัดถวายพระองค์ เพราะสะดวกในการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ด้วยเป็นเขตน้ำลึกเข้าออกสะดวก โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นผู้อำนวยการสร้างวัด ได้มอบหมายให้หลวงสถิตนิมานกาล (ชวน) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และได้อาราธนาท่านพันฺธุโล (ดี) ปุราณสหธรรมิก และท่านเทวธัมฺมี (ม้าว) สิทธิวิทาริก มาครองวัด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ 10 ชั่ง (800 บาท) ให้มีผู้ปฏิบัติวัด 60 คน และพระราชทานนิตยภัตต์แก่เจ้าอาวาสเดือนละ 8 บาท วัดถูกสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2396 ทรงพระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนาราม และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.​2479

เจ้าอาวาสที่ครองวัดสืบต่อกันมาเริ่มตั้งแต่ ท่านพันธุโล (ดี) ท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระพรหมมุนี (อ้วน) และท่านมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส)

--------------------------------------------------------------------
ที่มา : http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo/?p=21   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระสัพพัญญูเจ้า •

{ ความสำคัญของท่าน้ำวัดสุปัฏนารามวรวิหาร}
1. ชื่อวัดสุปัฏนาราม เกิดจากคำ 3 คำ คือ สุ+ปัฏนะ+อาราม สุ แปลว่า ดี งาม ปัฏนะ แปลว่า ท่าน้ำ ท่าเรือ อาราม แปลว่า วัด สุปัฏนาราม จึงมีคำแปลว่า วัดที่มีท่าน้ำหรือท่าเรือที่ดีสะดวกในการขึ้นลงเรือ
2. ท่าน้ำวัดสุปัฏนาราม เมื่อครั้งแรกสร้างวัด เป็นที่ตั้งของอุทกุกเขปสีมา หรือเรียกว่าโบสถ์กลางน้ำ ซึ่งเป็นเขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังปานกลาง หมายถึง เขตชุมนุมทำสังฆกรรมที่กำหนดลงในแม่น้ำหรือทะเล ชาตสระ (ที่ขังน้ำเกิดเองตามธรรมชาติ เช่น บึง หนอง ทะเลสาบ) โดยพระภิกษุประชุมกันบนเรือหรือบนแพซึ่งผูกติดกับหลักในน้ำ หรือทอดสมออยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ห้ามผูกโยงเรือหรือแพนั้น กับหลักหรือต้นไม้ริมตลิ่ง และห้ามทำในเรือ หรือแพที่กำลังลอยหรือเดิน) พระภิกษุวัดสุปัฏนารามในสมัยนั้นทำสังฆกรรม เช่น อุปสมบท เป็นต้น ที่แพท่าน้ำวัดสุปัฏนารามนี้
3. ท่าน้ำวัดสุปัฏนาราม เป็นท่าลงเรือเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพมหานครของปูชนียบุคคลของเมืองอุบลราชธานี เช่น เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)
4. ปัจจุบันท่าน้ำวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นเขตอภัยทานของสัตว์น้ำนานาชนิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแม่น้ำมูลที่ เรียกว่า “วังมัจฉา” และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของพุทธศาสนิกชนชาวอุบลราชธานี   
{ พระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร }
ในสมัยสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เมื่อครั้งเป็นพระพรหมมุนี ได้ทำการรื้ออุโบสถหลังเก่าออก และสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น อุโบสถหลังนี้มีผู้เขียนแบบ คือ หลวงสถิตนิมานกาล (ชวน สุปิยพันธ์) ซึ่งเป็นนายช่างทางหลวงแผ่นดิน โดยร่วมกันวางแผนและเตรียมการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2460 ลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ. 2463 การก่อสร้างเป็นการก่ออิฐถือปูนโดยมีช่างญวนกับช่างจีนเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีขนาดความยาว 35 เมตร กว้าง 21 เมตร ลักษณะอุโบสถสร้างคล้ายทรงพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 (อิทธิพลจีน) ตัวอาคารมีชาลาหรือระเบียง เสานางจรัลหรือเสานางเรียงทรงสี่เหลี่ยมล้อมรอบอุโบสถ ระหว่างเสาก่ออิฐเป็นรูปโค้งเรือนแก้วแบบโกธิคของฝรั่งเศส ตัวอาคารไม่มีหน้าต่างแต่ทำเป็นประตูโดยรอบทั้งทางด้านหน้าและด้านข้าง หลังคาทรงจั่ว ชั้นเดียวมีพะไรหรือปีกนก 2 ข้างคลุมชาลา หน้าจั่วเรียบเต็มเสมอเสาด้านหน้าคล้ายโบสถ์อิทธิพลจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายไทยฝีมือช่างญวน ช่อฟ้ารวยลำยองทำเป็นรูปพญานาคแบบญวน เชิงบันไดทั้ง 4 ด้าน ปั้นเป็นรูปสิงโตหมอบยิ้มแบบญวนอยู่มุมละ 1 ตัว ซึ่งเป็นแบบที่พบตามวัดต่าง ๆ หลายแห่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่สร้างโดยช่างชาวญวน
พระอุโบสถของวัดสุปัฏนารามวรวิหารหลังนี้ จึงมีลักษณะผสมผสานกันทางสถาปัตยกรรม 3 ชาติ นั่นคือ หลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบชาวสยามหรือแบบไทย ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมทางยุโรปแบบเยอรมัน ส่วนฐานเป็นสถาปัตยกรรมขอม พระอุโบสถนี้สร้างเสร็จส่วนหยาบในปี พ.ศ. 2473 ติดดวงดาวเพดานในปี พ.ศ. 2478 และจัดงานฉลองผูกพัทธสีมา ในปี พ.ศ.​ 2479 ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 70 ล้านบาท พระประธานในพระอุโบสถ นามว่า “พระพุทธสัพพัญญูเจ้า”   
{ ช่องลม เพดาน และสิงโตหมอบที่หน้าพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร }

ประติมากรรมสิงโตหมอบที่อยู่เชิงบันไดด้านหน้าพระอุโบสถนั้นเป็นกุศโลบายของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สัตว์ป่าดุร้ายเมื่อเข้าถึงพระพุทธศาสนาก็สามารถทำให้เชื่องลงได้   
{ พระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระนาคปรกศิลาทราย และพระพุทธสิหิงค์จำลอง ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร }

ในปี พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก ได้เสด็จฯ มายังอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 หลังทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธสัพพัญญูเจ้าในพระอุโบสถแล้ว เสด็จออกมาทรงรับการบายศรีสมโภชซึ่งข้าราชการและประชาชนชาวอุบลราชธานีจัดถวายตามประเพณีของชาวอุบลราชธานี โดยประทับนั่งภายใต้พระมหาเศวตฉัตรบนระเบียงหน้าพระอุโบสถ   
{ พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง }

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้างหรือพระแก้วเพชรน้ำค้าง หรือพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกเนื้อใสไม่มีสี ปางมารวิชัย ทรงเครื่องทำด้วยทองคำ ฐานทำด้วยเงิน มีขนาดหน้าตักกว้าง 7 เซนติเมตร (ไม่รวมเครื่องทรง) องค์พระสูง 9.5 เซนติเมตร ความสูงตั้งแต่ฐานจนถึงพระเมาลี 19.5 เซนติเมตร พุทธศิลป์แบบศิลปะเชียงแสน ว่ากันว่าสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) ได้มาจากประเทศลาว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนบุษบกด้านขวาของบุษบกพระบรมสารีริกธาตุในหอศิลปวัฒนธรรม ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม-วันที่ 2 มกราคม ของทุกปี ทางวัดจะอัญเชิญพระแก้วเพชรน้ำค้างลงมาไว้ ณ พระอุโบสถ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่บูรพาจารย์สายธรรมยุติของเมืองอุบลที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้จนเป็นประเพณีสืบมา   
{ รูปหล่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ }
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่สำคัญของประเทศ และเป็นนักปราชญ์สำคัญของเมืองอุบลราชธานีด้วย บรรดาศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างรูปหล่อของท่านทั้งสองขึ้นเนื่องในวาระอายุครบ 7 รอบของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) ประดิษฐานไว้ในซุ้มภายในพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารด้านหน้าของพระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระประธาน

   
{ พิพิธภัณฑ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร }
วัดสุปัฏนารมวรวิหารเป็นวัดใหญ่และเก่าแก่ มีพระเถรานุเถระสำคัญเป็นผู้สร้างและครองวัดมายาวนาน จึงมีผู้ถวายสิ่งของอันมีค่าไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. 2520 จึงได้มีการสร้างหอพิพิธภัณฑ์ขึ้นหนึ่งหลัง เป็นอาคารสองชั้นด้วยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดเก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าทางศาสนา สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งกลุ่มได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป รูปหล่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ตู้พระไตรปิฎกและตู้ต่าง ๆ ธรรมาสน์ ตาลปัตร ใบเสมา ศิลาจารึก ทับหลัง เทวรูป เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องลายคราม เครื่องแก้วเจียรนัย เครื่องประดับสมณศักดิ์ และสิ่งของเครื่องใช้ของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จัดแสดงและจัดเก็บไว้ที่ต่าง ๆ คือ หอพิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม พระอุโบสถ และกุฏิศรีธัญรัตน์   
{ โปงไม้ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร }
โปง คือ ระฆังที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดเสียงดัง ทำด้วยไม้แคน สร้างโดยพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นันตโร) ปัจจุบันตั้งอยู่ชั้นล่างของหอระฆัง ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของหอศิลปวัฒนธรรมของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร   

- เจ้าอาวาส -
• พระวิบูลธรรมาภรณ์ (ชาย ชาคโร) •


 10,518


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย